เทคนิคและวิธีการทำปุ๋ยหมัก บทความจากหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันที่ 8 มกราคม 2553 ปีที่ 40 ฉบับที่ 14,343 คอลัมม์ ทรัพย์ในดินสินในน้ำ..
วิธีการทำ
1. สร้างบ่อพัก หรือหลังคากันฝน กันแดด 2 บ่อ เพื่อเอาไว้สำรองใช้ (ถ้ามีทุนเล็กน้อย) ความสูงของบ่อขนาด กว้าง และ ยาว 3 X 6 เมตร และลึก 1 เมตร พยายามเทพื้นให้ลาดเอียงไปด้านหลังเพื่อให้น้ำที่ได้จากการกระบวนการหมักไหลไปสู่บ่อพัก ในภาพที่เห็นใช้ งบประมาณ 10,000 บาท หรือถ้าเกษตรกรทุนไม่มากพอ ก็สามารถนำเศษวัชพืช มากองกลางแจ้งไว้เป็นกอง ๆ ก็ได้ แต่มีข้อเสียคือไม่สามารถเก็บกักน้ำปุ๋ยชีวภาพที่ได้จากกระบวนการหมักได้ อย่างไรก็ตามอาจประยุกต์ใช้พลาสติกหรือคามุงหลังคาก็ได้
2. ขุดบ่อพักความลึกประมาณ 2-3 เมตร และต่อท่อพีวีซี มายังบ่อที่ขุดไว้ เพื่อเอาไว้เก็บกักน้ำที่ได้จากการย่อยสลายของเศษพืช เพื่อนำกลับไปรดยังเศษพืชอีกครั้งหนึ่ง หรือนำไปผสมน้ำอัตราส่วน น้ำหมัก 1 ส่วนต่อน้ำธรรมดา 500 ส่วน นำไปรดต้นไม้หรือผักต่าง ๆได้เลย
3. นำเศษไม้ ใบไม้ หรือเศษฟางข้าวที่เตรียมไว้ ใส่ลงในบ่อ หรือวัสดุที่เตรียมไว้ (ดังรูป) รดน้ำพร้อมเหยียบให้แน่นให้มีความหนาเป็นชั้นๆละ 40-50 ซม. แล้วรดน้ำเชื้อ EM ที่เตรียมไว้ หรือเชื้อ พ.ด. 1 โดยรดเป็นชั้นๆ เช่นกันในแต่ละชั้นให้โรยปุ๋ยคอกหรือวัสดุก้อนเชื้อเห็ดที่เตรียมไว้บางๆ (ใช้ก้อนเห็นที่ไม่ใช้แล้ว)
4. ดูแล โดยการกลับกองปุ๋ยหมักทุกๆ 20-25 วันต่อครั้ง หรือเดือนละครั้งก็ได้ รดน้ำให้ชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้กองปุ๋ยหมักแห้ง ถ้าปุ๋ยหมักที่ทำไว้มีการย่อยสลายดีแล้วและไม่มีความร้อน เศษไม้ หรือเศษฟาง ยุ่ยสลายดี แสดงว่าใช้ได้แล้ว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 45-50 วัน ก็ใช้ได้
5. ปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว พร้อมนำไปใช้ได้ ซึ่งวิธีการนี้สามารถลด ค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักราคาแพง ๆ ที่มีกรรมวิธีการทำมากมาย แต่ประโยชน์หรือคุณค่าทางอาหารไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ น้ำที่ได้จากการหมักก็ยังสามารถนำไปเป็นปุ๋ยน้ำทางดินได้อีกด้วย โดยอัตราการใช้คือน้ำหมักที่ผ่านการย่อยสลาย 1 ลิตรผสมกับน้ำธรรมดา 500 ลิตร คนให้ทั่ว แล้วนำไปรดยังต้นไม้ พืชผัก ไม้ประดับต่าง ๆ ได้
มีเกษตรกรหลายท่านไม่เข้าใจในเรื่องของการทำปุ๋ยหมัก หรือการผลิตปุ๋ยชีวภาพ หรืออาจมีการแนะนำจากหน่วยงานราชการบ้าง พบว่าเกษตรกรเอาเชื้อ EM ไปผสมกับน้ำ และกากน้ำตาล แล้วนำไปฉีดพ่นต้นไม้ ขณะที่กำลังออกดอกติดผล พบว่าอีกไม่นานต้นไม้ หรือใบไม้จะมีสีดำเต็มไปหมด นั่นแสดงว่า เชื้อราได้ลงมากินกากน้ำตาลเข้าแล้วทำให้ผลผลิตเสียหายได้ ส่งผลให้ผิวผลผลิตไม่สวย ขายไม่ได้ราคา นอกจากนี้การนำน้ำหมักต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของกากน้ำตาลไปฉีดพ่นทางใบขณะที่มีผลผลิตอยู่บนต้นอาจเป็นสาเหตุทำให้เชื้อรา โดยเฉพาะราดำ เข้าทำลายได้เช่นกัน ซึ่งพบบ่อยในสวนลำไย และอาจมีบ้างในสวนผลไม้อื่น ๆ ผู้เขียนขอให้ข้อคิดเล็กน้อยว่า เชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่มีจำหน่ายหรือแจกฟรี ไม่ใช่ปุ๋ย เพียงแต่เป็นจุลินทรีย์สำหรับย่อยสลายใบไม้ กิ่งไม้ หรือเร่งกิจกรรมการทำงานต่าง ๆในดินให้มีการปล่อยปล่อยธาตุอาหารเร็วขึ้นเท่านั้น ขอให้คำแนะนำว่าควรนำมาเป็นตัวเร่งกระบวนการย่อยสลายในการทำปุ๋ยหมักดีที่สุด และให้ใช้ทางดินดีกว่าทางใบ นอกจากนี้การทำปุ๋ยหมักดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นยังมีประโยชน์อีกประการที่สำคัญคือ ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมของโลกไว้ให้ยั่งยืน ชะลอให้โลกเข้าสู่ภาวะโลกร้อนช้าลง ถ้าทุกคนช่วยกันและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
ในสภาพสวนไม้ผลขนาดใหญ่ของแม่โจ้ กิ่งที่ได้รับการตัดแต่งกิ่งทุกปี จะนำกิ่งเหล่านี้มากองระหว่างแถวปลูกแล้วใช้รถแทรกเตอร์ปั่นสับให้ละเอียดเพื่อเป็นปุ๋ยหมักต่อไป
ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตร 8 ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9 ในวันและเวลาราชการ
รายงานโดย
ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9