ลดภาระโลกร้อนด้วยการทำปุ๋ยหมัก

    19-1มาช่วยกันลดภาวะโลกร้อนด้วยเศษวัชพืชสู่กองปุ๋ยหมักเพื่อลดมลพิษในอากาศอย่างยั่งยืน ...  บทความจากหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันที่ 15 มกราคม 2553 ปีที่ 40 ฉบับที่ 14,550 คอลัมม์ ทรัพย์ในดินสินในน้ำ..

    thainews

     

    19สภาพอากาศที่หนาวเย็น ความแห้งแล้งกลับมาอีกครั้งบรรยากาศการเผาขยะ เผากิ่งไม้เศษไม้ต่าง ๆ เริ่มจะพบเห็นทั่วไปอีกครั้ง หลายปีที่ผ่านมามลพิษในอากาศเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากมลพิษในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ถึงขั้นวิกฤติจนต้องประกาศเป็นจังหวัดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งหลายคนที่อยู่ทางภาคเหนือ หรือหลายคนที่มาเที่ยวยังจังหวัดเชียงใหม่คงได้สูดดมหมอกควันไปบ้างแล้วไม่มากก็น้อย หลายคนต้องเข้ายังโรงพยาบาล และอีกหลาย ๆ คนที่มีอาการของโรคประจำตัวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ภายในร่างกาย สาเหตุของปัญหาดังกล่าวผู้เกี่ยวข้องรับรู้ แต่แก้ยังไม่ถูกจุดเท่าที่ควร การแก้ปัญหาอย่างหนึ่งที่กระทำอยู่คือ การรณรงค์ไม่ให้เผาป่า เผาขยะจากชุมชนต่าง  ๆ อย่างไรก็ตามเป็นแค่การรณรงค์ ซึ่งควรจะมีการให้ความรู้ ความเข้าใจ ถึงผลดี ผลเสีย แก่ชุมชน หรือตั้งแต่เด็ก จนถึงผู้ใหญ่ หรือผู้นำหมู่บ้านให้รู้ถึงพิษภัยต่าง  ๆ ที่ได้กระทำกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลายปีที่ผ่านมาหลายคนเริ่มมีความรู้สึกถึงปัญหานี้ เนื่องจากประสบปัญหากับตัวเองและครอบครัว ทำให้ลดการเผาหรือทำลายสภาพแวดล้อมไปได้อย่างมาก   ทั้ง ๆ มีการเผาและทำลายสภาพแวดล้อมกันมาหลายปี แต่มันไม่ก่อให้เกิดปัญหามากมายเหมือนกับปีที่ผ่านมา หลายคนยังไม่ยอมรับความจริงว่าเผาแล้วไม่เสียหายอะไรเพราะได้ทำการเผามาทุกปี แต่อย่าลืมว่าในอดีตมีประชากรน้อยกว่าในปัจจุบัน  ผู้เขียนจำได้ว่ารัฐบาลหลายรัฐบาลได้รณรงค์ให้ไถกลบตอซังข้าว ไม่ให้เผา ปรากฏว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการเผาฟางข้าวกันอย่างต่อเนื่องไม่ได้ลดละการเผาแต่อย่างใด เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้เขียนได้ขับรถผ่านแถว ๆ ตั้งแต่นครสวรรค์ถึงอยุธยา ก็ยังได้พบเห็นการเผาฟางข้าวกันอยู่มากมาย บางพื้นที่ไหม้จนถึงแปลงข้าวที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว บางพื้นที่ควันไฟได้มาปกคลุมบนถนนสายเอเชีย จนทัศนะวิสัยการมองเห็นได้ไม่ดีนัก ผู้เขียนเองยังต้องชะลอความเร็วลงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ แม้กระทั่งเชียงใหม่หรือจังหวัดใกล้เคียงก็ยังพบเห็นกันอยู่ทั่วไป ก็ไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร กี่วัน กี่ปี จึงจะหมดสิ้นไป กลับขึ้นมาทางภาคเหนืออีกครั้งการเผาขยะ และเศษวัชพืชต่างๆ ภายในสวนก็ยังมีอีกมากมายโดยเฉพาะภายในสวนลำไยที่ผู้เขียนพบบ่อยๆ คือการเผาใบและกิ่งลำไยที่ตัดแต่งลงมากันอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มีการแนะนำให้ความรู้บ้างแล้วแต่ยังไม่เป็นผลเท่าที่ควร ผู้เขียนเห็นว่าการแนะนำ ส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกร หรือนักเรียน นักศึกษา แม้กระทั่งภายในโรงเรียนทุกระดับ ควรจะมีการให้ความรู้กันอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากกว่านี้ไม่ใช่แนะนำหรือส่งเสริมตามกระแสนิยม หรือตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการควรทำให้เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดให้ประชาชนเห็น หลายสถานที่ หน่วยงานราชการเองก็มีการเผาทำลายสิ่งต่าง  ๆ มากมาย เกริ่นมาก็พอสมควร จึงขอนำเข้าสู่การกำจัดเศษวัชพืชที่เราไม่ต้องการเช่น ใบไม้ ใบหญ้า เศษกิ่งไม้ต่างๆ  ที่ตัดแต่งลงมา ให้กลับกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผืนแผ่นดินใบนี้ต่อไป นั่นคือการนำสิ่งเหล่านี้มาทำเป็นปุ๋ยหมักนั่นเอง

    21
    กระบวนการผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้เองจากเศษวัชพืชต่าง ๆ

    ปุ๋ยหมักเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกษตรกรสามารถผลิตได้เองอย่างง่ายๆ และไม่ต้องลงทุนในการผลิตมากนัก จุลินทรีย์หรือสารเร่งต่างๆ หน่วยงานภาครัฐก็ส่งเสริมให้ฟรี เช่น สาร พด. 1 ฯลฯ หรือของเอกชนที่ต้องซื้อในราคาที่ไม่แพงมากนัก เช่น จุลินทรีย์อีเอ็ม  ต่างๆ

    ปัจจัยที่ทำให้พืชมีการเจริญเติบโตที่ดีคือ สภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ คำว่าดินอุดมสมบูรณ์ในที่นี้ หมายถึง ดินที่มีโครงสร้างที่แข็งแรง มีธาตุอาหารอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด  กรณีในสภาพสวนป่า ต้นไม้มีความแข็งแรง มีการเจริญเติบโตที่ดี โดยไม่มีใครเอาปุ๋ยไปใส่ให้เลย แต่เกิดจากกิ่งไม้ ใบไม้ และเศษซากสัตว์ที่ตายเน่าเสีย ทับถมกันทุกวัน ทุกปี เป็นเวลานาน มีการย่อยสลายโดยสิ่งมีชีวิตเล็กๆ หรือจุลินทรีย์ต่างๆ ในดิน จนกลายเป็นฮิวมัส ด้วยเหตุนี้เราสามารถเลียนแบบธรรมชาติได้ด้วยการทำปุ๋ยหมักจากเศษวัชพืชที่เหลือใช้ต่างๆ ในสวน

    ข้อดีของปุ๋ยหมัก

    1. ช่วยในการปรับปรุงดิน ทำให้ดินร่วนซุย และโปร่ง ถ้าเป็นดินทรายปุ๋ยหมักจะช่วยทำให้ดินสามารถยึดเกาะธาตุอาหารได้ดี ถ้าเป็นดินเหนียว ก็จะช่วยให้ดินเหนียวมีการระบายน้ำดีขึ้น เนื่องจากปุ๋ยหมักจะเข้าไปแทรกตัวอยู่ระหว่างอนุภาคดินเหนียว

    2. เพิ่มจุลินทรีย์ ให้แก่ดิน อันเป็นผลให้มีกิจกรรมการย่อยสลายเป็นไปตามปกติ

    3. ช่วยเพิ่มความต้านทานให้แก่ระบบรากพืช ในการต่อต้านเชื้อโรคต่าง ๆ แก่พืช

    4. ช่วยต้านทานการเปลี่ยนแปลงระดับความเป็นกรด-เบส (pH) ของดิน

    5. ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ลดมลภาวะที่เกิดจากการเผาไหม้ ลดอุบัติเหตุตามท้องถนนได้

    6. เกษตรกรสามารถทำขึ้นใช้ได้เอง และเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้ทางหนึ่ง ในข้อที่ว่า ทำเองใช้เอง อยู่อย่างพอเพียง


    ข้อเสียของปุ๋ยหมัก20

    1. ธาตุอาหารในปุ๋ยหมักมีน้อยกว่าปุ๋ยเคมี
    2. ไม่สามารถทำให้ต้นพืชเจริญเติบโตได้เร็วเหมือนกับปุ๋ยเคมี
    3. ปุ๋ยหมักที่ยังย่อยสลายไม่หมด จะเกิดการแย่งธาตุอาหารจากดินของกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ทำให้ดินและพืชเกิดการขาดธาตุอาหารได้ นอกจากนี้ถ้ามีการทำกองปุ๋ยหมักขนาดใหญ่ไว้บริเวณให้ต้นไม้อาจเกิดอันตรายต่อระบบรากพืชได้ เนื่องจากความร้อนระหว่างการหมัก
      ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยหมักจากเศษวัชพืชเหลือใช้ เช่น ใบไม้  วัชพืชต่าง ๆ  ฟางข้าว ฯลฯ

    อุปกรณ์

    1. เศษหญ้า  ฟางข้าว  ใบไม้                                                     1000      กก.
    2. เศษวัสดุก้อนเชื้อเห็ดที่ทิ้งแล้ว  (จะมีหรือไม่มีก็ได้)           100         กก.
    3. ปุ๋ยมูลวัว หรือไก่                                                                     100         กก.
    4. เชื้อ พ.ด.1                                                                               1              ซอง
    5. หรือ เชื้อ EM

    หมายเหตุ หากใช้เชื้อ EM เป็นตัวเร่งการย่อยสลายได้  ถ้าหากว่าไม่สามารถหาเชื้อพ.ด. 1 ได้ ซึ่ง เชื้อ พ.ด 1 สามารถขอรับได้จาก กรมพัฒนาที่ดินของแต่ละจังหวัด วิธีการใช้ให้ดูข้างซองตามคำแนะนำของกรมพัฒนาที่ดิน   สำหรับวิธีการเตรียมเชื้อ EM คือ  น้ำ 100 ลิตร ผสมเชื้อ EM 250 ซีซี  ผสมกากน้ำตาล 200 ซีซี  ผสมให้เข้ากันตั้งทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง จึงจะนำไปใช้ได้

    thainews3

    ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์วินัย  วิระยะอลงกรณ์        สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร   มหาวิทยาลัยแม่โจ้    โทร. 053-873387-9    ในวันและเวลาราชการ

    รายงานโดย

    ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร  สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  โทร. 053-873938-9

    © 2017 Your Company. All Rights Reserved. Designed By agethemes.com.com
    Free Joomla! templates by AgeThemes