หมาบ้าหรือหมาว้อ

    61568_1หมาบ้าหรือหมาว้อ  โรคที่เกิดได้จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด  ข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันที่ 5 มีนาคม  2553 ปีที่ 40  ฉบับที่14,599

    61568 “หมาว้อ” เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวบ้านทางภาคเหนือและภาคอีสาน  ตรงกับภาษาทางภาคกลางว่า “หมาบ้า”  ซึ่งภาษาทางราชการและวิชาการใช้คำว่า “โรคพิษสุนัขบ้า”  เนื่องจากเป็นโรคที่มักพบในสุนัข  ซึ่งเป็นสัตว์ที่คลุกคลีอยู่ใกล้ชิดกับคนเรามากที่สุด   แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคพิษสุนัขบ้าเกิดได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด  ไม่ว่าจะเป็น  หมา  แมว  หนู  กระต่าย  หมู  วัว  ควาย  แพะ  แกะ  ม้า  รวมถึง  คนเราด้วย  จัดเป็นโรคสัตว์ติดต่อถึงคนที่มีความสำคัญ เนื่องจากสัตว์หรือคนที่แสดงอาการป่วยด้วยโรคนี้  ไม่มียา  หรือหนทางที่จะเยียวยารักษาให้หายได้ พูดง่ายๆคือ  ตายสถานเดียว

    โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อโรคในกลุ่มของไวรัส  โดยจะพบเชื้ออยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรค  สัตว์หรือคนจะติดโรคได้จากการที่เชื้อในน้ำลายติดเข้าไปทางบาดแผล  ไม่ว่าจะเป็น  แผลจากการถูกกัด  แผลจากการถูกข่วน  แผลถลอกตามผิวหนัง  ดังนั้น คนเราหรือสัตว์เลี้ยงของเรา  จะป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้หลังจากการถูกสัตว์ที่เป็นโรค กัดหรือข่วน  ไม่ได้เกิดจากสภาพอากาศร้อนแล้วทำให้เกิดการคลุ้มคลั่ง  อย่างที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจกัน  ( การคลุ้มคลั่งที่เกิดจากสภาพอากาศร้อน น่าจะเป็นในคนเรามากกว่า )  นอกจากนี้  โรคพิษสุนัขบ้ายังสามารถพบได้ตลอดทั้งปี  ทุกฤดูกาล  ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะฤดูร้อนเท่านั้นdog3

    child หลังจากเชื้อเข้าสู่บาดแผลแล้ว  เชื้อจะเดินทางไปตามเส้นประสาทและเข้าไปอาศัยเติบโตอยู่ในสมองของคนหรือสัตว์ที่ถูกกัด  จึงทำให้เกิดกลุ่มอาการทางประสาท  ซึ่งในสุนัขและแมวสามารถพบอาการได้สองรูปแบบ  คือ  แบบแสดงอาการดุร้าย และ แบบแสดงอาการซึม              โดยพวกที่แสดงอาการแบบดุร้ายจะพบได้มากกว่า  อาการจะเริ่มจาก  อารมณ์  พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงจะเปลี่ยนไปจากเดิม  เจ้าของสัตว์ที่เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดจะสังเกตได้  เช่น  ไม่มาคลุกคลีกับเจ้าของ  หงุดหงิด  อาจมีไข้ขึ้นปานกลาง  หลังจากนี้อีกสองสามวัน  อาการทางประสาทจะเด่นชัดมากขึ้น  ได้แก่  มีอาการกระวนกระวาย  ดุร้ายขึ้น  วิ่งไปโดยไร้จุดหมาย  กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า  ซึ่งเป็นลักษณะของความบ้าคลั่ง  หลังแข็งตึง  ขากรรไกรปากแข็ง  เสียงเห่าหอนจะผิดปกติไป  ลิ้นห้อย  น้ำลายไหล  เลียน้ำไม่ได้  เนื่องจากเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อลิ้น  ต่อมาขาจะอ่อนเปลี้ยลง  ซึ่งเข้าสู่ระยะสุดท้าย  สัตว์จะชักและตายลงในที่สุด

    ส่วนพวกที่แสดงอาการแบบซึม  จะสังเกตได้ยากกว่า  เนื่องจากสัตว์เลี้ยงจะหลบซ่อนตัวตามซอกมุมมืด  ไม่ออกมากินอาหารและน้ำ  ขากรรไกรปากแข็ง  ลิ้นห้อย  น้ำลายไหลยืดตลอดเวลา  สัตว์จะซึมอยู่เช่นนี้จนตายลง  ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพวกที่แสดงอาการแบบดุร้าย หรือ พวกที่แสดงอาการซึม  สัตว์จะตายหลังจากที่แสดงอาการ  7-10  วัน

    สำหรับอาการในคน  จะมีไข้สูง  เจ็บคอ  หงุดหงิด  ปวดเมื่อยตัว  ชาตามแขนขา   คอแข็งพูดไม่ชัด  กลืนน้ำลายไม่ได้  สำลักน้ำออกทางจมูก  ตัวสั่น  มือสั่น  กระวนกระวาย  คลุ้มคลั่ง  ตัวแข็ง  หลังแอ่น  น้ำลายยืด  เท้าเกร็ง  เมื่อถูกลมจะผวากลัว  หลังจากนี้จะเกิดอัมพาตและตายVac8

    การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าขึ้นอยู่กับ  ความรัก  ความเอาใจใส่  และความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์เลี้ยงโดยตรง  ไม่ว่าจะเป็นการพาสัตว์เลี้ยงของเราไปรับการทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากนายสัตวแพทย์  เป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง  โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่อยู่ใกล้ชิดกับคนเราอย่างหมาแมว  รวมถึง  การดูแลเอาใจใส่สัตว์เลี้ยงให้มีสุขภาพแข็งแรงตามคำแนะนำของนายสัตวแพทย์  นอกจากนี้  การเลี้ยงสัตว์ควรมีกรง  สถานที่เลี้ยง  หรืออาณาบริเวณที่แน่นอน  ไม่ใช่เลี้ยงปล่อยแบบไม่มีการควบคุม  ซึ่งสัตว์ที่เราเลี้ยงมีโอกาสที่จะไปติดเชื้อจากสัตว์ที่เป็นโรคได้  นอกจากนี้  เราไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือสัมผัสแตะต้องสัตว์จรจัดโดยเด็ดขาด

    ในกรณีที่ถูกสัตว์กัดหรือข่วน  ถ้าเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของ  หรือ  รู้หัวนอนปลายเท้า  ว่าบ้านอยู่ที่ใด  ควรกักสัตว์นั้นไว้ดูอาการอย่างน้อย  10  วัน  ถ้าสัตว์ตัวนั้นตายภายใน  7-10  วัน  เราต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที  แต่หากเป็นสัตว์จรจัด  ไม่มีเจ้าของที่แน่ชัด  ก็ไม่ควรจะรออะไรทั้งสิ้น  ทำได้เพียง  “รีบไปพบแพทย์โดยด่วน”

    pic_farmthaionline_dog_032 สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเจ้าของสัตว์  ได้แก่  ความรัก  ความเอาใจใส่  ที่ต้องมีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย  ไม่ใช่รักและเอาใจใส่ในขณะที่เป็นลูกสัตว์ที่มีความน่ารัก  น่าอุ้มเท่านั้น  แต่ความรัก  ความเอาใจใส่นี้  ต้องมีต่อเนื่อง  สม่ำเสมอ  จนกว่าสัตว์เลี้ยงของเราจะจากไป  ดังนั้น  การตัดสินใจที่จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสักตัวหนึ่งจึงเป็นสิ่งสำคัญ  ที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงความพร้อมของเรา  มิเช่นนั้น  สัตว์ที่เรารัก  ที่เราหลงในขณะเป็นลูกสัตว์  อาจจะถูกทอดทิ้งเมื่อเป็นสัตว์โต หรือ สัตว์ชรา  ที่ความน่ารักจะลดน้อยลง  ซึ่งการกระทำที่พบเห็นได้บ่อยๆ  อาทิ  การนำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยตามสถานที่สาธารณะ  ตามวัดวาอาราม  ก่อให้เกิดปัญหาสัตว์จรจัด  ไร้เจ้าของ  ไร้การควบคุม  และนำมาซึ่งปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า  เป็นการสร้างปัญหาให้กับสังคมโดยตรง

    สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อ. น.สพ. ไพโรจน์   พงศ์กิดาการ
    คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี    มหาวิทยาลัยแม่โจ้  โทร. 053-873440-42  ต่อ 3122

    นำเสนอข่าวโดย
    ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร  สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  โทร. 053-873938-9

    thainews

    scan 5-3-53

    © 2017 Your Company. All Rights Reserved. Designed By agethemes.com.com
    Free Joomla! templates by AgeThemes