น้ำส้มควันไม้
น้ำส้มควันไม้ หรือ น้ำวู้ดเวเนการ์ (Wood vinegar)
น้ำส้มควันไม้เป็นของเหลวสีน้ำตาลใสมีกลิ่นควันไฟ ได้มาจากการควบแน่นของควันที่เกิดจากการผลิตถ่านไม้ในช่วงที่ไม้กำลังเปลี่ยนเป็นถ่าน ในช่วงที่อุณหภูมิในเตาอยู่ระหว่าง 300-400 องศาเซลเซียส สารประกอบต่าง ๆ ในไม้ฟืนจะถูกสลายตัวด้วยความร้อนเกิดเป็นสารประกอบใหม่มากมาย แต่ถ้าเก็บควันในช่วงอุณหภูมิต่ำกว่า 300 องศาเซลเซียส จะมีสารประกอบที่เป็นประโยชน์น้อยมากไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และถ้าเก็บควันในช่วงอุณหภูมิเกิน 425 องศาเซลเซียส น้ำมันดินจะสลายตัวเป็นสารก่อมะเร็ง สารดังกล่าวจะสามารถกำจัดออกไปได้ง่ายเมื่อนำมากลั่นซ้ำที่อุณหภูมิ 60-70 องศาเซลเซียส
น้ำส้มควันไม้ที่ได้ยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที เนื่องจากการเปลี่ยนจากไม้เป็นถ่านไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งเตา ดังนั้น ควันที่เกิดขึ้นจึงเป็นควันที่ผสมกันระหว่างควันอุณหภูมิต่ำและสูง ดังนั้นจะมีน้ำมันดิน (ทาร์ : Tar) และสารระเหยง่าย (โวลาไทล์ : Volatile matter) ปนออกมาด้วยน้ำมันดินที่ละลายน้ำไม่ได้จะนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรไม่ได้เพราะจะไปปิดปากใบของพืช และเกาะติดรากพืช ซึ่งจะทำให้พืชเติบโตช้าหรือตายได้
การทำให้น้ำส้มควันไม้บริสุทธิ์ สามารถทำได้ 3 วิธี
1. ปล่อยให้ตกตะกอน โดยนำน้ำส้มควันไม้มาเก็บไว้ในถังทรงสูงที่มีความสูงมากกว่าความกว้างของฐานประมาณ 3 เท่า โดยทิ้งให้ตกตะกอนประมาณ 90 วัน น้ำส้มควันไม้จะแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ชั้นบนสุดจะเป็นน้ำมันใส ชั้นกลางเป็นของเหลวใสสีชา คือน้ำส้มควันไม้ และชั้นล่างสุดจะเป็นของเหลวสีดำข้น คือ น้ำมันดิน หากนำผงถ่านมาผสม 5 % โดยน้ำหนัก ผงถ่านจะดูดซับทั้งน้ำมันใส และน้ำมันดินที่แขวนลอยอยู่ให้ตกตะกอนสู่ชั้นล่างสุดในเวลาที่เร็วขึ้น เพียงประมาณ 45 วันเท่านั้น
ถังเก็บน้ำส้มควันไม้ควรมีวาล์วก๊อกน้ำอยู่ 3 วาล์ว
* วาล์วที่อยู่ระดับบนสุดของระดับน้ำส้มควันไม้ที่บรรจุอยู่ในถังมีไว้สำหรับแยกน้ำมันที่ลอยอยู่ข้างบนของน้ำส้มควันไม้
* วาล์วที่อยู่ระดับกลางมีไว้สำหรับเก็บน้ำส้มควันไม้ มีไว้สำหรับเปิดเอาน้ำส้มควันไม้ที่น้ำมันดินแยกออกมาแล้ว เอาไว้ใช้งาน
* วาล์วที่อยู่ก้นถังระดับล่างสุดมีไว้สำหรับถ่ายน้ำมันดิน (ทาร์) ที่ตกตะกอนออก
แผนภาพแสดงถังเก็บแยกน้ำส้มควันไม้
หลังจากตกตะกอนจนครบกำหนดแล้ว นำน้ำส้มควันไม้มากรองอีกครั้งด้วยผ้ากรองแล้วจึงนำไปใช้ประโยชน์ได้
2. การกรอง โดยใช้ผ้ากรองหรือถังกรองที่ใช้ผงถ่านกัมมันต์ ซึ่งจะได้คุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป เพราะถ่านกัมมันต์จะลดความเป็นกรดของน้ำส้มควันไม้ และจะใช้วิธีนี้เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม
3. การกลั่น โดยกลั่นได้ทั้งในความดันบรรยากาศ และกลั่นแบบลดความดันรวมทั้งกลั่นแบบลำดับส่วนเพื่อแยกเฉพาะสารหนึ่งสารใดในน้ำส้มควันไม้มาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยา
คุณสมบัติน้ำส้มควันไม้
น้ำส้มควันไม้แตกต่างจากน้ำส้มสายชู หรือน้ำส้มอื่น ๆ ที่ได้จากการหมัก หรือสังเคราะห์อื่น ๆ คือมีสารประกอบหลากหลายกว่า โดยเฉพาะฟีนอล (PHENOL) ซึ่งได้จากการสลายตัวของลิกนิน (LIGNIN)
น้ำส้มควันไม้ที่ได้จากไม้ต่างชนิดก็จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันด้วย เช่น น้ำส้มควันไม้ที่ได้จากไม้ยูคาลิปตัส จะมีความเป็นกรดต่ำและมีสีใสแต่มีเมธานอล (METHANOL) สูงกว่า ไม้กระถินยักษ์หรือไม้สะเดา
น้ำส้มควันไม้มีสารประกอบต่าง ๆ มากกว่า 200 ชนิด ซึ่งได้จากกรสลายตัวของไม้ด้วยความร้อนเกิดเป็นสารประกอบใหม่หลายชนิด เช่น กรดอินทรีย์และแอลกอฮอล์ชนิดต่าง ๆ ได้จากการสลายตัวของเฮมิเซลลูโลส และเซลลูโลส ส่วนฟีนอลได้จากการสลายตัวของลิกนิน
น้ำส้มควันไม้มีสารประกอบที่สำคัญได้แก่น้ำ ประมาณ 85% กรดอินทรีย์ ประมาณ 3% และสารอินทรีย์อื่น ๆ อีกประมาณ 12% มีค่าความเป็นกรด (pH) ประมาณ 3 ความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.012 – 1.024 แตกต่างกันไปตามชนิดของไม้
การใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้
อุตสาหกรรม
- ใช้ผลิตสารดับกลิ่นตัว โดยเฉพาะในญี่ปุ่นมีการนำน้ำส้มควันไม้มาผลิตสารดับกลิ่นตัวมากกว่า ปีละ 1 ล้านลิตร
- ใช้ผลิตสารปรับผิวนุ่ม ทั้งใช้โดยตรงโดยทางผิวหนัง หรือผสมน้ำอาบ
ใช้ในครัวเรือน น้ำส้มควันไม้จัดได้ว่าเป็นน้ำส้มสารพัดประโยชน์ ที่เหมาะสมจะมีไว้ติดบ้านสามารถทดแทนการใช้สารเคมีได้ดังนี้
- ผสมน้ำ 20 เท่า ราดทำลายปลวกและมด
- ผสมน้ำ 50 เท่า ป้องกันปลวก มด และสัตว์ต่าง ๆ เช่น ตะขาบ ตะเข็บ แมงป่อง กิ่งกือ
- ผสมน้ำ 100 เท่า ราดโคนต้นไม้รักษาโรครา และโรคเน่า รวมทั้งป้องกันแมลงไม่ให้วางไข่ฉีดพ่นถังขยะเพื่อป้องกันกลิ่นและแมลงวันใช้ดับกลิ่นในห้องน้ำ ห้องครัว และบริเวณชื้นแฉะใช้ดับกลิ่น
กรงสัตว์เลี้ยง ใช้หมักขยะสดและเศษอาหารเป็นปุ๋ยสำหรับไม้ประดับรอบบ้าน โดยต้องผสมน้ำอีก 5 เท่า หลังจากหมักแล้ว 1 เดือน
ใช้ในการเกษตร น้ำส้มควันไม้ที่มีความเข้มข้นสูง มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อที่รุนแรง เนื่องจากมีความเป็นกรดสูง และมีสารประกอบ เช่น เมรานอล และฟีนอล ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อได้เมื่อเจือจาง 200 เท่า
จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย (ANTIBACTERIAL MICROBE) จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น เนื่องจากได้รับสารอาหารจากกรดน้ำส้ม (ACITIC ACID) น้ำส้มควันไม้จึงสามารถนำมาใช้ในการเกษตรได้ดี เช่น
- ใช้ผสมน้ำ 20 เท่าพ่นลงดิน เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และแมลงในดิน เช่น โรคเน่าและจากแบคทีเรียโรคโคนเน่าจากเชื้อราไส้เดือนฝอย ฯลฯ ประสิทธิภาพของน้ำส้มควันไม้ที่ความเข้มข้นจะเทียบเท่าการอบฆ่าเชื้อด้วยการรมควัน (FUMIGATION) ควรทำก่อนการเพาะปลูก 10 วัน เพราะน้ำส้มควันไม้ ที่รดลงดินจะไปทำปฏิกิริยากับสารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง เกิดคาร์บอนโมโนออกไซด์ (CO) ซึ่งเป็นพิษต่อพืช แต่เมื่อก๊าซคาร์บอนโมโนออกไซด์ที่ปฏิกิริยากับออกซิเจนเปลี่ยนเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แล้วจึงจะสามารถปลูกพืชได้ รวมทั้งพืชจะได้รับประโยชน์จาก CO2 ด้วย
- ใช้ผสมน้ำ 50 เท่า พ่นลงดิน เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เข้าทำลายพืชแล้ว หากใช้ความเข้มข้นมากกว่านี้ รากพืชอาจได้รับอันตรายได้
- ใช้ผสมน้ำ 200 เท่า ความเข้มข้นระดับนี้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย
- ใช้ฉีดพ่นที่ใบพืช รวมทั้งพื้นดินรอบต้นพืชทุก ๆ 7-15 วัน เพื่อขับไล่แมลง ป้องกันและกำจัดเชื้อราและกระตุ้นความต้านทานและการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากความเข้มระดับนี้สามารถทำลาย ใช้แมลงและฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นโทษต่อพืช เช่น บาซิลไล (BACILLI) ที่ไม่มีสปอร์ (SPORE) รวมทั้งเชื้อไซโฟมัยซีส (SYPHOMYCETE) ซึ่งอ่อนแอในสภาวะที่เป็นกรดจะถูกทำลายลงก่อน หลังจากนั้นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เช่น แอคติโนมัยซิส (ACTINOMYCES) และไตรคอเดอมา (TRICHODEMA) จะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เหล่านี้จะทำลายโดยการเป็นตัวเบียน (PARASITIC) ของจุลินทรีย์ที่เป็นโทษต่อพืช เช่น CORTICIUM ROLFSIL CURZI, RHIZOCLONIA, PYTHIUM. SCLEROTIAN
แต่ในพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีอย่างหนักและยาวนาน อาจจะไม่เหลือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อยู่เลยต้องใช้ปุ๋ยหมักเข้าช่วยด้วย และหากได้ใส่ถ่านลงไปด้วยก็จะมีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างมากอีกด้วย
ในขณะเดียวกันสารประกอบอะซีทิล โคเอนไซม์ (ACYTYL COENZYME) ซึ่งสร้างขึ้นโดยพืชและจุลินทรีย์ที่ได้รับสารอาหารจากกรดน้ำส้ม ก็จะเปลี่ยนเป็นสารประกอบต่าง ๆ มากมาย กระตุ้นให้พืชเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
เมื่อใบพืชถูกกระตุ้นด้วยกรดอินทรีย์อ่อน ๆ ชั่วคราว จะกระตุ้นความด้านทานต่อโรค รวมทั้งทำให้ใบหนา แข็ง และเขียวเป็นมัน เพิ่มปริมาณคลอโลฟิลด์ทำให้ปรุงอาหารได้ดีขึ้น พืชจะแข็งแรงและเติบโตเร็ว รวมทั้งแก้ปัญหาการสังเคราะห์แสงที่ไม่ดีพอ เนื่องจากขาดแสงในบางฤดู แต่ห้ามใช้อัตราส่วนเข้มข้นกว่านี้ฉีดพ่นใบพืช จะทำให้ใบพืชไหม้เนื่องจากความเป็นกรดสูงมากเกินไป
อัตราส่วนผสมน้ำ 150 - 200 เท่านี้ จึงช่วยทั้งป้องกัน กำจัดโรคและแมลง กระตุ้นความต้านทาน และกระตุ้นความเจริญเติบโตของพืชอีกด้วย อีกทั้งยังสามารถนำไปฉีดพ่นที่กองปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ช่วยย่อยให้เป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น ดังได้อธิบายไว้แล้วในเรื่องของถ่าน โดยถ่านจะเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ และน้ำส้มควันไม้จะเป็นแหล่งอาหารให้ จุลินทรีย์เหล่านั้นขยายพันธุ์ขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ใช้ผสมน้ำ 500 เท่า ฉีดพ่นผลอ่อนของพืชเพื่อช่วยขยายให้ผลโตขึ้น หลังจากติดผลแล้ว 15 วัน และฉีดพ่นอีกครั้งก่อนเก็บเกี่ยว 20 วัน เพื่อเพิ่มน้ำตาลในผลไม้อีกด้วยเนื่องจากน้ำส้มควันไม้ช่วยการสังเคราะห์น้ำตาลและกรดอะมิโน ดังนั้นจึงเพิ่มทั้งผลผลิตและคุณภาพ
- ใช้ผสมน้ำ 1,000 เท่า เป็นสารจับใบจะช่วยลดการใช้สารเคมี เนื่องจากสารเคมีสามารถออกฤทธิ์ได้ดีในสารละลายที่เป็นกรดอ่อน ๆ และสามารถลดการใช้สารเคมีมากกว่าครึ่งจากที่เคยใช้
- ใช้ทำปุ๋ยคุณภาพสูง โดยใช้น้ำส้มควันไม้เข้มข้น 100 % หมักกับหอยเชอรรี่บด เศษปลา เศษเนื้อ หรือกากถั่วเหลือง โดยใช้โปรตีนต่าง ๆ 1 กิโลกรัม ต่อน้ำส้มควันไม้ 2 ลิตร หมักนาน 1 เดือน แล้วกรองกากออก เวลาใช้ให้ผสมน้ำ 200 เท่า
- ใช้หมักกับสมุนไพร เช่น เมล็ดและใบสะเดา หางไหลแดง ข่าแก่ ตะไคร้หอม ฯลฯ เพื่อเพิ่มฤทธิ์ของน้ำส้มควันไม้ในการไล่แมลงและป้องกันโรค และสามารถเก็บสารละลายนี้ไว้ได้นานโดยไม่บูดเน่า
ฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ป้องกันโรคและแมลงลำไย |
ใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่นป้องกันโรคและแมลงมะม่วง |
ตารางป้องกันแมลงศัตรูพืช
น้ำมันดินหรือทาร์
น้ำมันดิน ก็เป็นผลผลิตหนึ่งที่ได้จากการเผาถ่าน น้ำมันดินจะมีความเหนียว ติดไฟง่ายและ มีกลิ่นฉุนมาก เมื่อนำไปเทลงในหลุมเสาบ้านไม้ หรือ ทาผิวไม้ ก่อนที่จะทำการก่อสร้างบ้าน จะช่วยป้องกันปลวก/มอด ไม่ให้มาทำลายเนื้อไม้ได้
การจัดเรียงไม้ในถัง | เตาเผาถ่านถังขนาด 200 ลิตร | |
ตวงเอาน้ำส้มควันไม้ | ถ่านที่ได้บริสุทธิ์ |
ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ
ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9 , 089-6311432 ในวันและเวลาราชการ