แม่โจ้โพลล์ผู้ปลูกยางพารา ร้อยละ 91.5 วิตกกังวลต่อการแข่งขันกับต่างประเทศ
แม่โจ้โพลล์ผู้ปลูกยางพารา ร้อยละ 91.5 วิตกกังวลต่อการแข่งขันกับต่างประเทศเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ส่วนร้อยละ 44.2 ยังไม่ทราบว่าจะมีการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ปัจจุบันมีการปลูกทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ แต่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการผลิตที่ถูกต้อง ซึ่งอาจมีผลต่อการแข่งขันด้านคุณภาพกับต่างประเทศ เมื่อประเทศไทยต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ดังนั้น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร โดยแม่โจ้โพลล์ จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทั่วประเทศ จำนวน 1,577 ราย ต่อความคิดเห็นเรื่อง “ทิศทางยางพาราไทย กับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและความต้องการในการพัฒนาการผลิตและการตลาดยางพาราไทย ระหว่างวันที่ 16 ก.ค.-10 ส.ค. 2555 สรุปผลดังนี้
เมื่อสอบถามเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นั้น พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.8 ทราบว่าจะมีการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และร้อยละ 44.2 ยังไม่ทราบว่าจะมีการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ด้านความคิดเห็นต่อราคายางพารา เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบว่า ร้อยละ 47.2 เห็นว่าราคายางพาราน่าจะสูงขึ้น ร้อยละ 28.5 เห็นว่าราคายางพาราน่าจะคงที่ และร้อยละ 24.3 เห็นว่าราคายางพาราน่าจะมีแนวโน้มลดลง
ด้านการสอบถามถึงการแข่งขันกับต่างประเทศ เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.5 มีความวิตกกังวลต่อการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยวิตกกังวลในเรื่องดังต่อไปนี้ อันดับที่ 1 ร้อยละ 68.1 วิตกกังวลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนการปลูกและการผลิตยางพาราภายในประเทศ อันดับที่ 2 ร้อยละ 50.2 วิตกกังวลต่อผลผลิตยางต่างประเทศที่จะเข้ามาตีตลาดในประเทศ อันดับที่ 3 ร้อยละ 37.3 วิตกกังวลต่อแรงงานที่มีทักษะในการกรีดยางมีค่าแรงที่สูงขึ้น อันดับที่ 4 ร้อยละ 28.6 วิตกกังวลที่โรงงานแปรรูปยางที่มีมาตรฐานในพื้นที่มีน้อย อันดับที่ 5 ร้อยละ 23.1 วิตกกังวลต่อระบบโลจิสติกส์ (การขนส่ง) ที่ไม่มีประสิทธิภาพ และอันดับที่ 6 ร้อยละ 21.0 วิตกกังวลต่อการซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้า
ส่วนการไม่มีความวิตกกังวลต่อการแข่งขันกับต่างประเทศ ร้อยละ 8.5 โดยให้เห็นผลว่า 1) เป็นโอกาสดีในการขยายตลาดรับซื้อยางพารา 2) เป็นโอกาสดีในการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันทำให้การผลิตยางมีคุณภาพมากขึ้น 3) เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทางภาครัฐให้ความสำคัญและช่วยเหลือสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และ 4) ยางพาราเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้าได้หลายชนิด
และเมื่อสอบถามถึงความมั่นใจต่ออาชีพปลูกยางพาราว่าจะยังเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักของครอบครัว เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.1 มีความมั่นใจว่าอาชีพปลูกยางพารา จะยังเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักของครอบครัว โดยให้เหตุผลว่า เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนาน (ร้อยละ 31.0) การรวมกลุ่มสามารถเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับประเทศคู่ค้าได้ (ร้อยละ 21.0) เป็นโอกาสดีในการขยายตลาดรับซื้อยางพารา (ร้อยละ 20.0) ในขณะที่ร้อยละ 34.9 ไม่มีความมั่นใจ โดยให้เหตุผลว่า ต่างประเทศมีการส่งเสริมการปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น ทำให้ไทยอาจเสียส่วนแบ่งทางการตลาดได้ (ร้อยละ 34.8) นโยบายส่งเสริมยางพาราไม่มีความต่อเนื่องและการจัดการนโยบายของภาครัฐขาดประสิทธิภาพ (ร้อยละ 33.0)
ด้านความต้องการให้ทางภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นั้น อันดับที่ 1 ร้อยละ 71.1 ต้องการให้มีการประกันราคาผลผลิตยางพารา อันดับที่ 2 ร้อยละ 55.0 ต้องการให้มีการพัฒนาด้านการตลาดเพื่อรองรับผลผลิตยางที่เพิ่มขึ้น อันดับที่ 3 ร้อยละ 54.6 ควรพัฒนาสายพันธุ์ยางพาราที่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของตลาด อันดับที่ 4 ร้อยละ 50.7 ควรมีการควบคุมราคาปัจจัยการผลิตต่างๆไม่ให้สูงเกินไป อันดับที่ 5 ร้อยละ 49.0 ควรมีการสนับสนุนแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำแก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา
จากผลสำรวจขั้นต้นสะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ได้มีการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า ยางพาราน่าจะได้รับราคาราคาขายสูงขึ้นและมีเสถียรภาพของราคาดีขึ้น แต่ยังคงมีความวิตกกังวลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐ ผลผลิตยางพาราต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในไทย รวมทั้งแรงงานที่มีทักษะในการกรีดยางที่อาจมีค่าแรงที่สูงขึ้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการในการรองรับปัญหาต่างๆ ทั้งเร่งให้ความรู้ด้านการผลิต การตลาด ภายในภายนอกประเทศ เพื่อให้แก่เกษตรกรมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมาถึงในปี 2558 ได้อย่างมั่นคง
ที่มา: ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ
ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9 ในวันและเวลาราชการ