เห็บ ภัยเงียบของสัตว์เลี้ยง

    30-1เจ้าของสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสุนัข คงจะรู้จักมักคุ้นกับ   เห็บ เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนอย่างนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่เราๆท่านๆจะพบเห็นเห็บได้มากขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ภูมิอากาศและความชื้นเหมาะสมต่อการแพร่พันธุ์ของเห็บ...

    30-2เห็บเป็นหนึ่งในพยาธิภายนอกของสัตว์เลี้ยงที่พบได้บ่อยที่สุด และก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง  เนื่องจาก เห็บตัวหนึ่งๆสามารถดูดเลือดจากสัตว์ได้ถึง 0.5 ซี.ซี.  ดังนั้น หากมีเห็บเกาะดูดเลือดอยู่บนตัวสัตว์เป็นจำนวนมาก จะมีผลให้สัตว์ไม่เจริญเติบโต , สุขภาพทรุดโทรม , อ่อนแอ เนื่องจากสภาพโลหิตจาง และยังเป็นส่วนโน้มนำให้สัตว์เลี้ยงป่วยด้วยโรคผิวหนังชนิดอื่นๆ เช่น ขี้เรื้อน ได้ง่ายขึ้น  นอกจากนี้ เห็บยังเป็นพาหะนำโรค พยาธิในเม็ดเลือด เข้าสู่ตัวสัตว์  โดยพยาธิในเม็ดเลือดดังกล่าว ทำให้สัตว์เลี้ยงมีภูมิต้านทานต่ำลง มักมีอาการ เลือดกำเดาไหล , มีเลือดออกตามใต้ผิวหนัง , อาเจียนเป็นเลือด , ถ่ายเหลวเป็นเลือด และ ตายในที่สุด
    ปัญหาที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงมักพบในการป้องกันและกำจัดเห็บ ได้แก่ เห็บเป็นพยาธิภายนอกที่กำจัดให้หมดได้ยาก  ต้องใช้ระยะเวลานานในการกำจัดให้หมด  เพราะเห็บเป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตซึ่งต้องอาศัยทั้งอยู่บนตัวสัตว์ และ อยู่ในสิ่งแวดล้อมบริเวณที่เลี้ยงสัตว์
    31-1
    โดยเห็บตัวผู้ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า มักจะผสมพันธุ์กับเห็บตัวเมียบนตัวสัตว์  แต่อย่างไรก็ตาม การผสมพันธุ์ของเห็บสามารถเกิดได้ทั้งบนตัวสัตว์หรือนอกตัวสัตว์ก็ได้  หลังจากผสมพันธุ์แล้ว เห็บตัวเมียจะดูดกินเลือดสัตว์เพื่อเร่งให้ไข่สุก จนกระทั่งตัวเป่ง  เมื่อไข่สุกเต็มที่แล้ว เห็บตัวเมียจะปล่อยปากที่กัดติดอยู่กับผิวหนังของสัตว์ออก และตกหล่นมาจากตัวสัตว์เพื่อที่จะคลานไปหาบริเวณที่สามารถหลบซ่อนและเหมาะแก่การวางไข่ เช่น ตามพงหญ้า , ตอไม้ , ใต้กองหินกองอิฐ , ซอกไม้ , รอยแตกตามผนัง  เป็นต้น  ต่อจากนั้นจะเริ่มวางไข่  หากเป็นฤดูที่มีอากาศเย็น  เห็บตัวเมีย  1  ตัว สามารถวางไข่ได้อย่างน้อยประมาณ  3,000 ฟอง  หลังการวางไข่ เห็บตัวเมียจะค่อยๆเหี่ยวแห้ง  ตัวแฟบลง และตาย  ส่วนไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนโดยใช้ระยะเวลาประมาณ  14  วัน  ขึ้นอยู่กับว่า อุณหภูมิความชื้นพอเหมาะเพียงใด

    29.jpg ตัวอ่อนที่ฟักออกก็จะคลานไปเกาะตามใบหญ้า ,  ใบไม้ ,  เสารั้ว  และคอยเกาะสัตว์ที่ผ่านมา เพื่อที่จะกลับไปอาศัยหากิน และผสมพันธุ์อยู่บนตัวสัตว์ดังเดิม
    ดังนั้น การกำจัดเห็บให้ได้ผลที่ค่อนข้างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องกำจัดทั้งเห็บที่อาศัยหากินอยู่บนตัวสัตว์  และ เห็บ ,  ตัวอ่อน รวมถึง ไข่ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ด้วย  ซึ่งการกำจัดเห็บที่อยู่บนตัวสัตว์ สามารถทำได้ทั้งวิธีการ อาบน้ำยากำจัดเห็บ , ฉีดยากำจัดเห็บ , การใช้ยาหยดหลัง , ใช้แป้งกำจัดเห็บโรย  ฯลฯ  ส่วนการกำจัดเห็บที่อยู่ในสภาพแวดล้อมมักจะต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ได้



    33.jpg

     

    ปัญหาอีกประการหนึ่งที่พบในการกำจัดเห็บในปัจจุบัน  ได้แก่  การดื้อต่อยาของเห็บ  ทำให้เห็บมักจะไม่ตาย ถ้าใช้ยาหรือสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันนานๆ  ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมียาและสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดเห็บอยู่หลากหลายประเภท  นอกจากนี้ ความสามารถในการดื้อยาของเห็บยังสามารถถ่ายทอดไปยังตัวอ่อนรุ่นต่อๆไปได้  จึงทำให้การกำจัดเห็บให้ได้ผล เป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น

    30.jpg ด้วยเหตุนี้ การกำจัดเห็บในปัจจุบันจึงต้องใช้หลายๆวิธีประกอบกัน  ทั้งการใช้ยา , สารเคมี ให้ถูกขนาด และควรใช้ยาให้หลากหลายชนิดสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป  ร่วมกับการกำจัดโดยวิธีที่ไม่ใช้สารเคมี  เช่น  การใช้สารสกัดจากสมุนไพร  หรือ  การจับตัวเห็บออกด้วยมือ ซึ่งการจับตัวเห็บออกด้วยมือนั้น ต้องนำตัวเห็บที่จับได้ไปทำให้ตายโดยใส่ลงในภาชนะที่บรรจุน้ำมันก๊าดฯลฯ ไม่ใช่จับเห็บได้แล้ว นำไปบีบให้แตกหรือนำไปทิ้ง  นอกจากนั้น  การกำจัดเห็บให้ได้ผลจะต้องทำเป็นประจำเป็นโปรแกรมตามคำแนะนำของนายสัตวแพทย์ ไม่ใช่กำจัดเฉพาะในฤดูฝนซึ่งมีความชุกชุมของเห็บมากๆเท่านั้น  ควรมีโปรแกรมการกำจัดเห็บตลอดปีโดยเฉพาะในฤดูร้อนซึ่งมีปริมาณของเห็บน้อยกว่าฤดูกาลอื่นๆ การกำจัดจะเป็นไปได้ง่ายกว่าครับ

    ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่       อ. น.สพ. ไพโรจน์  พงศ์กิดาการ
    คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  จ. เชียงใหม่  50290   โทร. 053-873938-9               ในวันและเวลาราชการ

    © 2017 Your Company. All Rights Reserved. Designed By agethemes.com.com
    Free Joomla! templates by AgeThemes