การจัดการของเสียชุมชนอย่างยั่งยืนและพอเพียงด้วยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีใหม่ บทความจากหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 ปีที่ 40 ฉบับที่ 14,294 คอลัมม์ ทรัพย์ในดินสินในน้ำ..
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ค้นคว้าวิจัยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ระบบกองเติมอากาศที่ไม่พลิกกลับกอง ที่มีการเติมอากาศเข้าไปในกองปุ๋ยด้วยพัดลมโบว์เวอร์ทำให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณมากครั้งละ 10 ตัน ภายในเวลา 30 วัน วัตถุดิบมีเพียงเศษพืชและมูลสัตว์เท่านั้น และได้มีการพัฒนาค้นคว้าวิจัยจนทำให้ได้นวัตกรรมใหม่ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ต้องมีการเติมอากาศและไม่ต้องมีการพลิกกลับกอง โดยมีการถ่ายทอดนวัตกรรมนี้สู่ชุมชนแล้ว
ฉะนั้นของเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชนจำเป็นต้องได้รับการจัดการที่มีความเหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่วนที่เป็นอินทรีย์วัตถุเกิดการย่อยสลายในหลุมฝังกลบแล้วปล่อยน้ำชะขยะและแก๊สหลุมฝังกลบที่มีความเป็นพิษออกมาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม สร้างความเดือดร้อนรำคาญและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งเมื่อใดที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วก็ยากที่จะทำการบำบัดให้คืนสู่สภาพปกติได้ ไม่ว่าจะใช้เงินงบประมาณหรือเวลานานเท่าใดก็ตาม
การจัดการของเสียชุมชนที่มีความเหมาะสมได้แก่การส่งเสริมให้มีการคัดแยกของเสียที่ต้นทาง ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการจัดการที่ต่ำที่สุดและชุมชนมีส่วนร่วม โดยของเสียส่วนที่ย่อยสลายได้ (ประมาณ 30 %) ควรนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ ของเสียส่วนที่ขายได้ (ประมาณ 30 %) ควรคัดแยกและนำไปขาย ส่วนของเสียเสี่ยงอันตราย (ประมาณ 5 %) ควรมีการรวบรวมแล้วจ้างบริษัทที่เป็นผู้ได้รับสัมปทานในการกำจัดมารับไปเมื่อมีปริมาณมากพอ ดังนั้น ของเสียส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ที่เหลือ (ประมาณ 35 %) ก็จะสามารถฝังกลบได้แบบง่าย ๆ ภายในพื้นที่โดยไม่ต้องมีการป้องกันการปนเปื้อนน้ำใต้ดินหรือไม่ต้องมีดินกลบประจำวัน เนื่องจากเศษอินทรีย์วัตถุได้ถูกคัดแยกออกไปแล้วที่ต้นทางนั่นเอง
การคัดแยกที่ต้นทางจัดว่าเป็นการจัดการที่มีต้นทุนที่ถูกที่สุด จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงคัดแยกขยะที่มีราคาแพงที่มักจะสร้างความขัดแย้งกับชุมชนอันเนื่องมาจากกลิ่น แมลงวัน และปัญหาการสัญจรเข้าออกของรถขยะ ที่เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเทศบาลตำบลบ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ที่มีนายสมบูรณ์ กุยด้วง เป็นนายกเทศมนตรี ที่จะให้มีการแก้ปัญหาการจัดการของเสียในชุมชนแบบบูรณาการอย่างจริงจังเป็นรูปธรรมและลดปริมาณขยะมูลฝอยที่เข้าในหลุมฝังกลบประมาณวันละ 7 ตัน จึงได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง 3 องค์กรคือ เทศบาลตำบลบ้านกลาง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ และคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินโครงการนำร่องการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากของเสียในชุมชน โดยวิธีการรับซื้อเศษพืช เปลือกและเมล็ดลำไย เศษผักจากตลาด และแม้กระทั่งเศษอินทรีย์วัตถุจากหลุมฝังกลบ ในราคากิโลกรัมละ 0.25 – 1.00 บาท ทุกวันเสาร์ ณ พื้นที่ตรงกันข้ามกับหลุมฝังกลบ แล้วให้นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ ทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีใหม่ที่ไม่ต้องพลิกกลับกองที่เรียกว่าวิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1”
การผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีใหม่แบบไม่ต้องพลิกกลับกองวิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” เป็นองค์ความรู้ของคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีขั้นตอนการทำงานที่ง่ายมาก วัตถุดิบมีเพียงเศษพืชและมูลสัตว์เท่านั้น วิธีการก็คือนำเศษพืช 3 ส่วนกับมูลสัตว์ 1 ส่วนโดยปริมาตร มาผสมคลุกเคล้า รดน้ำให้มีความชื้น แล้วขึ้นกองเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีความสูงไม่ต่ำกว่า 1.50 เมตร ความยาวของกองจะยาวเท่าไรก็ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเศษพืชและมูลสัตว์ที่มี กิจกรรมการดูแลกองปุ๋ยมีเพียงรักษาระดับความชื้นให้เหมาะสมตลอดเวลาโดยไม่ต้องพลิกกลับกอง หลังจากที่วัตถุดิบอยู่ในกองปุ๋ยได้ครบ 60 วัน ก็จะมีความสูงเหลือเพียง 1 เมตร หลังจากนั้นกองทิ้งไว้เฉย ๆ ให้แห้งหรือนำไปเกลี่ยผึ่งแดดให้แห้งอีกประมาณ 7 วันเพื่อให้จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยสงบตัว เมื่อแห้งดีแล้วก็สามารถนำไปใช้ในการเพาะปลูกได้อย่างมั่นใจว่าจุลินทรีย์ในกองปุ๋ยจะไม่ไปรบกวนการเจริญเติบโตของต้นพืช
หัวใจสำคัญของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ คือ 1) ต้องรักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอตลอดเวลา 2) ต้องมีความสูง 1.5 เมตร 3) ต้องคลุกเคล้าเศษพืชและมูลสัตว์ไม่ทำเป็นชั้น ๆ และ 4) ต้องรักษาให้มีความร้อนสูงในกองปุ๋ย
เศษพืชทุกชนิดสามารถนำมาใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีนี้ได้ เช่น ฟางข้าว ซังและเปลือกข้าวโพด ผักตบชวา ต้นถั่วเหลือง เศษผักจากตลาด และเศษใบไม้ เป็นต้น ส่วนมูลสัตว์สามารถนำมาใช้ได้ทั้งมูลโค มูลไก่ และมูลสุกร ซึ่งมูลสัตว์จะเป็นแหล่งของจุลินทรีย์จำนวนมากในกองปุ๋ยที่ช่วยย่อยสลายเศษพืชและมักจะเป็นจุลินทรีย์กลุ่มที่ชอบความร้อนสูง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีนี้จึงมีเพียงเศษพืชและมูลสัตว์ 2 ชนิดเท่านั้น ไม่ต้องใช้สารเร่ง กากน้ำตาล รำข้าว หรืออีเอ็มใด ๆ
ในการดำเนินโครงการรับซื้ออินทรีย์วัตถุและเศษพืชทุกวันเสาร์เพียงแค่ 2 เดือน เทศบาลตำบลบ้านกลางก็สามารถรับซื้ออินทรียวัตถุและเศษพืชได้ไม่ต่ำกว่า 10 ตัน คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 10,000 บาทเท่านั้น เป็นของเสีย 10 ตันที่เทศบาลสามารถลดปริมาณของเสียในหลุมฝังกลบลงได้ นับว่าเป็นการจัดการของเสียที่มีต้นทุนที่ต่ำมากแถมยังได้ปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ในกิจการอีกด้วย
หลังจากที่โครงการรับซื้อเศษอินทรีย์วัตถุเพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ประสบความสำเร็จ เทศบาลตำบลบ้านกลางก็ได้ดำเนินการในเชิงรุกอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือ ขยายผลให้ชุมชนเป็นผู้รับซื้อเศษพืชและดำเนินการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 เองใน 5 หมู่บ้าน โดยเทศบาลตำบลบ้านกลางเป็นผู้สนับสนุนมูลโคและค่าซื้อเศษพืช และเมื่อได้ปุ๋ยอินทรีย์แล้วชุมชนสามารถนำปุ๋ยอินทรีย์ไปจัดสรรแบ่งปันหรือจำหน่ายเพื่อใช้ในชุมชน อันจะส่งผลให้มีการนำประโยชน์กลับคืนจากเศษพืช ลดการเผาทำลายที่สร้างปัญหาหมอกควัน และในเวลาเดียวกันก็สามารถลดปริมาณของเสียในหลุมฝังกลบ ลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บขยะ รวมทั้งเกษตรกรมีการปรับปรุงบำรุงดินและลดต้นทุนการผลิตจากการลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้อีกด้วย นับว่าเป็นการยิงทีเดียวได้นกถึง 5 ตัว
หน่วยงาน สถานศึกษา หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่สนใจ สามารถติดต่อขอชมการดำเนินโครงการ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการลดปริมาณของเสียที่จะฝังกลบ หรือลดการเผาทำลายเศษพืชที่ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันในเดือนมีนาคมของทุกปี โปรดติดต่อผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม นายสวัสดิ์ บัวดอกตูม หมายเลขโทรศัพท์และโทรสาร 053 834570 หรืออาจารย์พิมประไพ สุขใส วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 081 180 4908
มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีฐานเรียนรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” สำหรับท่านผู้ใดสนใจเข้าชมการสาธิตได้ทุกวันเวลาราชการ โปรดสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร โทร. 053-875599 This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
รายงานโดย
ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร
สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9