แมลงดีๆ มีถมไป

    bee1

     

    แมลงดีๆ มีถมไป

     

    ผศ.ขยัน สุวรรณ 
    อาจารย์ประจำภาควิชาอารักขาพืช คณะผลิตกรรมการเกษตร 

    มนุษย์เราบางครั้งก็รวมถึงตัวผู้เขียนด้วยที่มักคิดและมอง”แมลง”ว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายน่าเบื่อหน่ายชิงชังและน่าขยะแขยงไม่ว่าจะเป็นการทำลายโดยการกัดกิน เจาะ ดูดกิน แทะเล็ม ชอนไช ส่วนต่าง ๆ ของพืชพันธ์ธัญญาหารที่มนุษย์สู้เพียรอุตส่าห์เพาะปลูก ทำให้เกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกทั้งยังเป็นพาหะนำโรคสำคัญ ๆ มากมายมาสู่พืชความเสียของพืชปลูกที่ถูกกัดกินโดยเฉพาะแมลงมีมากมายมหาศาล มนุษย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำจัดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมายโดยเฉพาะที่มีผลต่อสุขภาพ แมลงบางชนิดมีรูปร่างหน้าตาลวดลายสีสันที่น่าสะพรึงกลัว บางชนิดยังมีกลิ่นเหม็น เช่น พวกมวนลำไยที่ชาวบ้านเรียกว่า ”แมงแกง” ศัตรูของลำไยที่รู้จักกันดี8-kang
    โดยเฉพาะแมลงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์นั้น นับว่ามีความผูกพันเกี่ยวเนื่องกันมานานตั้งแต่ก่อนยุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วยช้ำไป คือเริ่มตั้งแต่มนุษย์กับแมลงพวก หมัด เหา ต่อมามีบันทึกว่า พระเจ้าเมเนส ในอียิปต์ สิ้นพระชนม์อย่างน่าอนาถ จากการถูกตัวต่อต่อยเมื่อ 2621 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากแมลงจะทำอันตรายมนุษย์โดยตรงเช่น เกิดอาการคัน และอาการแพ้ที่เกิดจากการกัดต่อยโดยแมลงพวก มด ผึ้ง ต่อ แตน แมลงบางชนิดยังใช้ปากกัด หรือใช้อวัยวะสำหรับต่อยทิ่มแทง บางชนิดจะมีการปล่อยน้ำลายหรือสารพิษออกมา ทำให้เกิดอาการแพ้ ปวดแสบปวดร้อนมีอาการบวม อย่างเช่น “ ด้วงก้นกระดก ” ตามจริงแล้วแมลงชนิดนี้ไม่ได้กัดต่อย แต่ภายในตัวของมันมีสารพิษ เมื่อเราไปกดบี้ทำให้ตัวแมลงแตกสารพิษในตัวแมลงจะออกมาสัมผัสกับผิวหนังทำให้เกิดอาการ คัน เจ็บปวด แมลงชนิดนี้มักพบระบาดในช่วงฤดูฝน โดยตัวเต็มวัยจะบินมาเล่นไฟในอาคาร บ้านเรือนที่อยู่อาศัย บินมาเกาะตามร่างกาย ตามหน้าตา เมื่อเราตกใจหรือรำคาญ ก็จะใช้มือปัด ก็จะทำให้ตัวแมลงแตกสารพิษจึงถูกปล่อยออกมา บางคนแพ้มากผิวหนังเกิดการอักเสบพุพองอย่างรุนแรง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของด้วงก้นกระดกกลับเป็นแมลงตัวห้ำทำลายแมลงที่อาศัยอยู่ในดิน เวลากลางคืนในช่วงที่มีฝนใหม่ๆ ของปี พวกเราจะพบแมลงปากเจาะดูดประเภทเพลี้ยจักจั่นมีสีเขียวบินมาเล่นไฟเป็นเรือนแสนเรือนล้านสร้างความรำคาญให้กับผู้คน แมลงอีกชนิดหนึ่งที่เราจะพบในบ้านเรือนตามห้องต่าง ๆ โดยเฉพาะในห้องนอนโดยเราจะพบปลอกขนาดเล็ก ๆ สีน้ำตาลเป็นรูปกระสวยติดอยู่ตามผนังเพดาน แมลงชนิดนี้มีชื่อว่า wall bagworm หรือหนอนปลอกผนัง หนอนตัวนี้จะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การกินอาหาร การขับถ่าย การการลอกคราบ และการเข้าดักแด้เกิดขึ้นภายในปลอกที่หุ้มลำตัวนี้ อาหารของมันคือเส้นผมของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงที่ร่วงหล่นตามพื้นจัดว่าเป็นแมลงที่สร้างความรำคาญให้ผู้คนอยู่ไม่น้อย

    1-ant   2-been

    มดแดง : มดตัวห้ำ (predatory ants)
    ความรู้เก่าแก่ที่สุดตัวหนึ่งในการดำเนินงานทางการควบคุมโดยชีววิธี

     

    แมลงเบียน  :  หนอนแมลงศัตรูพืชถูกแมลงเบียนดูดกินอาหาร
     ในลำตัวอยู่ในสภาพอ่อนแอ และตายในที่สุดเมื่อตัวเบียนออกมาเข้าดักแด้ภายนอก

    แมลงวันบ้านเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง มีชุกชุมมากในบ้านเราด้วยมีปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ที่
    เหมาะสมจึงทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับ ทางเดินอาหาร ท้องร่วง อหิวาตกโรค โปลิโอ ไทยฟอยด์ และโรคอื่น ๆ อีกมาก โดยมีแมลงชนิดนี้เป็นพาหะนำโรค ยุงก็ใช่ย่อย แค่บินอยู่ข้างหูก็ทำให้เรานอนไม่หลับหงุดหงิดน่ารำคาญมีผลทำให้อ่อนเพลียสุขภาพเสื่อมโทรมซ้ำร้ายเป็นพาหะนำโรคร้ายสู่มนุษย์เช่น มาลาเลีย โรคเท้าช้าง ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบเป็นต้น ว่ากันว่าเฉพาะยุงก้นปล่องเพียงชนิดเดียว ก็ทำให้มนุษย์ล้มป่วยด้วยโรคมาลาเรียราว 120 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้เสียชีวิตราว 1-2 ล้านคน แมลงสาบก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของแมลงที่อยู่ในภาพลบของมนุษย์ แมลงหลายชนิดนอกจากน่ารำคาญแล้วยังกัดต่อยมนุษย์ ทำให้เจ็บปวดจนถึงต้องอำลาจากโลกนี้ไป เช่นต่อหัวเสือ ความจริงจะว่าไปแล้วต่อตัวนี้มันก็ยังไปจับกินแมลงศัตรูพืชเหมือนกัน แมลงบางชนิดอาจไม่ได้กัดต่อยแต่มีสารพิษถ้ากินเข้าไปถึงตาย คือเจ้าด้วงน้ำมัน (Mylabris phalerata) เป็นแมลงศัตรูทำลายพวกพืชตระกูลถั่ว อย่างไรเสียตัวอ่อนของแมลงชนิดนี้ก็ยังเป็นประโยชน์ในฐานะที่เป็นตัวห้ำแมลงบางชนิดยังเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในต่างประเทศ เช่น แทนซาเซีย แมลงวันเซทซี่ (Tsetse Flies) เป็นตัวนำโรคเหงาหลับ (Sleeping Sickness) ในสัตว์และปศุสัตว์ จนต้องใช้วิธีการกำจัดโดยเทคนิคการทำหมัน (SIT) จะว่าไปแล้วในกรณีของแมลงที่นำโรคร้ายต่างๆ มาสู่มนุษย์หรือเข้าทำลายโดยตรงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้มนุษย์เราก็สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่น การทำมุ้งลวด การรักษาความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัย หรือการไม่สัมผัสกับผู้ป่วย หรืออาจโดยการฉีดวัคซีน (บางโรค) อย่างสุดท้ายที่สุดก็คือ กำจัดโดยวิธีใดก็ตามแต่ ถ้าจะถามว่าเจ้าแมลงทั้งหลายทีเป็นศัตรูนั้นมีความสำคัญในด้านสุขภาพมนุษย์ กับทำลายพืชปลูก อันไหนมากกว่ากัน? ในฐานะที่ผู้เขียนศึกษา ทำงานทางด้านแมลงที่เกี่ยวกับการเป็นศัตรูพืช ก็คิดว่าการทำลายพืชน่าจะหนักหนาสาหัสกว่ากระมัง หากแต่วิเคราะห์กันให้ดีแล้วเราจะพบว่าแมลงที่ให้โทษดังกล่าวมานั้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวของแมลงทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้ ซึ่งจัดว่าเป็นสัตว์ที่มีจำนวน ชนิด และปริมาณที่มากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นเพียง ร้อยละ 0.1 เท่านั้นเอง ดังนั้นอีก ร้อยละ 99.9 จึงเป็นแมลงที่มีประโยชน์ และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นแมลงที่ไม่ให้คุณไม่ให้โทษแต่อย่างใด ซึ่งโดยปกติแล้วประเทศไทยเราจะมีความหลากหลายของแมลงที่มีประโยชน์เหล่านี้อยู่มากทีเดียว เนื่องจากเป็นประเทศเขตร้อนชื้น

    3-mai   4-ins

    ไหม: แมลงสารพัดประโยชน์

     

    แมลงผสมเกสร : เพื่อนที่แสนดีของเกษตรกร

    แมลงที่เป็นศัตรูธรรมชาติ หรือที่เราคุ้นหูว่าแมลงตัวห้ำ และแมลงตัวเบียนในธรรมชาติจะมีแมลงเหล่านี้ทำหน้าที่คอยควบคุมแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในระดับสมดุลย์ แมลงที่กินแมลงด้วยกันเอง 

    จัดว่ามีบทบาทในเรื่องนี้เป็นอย่างมากซึ่งนอกจากมันจะดำเนินการของมันเองในธรรมชาติอยู่แล้วก็ตาม ปัจจุบันมนุษย์ก็ได้ให้ความสำคัญโดยได้มีการนำแมลงเหล่านี้มาเพาะเลี้ยงขยาย เพิ่มปริมาณแล้วจึงนำไปปล่อยในธรรมชาติ ที่เราเรียกกันติดปากว่า การควบคุมแมลงโดยชีววิธี นั่นเอง ตัวอย่างแมลงตัวห้ำ (predatory) เช่นตั๊กแตนตำข้าว แมลงปอ แมลงช้าง ด้วงเต่า มวนเพชฌฆาต มวนพิฆาต แมลงวันดอกไม้ แมลงหางหนีบ เพลี้ยไฟตัวห้ำ ต่อหลายชนิด เป็นต้น แมลงตัวห้ำส่วนใหญ่กินเหยื่อหลายชนิดมีความเฉพาะเจาะจงน้อย และจะมีประสิทธิภาพต่ำเมื่อมีเหยื่อน้อย สำหรับแมลงตัวเบียน (parasitoids) จะเข้าทำลายทำให้แมลงที่เป็นแมลงอาศัย (host) (แมลงศัตรูพืช) ตายในที่สุดซึ่งค่อนข้างจะมีความเฉพาะเจาะจงกับเหยื่อ ซึ่งจัดว่าเป็นข้อดี ส่วนมากแมลงตัวเบียนจะเป็นแมลงที่อยู่ในกลุ่มของพวก ต่อ แตน และแมลงวันบางชนิด ซึ่งมีมากกว่า 3 แสนชนิด มีตัวอย่างมากมายของแมลงตัวเบียน เช่น แตนเบียนไข่ทริโดแกรมม่า (Trichogramma spp) ใช้ควบคุมไข่หนอนกออ้อย แตนเบียนโคทีเซีย (Cotesia flavipes) ควบคุมหนอน กออ้อย แตนเบียน Maeromalon orientae ควบคุมหนอนไยผัก และแตนเบียน Aphidius spp ควบคุมเพลี้ยอ่อนโดยแมลงตัวเบียนส่วนมากจะวางไข่ภายในตัวแมลงอาศัย (host) ตัวเต็มวัยส่วนใหญ่หากินอิสระเสาะแสวงหาศัตรูพืชโดยใช้สารเคมีจากตัวแมลงศัตรูพืชหรือจากสารเคมีที่พืชสร้างขึ้นมาเมื่อถูกแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายในการนำทาง บางชนิดมีการปล่อยสารพิษทำให้แมลงศัตรูพืชเป็นอัมพาต โดยทั่วไประยะตัวอ่อนจะค่อย ๆ ดูดกินอาหารจากลำตัวแมลงศัตรูพืชทำให้ยังมีชีวิตอยู่และอยู่ในสภาพอ่อนแอ และตายในที่สุดอาจจะเข้าดักแด้ภายในตัวอาศัยหรือออกมาข้างนอก

    ประโยชน์ของแมลงที่เรา ๆ พอจะทราบกันดีก็คือแมลงที่ช่วยผสมเกสรคนส่วนมากก็จะคิดถึง “ผึ้ง” หากแต่ความจริงแล้วยังมีแมลงอีกเป็นจำนวนมากที่มีบทบาทในด้านนี้กล่าวกันว่ามีแมลงต่าง ๆ ในโลกที่ช่วยผสมเกสรดอกไม้ประมาณถึง 30,000 ชนิด อาทิเช่น ต่อ แตนมด แมลงวันต่าง ๆ เช่น แมลงวันผึ้ง แมลงวันหัวเขียว แมลงวันบ้าน เป็นต้น แมลงพวกด้วงปีกแข็ง เช่น ด้วงงวง แมลงนูน ด้วงถั่ว เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้แก่แมลงพวกที่อยู่ในอันดับเฮมินเทร่า คือพวกมวนและเพลี้ยต่าง ๆ ตลอดจนแมลงพวกผีเสื้อ ทั้งผีเสื้อกลางวัน และผีเสื้อกลางคืน ชนิดต่าง ๆ อย่าลืมว่ามากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของต้นไม้ทั้งหมดต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตอื่นในการผสมเกสร โดยเฉพาะแมลงนั้นนับว่ามีบทบาทมากที่สุดเพราะแมลงเหล่านี้จะอาศัยโปรตีนและน้ำหวานจากเกสรดอกไม้เป็นอาหารที่ให้พลังงาน “ผึ้ง” จัดเป็นแมลงผสมเกสรที่มีบทบาทสำคัญมาก นอกจากผึ้งชนิดต่างๆ ที่ให้น้ำหวาน ที่เรารู้จักกันดีแล้วยังมีชนิดอื่น ๆ เช่น ผึ้งชันโรง ผึ้งกัดใบ ผึ้งบอมบัส ผึ้งป่า และแมลงภู่เป็นต้น

    © 2017 Your Company. All Rights Reserved. Designed By agethemes.com.com
    Free Joomla! templates by AgeThemes