[notice class="notice"]การปลูกละมุดในกระถาง[/notice]
โดยอาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์
นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่
คนไทยนิยมรับประทานละมุดกันอย่างแพร่หลาย เมื่อผลสุกปอกเปลือกออกจะเห็นเนื้อสีน้ำตาลออกแดงรสชาติหวานอร่อย ละมุดที่ปลูกทั่วไปมีอยู่ 2 ชนิด คือ ละมุดที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเรียกว่า ละมุดสีดา แต่ถ้ามีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนแถบประเทศเม็กซิโก อเมริกากลาง และอินเดียตะวันตกเรียกว่า ละมุดฝรั่ง เนื้อของละมุดมีสารอาหารมากมายและมีสรรพคุณเป็นสมุนไพร เปลือกใช้ต้มแก้โรคบิด ยางใช้ถ่ายพยาธิ เมล็ดใช้เป็นยาบำรุง นอกจากนี้ยางของละมุดนำไปทำเป็นหมากฝรั่งได้ ละมุดเป็นผลไม้เมืองร้อนที่มีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว มีขนาดและทรงพุ่มขนาดกลาง ออกดอกผลิผลตามซอกใบใกล้ปลาย
ยอดกิ่ง ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ การปลูกละมุดในกระถางมีข้อดีคือ
1. ใช้พื้นที่น้อยหรือมีพื้นที่จำกัดหรือไม่มีพื้นที่ดินเลย
2. ยกหรือเคลื่อนย้ายไปวางตรงไหนของบริเวณบ้านหรือแนวขอบถนนก็ได้
3. ใช้เป็นไม้ประดับได้
4. มีละมุดไว้รับประทานตลอดปี
5. สร้างรายได้โดยยกขายต้นละมุดในกระถางติดผลแล้วต้นละ 1000 -2000 บาท
1.กระถาง ที่ใช้ปลูกละมุดควรเป็นกระถางมังกรเคลือบจะแข็งและแกร่ง มีลวดลายต้นไผ่หรือลายมังกรสวยงาม ใช้ได้ตั้งแต่ขนาด 1 ปีบ จนถึงขนาด 2 ปีบ แนะนำให้ใช้ขนาด 2 ปีบเหมาะสมที่สุด (ความหมายของขนาดกระถางคือขนาดบรรจุดินปลูกได้เทียบกับ 2 ปีบน้ำมันก๊าด) สามารถให้ผลผลิตได้ 100 -150 ลูกในปีที่ 2 และเคลื่อนย้ายได้
2.พันธุ์ละมุด สามรถปลูกละมุดได้ทุกสายพันธุ์ พันธุ์กระสวยมาเลย์ ผลรูปร่างยาวรีคล้ายลูกรักบี้ผลสุกเนื้อสีแดง ลูกดก รสหวาน พันธุ์มะกอก ผลรูปร่างกลมใหญ่ผลสุกมีสีน้ำตาลออกแดง เนื้อผลแข็งและกรอบ ผลไม่ค่อยดกเท่าไหร่ และพันธุ์ไข่ห่าน ขนาดผลใกล้เคียงกับพันธุ์มะกอกแต่เนื้อเมื่อผลสุกไม่กรอบ
3.วัสดุปลูก ละมุดชอบดินที่ร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุมาก ใช้
- ดินดำหรือหน้าดิน 1 ส่วน
- ปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายแล้วหรือปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน
- แกลบดิบหรือเปลือกข้าวเก่าที่สีเริ่มเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีเทา 1 ส่วน
- ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 15-15-15 1 ช้อนโต๊ะ
คลุกทุกส่วนให้เข้ากันและนำไปปลูกละมุด
4.ใช้เศษกระถางแตก รองก้นกระถาง 3รู เพื่อระบายน้ำ ตักดินปลูกใส่กระถางมังกรประมาณ 1 ใน 3 ส่วน นำต้นละมุดที่เตรียมไว้ลงปลูกโดยเอาถุงพลาสติกออกก่อนอย่าให้ดินแตก หรือใช้มีดคัทเตอร์กรีดก้นถุงก่อนแล้วนำลงวาง แล้วจึงกรีดถุงตามความยาวและค่อยๆดึงถุงออก แล้วจึงตักดินปลูกลงกลบให้เหลือ
ขอบกระถางไว้ประมาณ 3 นิ้ว ใช้ใบไม้แห้งกลบทับอีกชั้น (ใบจามจุรีหรือใบก้ามปูดีที่สุด) ปักไม้ผูกเชือกกันลมโยก แล้วจึงรดน้ำตาม นำไปวางไว้บนซีเมนต์บล์อกหรือฟุตบาทซีเมนต์ที่มีแสงแดดส่องทุกด้าน
5.การให้น้ำ ใช้มือจับดินถ้ายังชุ่มอยู่ ก็ยังไม่ต้องให้น้ำหรือจะลดน้ำวันเว้นวันก็ได้
คุณค่าทางโภชนาการของละมุด
คุณค่าทางโภชนาการและอาหารในส่วนที่รับประทานได้ 100 กรัม จะมีส่วนประกอบของแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ ดังนี้
พลังงาน 51 แคลอรี่
โปรตีน 0.5 กรัม
ไขมัน 0.8 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 12.5 กรัม
เส้นใยอาหาร 5.6 กรัม
แคลเซียม 11 กรัม
ฟอสฟอรัส 6 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.6 มิลลิกรัม
เบต้าแคโรทีน 22 ไมโครกรัม
วิตามินบี 1 0.01 มิลลิกรัม
ไนอะซีน 0.4 มิลลิกรัม
วิตามินซี 14 มิลลิกรัม
วิตามิน เอ 230 หน่วย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น เป็นไม้ผลที่มีทรงพุ่มขนาดกลาง ทรงพุ่มโปร่ง เจริญเติบโตเร็ว ความสูงประมาณ 15-20 เมตร กิ่งเหนียวไม่เปราะและหักง่าย ผิวเปลือกเรียบสีน้ำตาลอ่อน เมื่อมีอายุมากเปลือกจะแตกและมีสีน้ำตาลเข้ม
ใบ ใบแต่พันธุ์แตกต่างกัน พันธุ์ไข่ห่าน ปลายใบยาวรี ปลายใบแคบ สีเขียวอ่อน พันธุ์กระสวยมาเลย์ ปลายใบแหลมเล็กน้อย สีเขียวเข้มเป็นมัน พันธุ์มะกอก ใบยาวรี แคบ สีเขียวเข้มเป็นมัน ใบยาวประมาณ
10-15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร ใต้ท้องใบสีเขียวอ่อน ด้านบนมัน เกิดใบเป็นกระจุกแน่นตามปลายยอดกิ่ง
ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เป็นดอกเดี่ยว เกิดตามซอกใบใกล้ปลายยอดกิ่ง มีกลีบดอก 6 กลีบและกลีบเลี้ยง 6 กลีบ สีเหลืองติดกันเป็นพวง
ผล ขึ้นอยู่แต่ละพันธุ์ มีตั้งแต่รูปไข่ กลมหรือยาวรี ผิวเปลือกสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแก่ ขณะยังดิบเมื่อเอาเล็บสะกิดจะมียางสีขาวคล้ายกาวลาเท็ก ผลดิบมีรสฝาด เนื้อแข็ง แต่เมื่อผลสุกยางจะหายไป ผิวจะเรียบ ผิวสิน้ำตาล ปอกเปลือกออกจะเห็นเนื้อสีน้ำตาลปนแดง มีรสหอมหวานอร่อย เนื้อมีทั้งกรอบและนิ่ม
เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างยาวรี ยาวประมาณ 2 –3 เซนติเมตร เมล็ดมีสีดำเป็นมัน ผิวแข็ง ในละมุด 1 ผลจะมีเมล็ดประมาณ 2–7 เมล็ด
การขยายพันธุ์ละมุด
1.การเพาะเมล็ด มีข้อดีคืออาจจะได้ละมุดพันธุ์ใหม่ ประหยัดกิ่งพันธุ์ เพาะเมล็ดได้ต้นละมุดจำนวนมาก แต่ข้อเสียคือ อาจจะได้ละมุดที่ไม่เหมือนต้นแม่พันธุ์คือกลายพันธุ์ไปในทางที่ไม่ดี และกว่าจะติดดอกออกผลจะใช้ระยะเวลานาน
2.การตอนกิ่ง มีข้อดีคือได้กิ่งที่มีขนาดใหญ่ ตรงตามสายพันธุ์ ติดดอกออกผลเร็ว แต่ข้อเสียคือ ต้องมีเทคนิคในการตอนกิ่งเพราะละมุดมียางมาก
ลักษณะของผลละมุด
ละมุดพันธุ์มะกอก | ละมุดพันธุ์กระสวยมาเลย์ |
กระถางเคลือบมังกรขนาด 2 ปี๊บ | กระถางพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 นิ้ว |
การขยายพันธุ์ละมุดโดยวิธีการตอนกิ่ง
ขั้นตอนที่ 1 | ขั้นตอนที่ 2 | ขั้นตอนที่ 3 | ||
ขั้นตอนที่ 4 | ขั้นตอนที่ 5 | ขั้นตอนที่ 6 | ||
ขั้นตอนที่ 7 | ขั้นตอนที่ 8 | ขั้นตอนที่ 9 |
เอกสารอ้างอิง
กลุ่มเกษตรสัญจร. การปลูกละมุด . นนทบุรี: สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม.
พิชัย สมบูรณ์วงศ์.(2555). คู่มือการปลูกมะนาวนอกฤดูในภาชนะ . เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยแม่โจ้
อุไร จิรมงคลการ.(2547). ผลไม้ในสวน.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บ้านและสวน
ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์
นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
สำนักวิจัยและส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้. โทร.0-5387-3938-9 และ 089-6311432ในวันและเวลาราชการ