[notice class="notice"]กล้วยตกเครือกลางลำต้น[/notice]
โดยนายนิคม วงศ์นันตา*
นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่
กล้วย เป็นผลไม้ที่คนไทยคุ้นเคย รู้จักกันดีทุกคนไม่ว่าจะเป็นยาจก เศรษฐี ยากดีมีจน เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ทุกชนชั้น ทุกสาขาอาชีพ เพราะกล้วยล้วนแล้วแต่เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกชีวิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม แม้ว่าปัจจุบันความสำคัญของกล้วยอาจลดลงไปบ้างตามกาลเวลาตามกระแสการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่สามารถประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่าง ๆ มาทดแทนต้นพืชที่มากด้วยคุณค่าที่ชื่อว่า “ กล้วย ” ก็ตาม หากพิจารณาถึงสารพันประโยชน์ที่พืชชนิดนี้มอบให้แก่มวลมนุษย์แล้ว ช่างมากมายเหลือเกิน แต่กล้วยกลับเป็นพืชที่ค่อนข้างอาภัพ ถูกมองข้ามจากผู้ที่ใช้ประโยชน์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่ากล้วยสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพทั่วๆไป ซึ่งเราพบเห็นกล้วยตั้งแต่ริมทะเลจนกระทั่งบนภูเขาสูง นี่คือความสามารถของกล้วยสุดยอดแห่งการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นเมืองไทยของเรายังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดของสายพันธุ์กล้วย ที่มีความสำคัญในแง่ของความหลากหลายทางพันธุกรรมอีกด้วย
มารู้จักเครือญาติของกล้วยกันก่อน
กล้วย(banana) เป็นพืชล้มลุกที่มีขนาดใหญ่ จัดอยู่ในอันดับ (order) Scitamineae หรือ Zingiberales ประกอบด้วย 8 วงศ์ (family) ด้วยกัน คือ
1.วงศ์ Musaceae ได้แก่ กล้วยทั้งหลาย ที่ใช้รับประทาน
2.วงศ์ Strelitziaceae ได้แก่ กล้วยพัด
3. วงศ์ Heliconiaceae ได้แก่ เฮลิโคเนีย ก้ามกุ้ง ธรรมรักษา
4. วงศ์ Lowiaceae ได้แก่ พืชในสกุล Orchidantha ซึ่งไม่พบในประเทศไทย
5. วงศ์ Costaceae ได้แก่ เอื้องหมายนา
6. วงศ์ Zingiberaceae ได้แก่ พวกขิง ข่า ดาหลา
7. วงศ์ Marantaceae ได้แก่ คล้า สาคู สาคูด่าง แววมยุรา
8. วงศ์ Cannaceae ได้แก่ พุทธรักษา
ต่อไปนี้จะกล่าวถึงเฉพาะกล้วยในวงศ์ Musaceae ซึ่งมีทั้งกล้วยกินได้ และกล้วยประดับโดยแบ่งเป็น 3 สกุล (genus) ด้วยกัน คือ
1.สกุล Ensete (กล้วยโทน) เป็นกล้วยที่ไม่มีการแตกหน่อ จึงขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ในประเทศไทยไม่มีการนำมาบริโภค แต่ปลูกเพื่ออนุรักษ์พันธุ์หรือปลูกประดับตกแต่งสถานที่ให้ดูโดดเด่น สวยงาม ส่วนในประเทศแถบทวีปแอฟริกาจะนำแป้งที่ได้จากลำต้นมาใช้บริโภค กล้วยสกุล Enseteที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด (species) คือ
1.1 Ensete superba ได้แก่ กล้วยผา
1.2 Ensete glauca ได้แก่ กล้วยนวล กล้วยญวน
2. สกุล Musa เป็นกล้วยที่มีการแตกหน่อ จึงนิยมใช้หน่อในการขยายพันธุ์ ก็คือกล้วยที่กินได้ทั้งหลาย และกล้วยประดับ แบ่งออก เป็น 5 หมู่ (section) ได้แก่
-2.1 หมู่ Australimusa กล้วยชนิดนี้มีช่อดอกตั้ง มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบทวีปออสเตรเลีย จนถึงประเทศฟิลิปปินส์ เส้นใยของลำต้น (กาบใบ) มีความเหนียวทนทาน ใช้ทำเชือกมะนิลา หรือที่เรียกว่า Abaca หรือใช้ทำกระดาษ และทอเป็นเสื้อผ้า ส่วนกล้วย พีไอ(fei)มีแป้งมาก ใช้เป็นอาหารของผู้คนในหมู่เกาะแปชิฟิก
-2.2 หมู่ Callimusa มีถิ่นกำเนิดในอินโดจีน ที่พบเห็นในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นกล้วยประดับ ได้แก่กล้วยทหารพราน หรือกล้วยเลือด (Musa gracillis) ใบสีเขียว มีปื้นสีม่วงเข้ม ๆ กระจายทั่วใบมีลักษณะคล้ายหยดเลือดหรือลายพรางชุดทหารพราน เมื่อโตเต็มที่สีของปื้นอาจจางลงบ้าง มีช่อดอกตั้งขึ้น ผลมีขนาดเล็ก จึงเหมาะใช้ในการประดับเพราะมีใบสวยงาม ยังได้มีการนำกล้วยกัทลี หรือรัตกัทลี (Musa coccinea) เข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย มีใบประดับสีแดงเข้ม ช่อดอกตั้ง ใช้เป็นไม้ตัดดอกได้เป็นอย่างดี
-2.3 หมู่ Rhodochlamys มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตอนเหนือ อินโดจีน ส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม กล้วยบัว เพราะช่อดอกมีลักษณะคล้ายดอกบัว ใช้เป็นไม้ประดับ มีความสวยงาม ใบประดับมีสีสวยงามและสดใส กล้วยบัวที่มีใบประดับสีชมพูอมม่วง เรียกว่า กล้วยบัวสีชมพู (Musa ornata) หากมีใบประดับสีส้ม เรียกว่า กล้วยบัวสีส้ม (Musa laterita) ทั้ง 2 พันธุ์นี้เป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทย พบมากในภาคเหนือ นอกจาก 2 ชนิดนี้แล้ว ยังมีการนำเข้ากล้วยบัวสีม่วงและสีชมพูอ่อนจากต่างประเทศอีกด้วย
-2.4 หมู่ Eumusa มี 9-10 ชนิด มีทั้งกล้วยป่าและกล้วยกินได้ ซึ่งกล้วยกินได้ ที่พบเห็นกันทุกวันนี้ ล้วนถือกำเนิดมาจากกล้วย 2 ชนิดผสมกัน คือระหว่าง กล้วยป่า(Musa acuminata) ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับกล้วยตานี(Musa balbisiana) มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย หรือเอเชียใต้ ทำให้เกิดพันธุ์กล้วยลูกผสมโดยผ่านวิวัฒนาการอันยาวนานนับหลายพันปี ตลอดจนยังอาจเกิดจากการกลายพันธุ์ ทำให้เกิดพันธุ์ต่าง ๆ มากกว่า 100 สายพันธุ์ในโลกนี้ นอกจากนั้นธรรมชาติยังมีความเมตตาต่อมนุษย์และสรรพสัตว์ โดยการพัฒนาจากกล้วยที่มีเมล็ด เป็นกล้วยที่ไม่มีเมล็ด ทำให้การรับประทานกล้วยกันในปัจจุบันช่างเป็นไปอย่างง่ายดายจริง ๆ
ปัจจุบันจึงมีการแยกชนิดของกล้วยโดยใช้จีโนม (genome) ซึ่งเป็นตัวกำหนดพันธุกรรม มีทั้งกล้วยสำหรับรับประทานและกล้วยปลูกประดับ แต่สำหรับกล้วยรับประทานได้นั้นเพื่อให้ชัดเจน เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
• กล้วย Musa acuminate ได้แก่ กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง
• กลุ่ม Musa balbisiana ได้แก่ กล้วยตานี หรือกล้วยป่า ในกลุ่มนี้มีพันธุ์ลูกผสม ได้แก่ กล้วยน้ำว้าเหลือง กล้วยน้ำว้าแดง กล้วยน้ำว้าขาว เป็นต้น
-2.5 หมู่ Ingentimusa พบในปาปัวนิวกินีบนที่สูงระหว่าง 1,000-2,100 เมตร จากระดับน้ำทะเล
3. สกุล Musella เป็นกล้วยที่จัดอยู่ในสกุลใหม่ มีลักษณะลำต้นเตี้ย อ้วน ๆ คล้ายกล้วยผา แต่มีการแตกกอที่เกิดจากมุมระหว่างใบ มีช่อดอกตั้งขึ้น ขนาดของดอกใหญ่ และกลีบใบประดับสีเหลืองสดใส เช่น กล้วยคุนหมิง
ส่วนประกอบของต้นกล้วย
กล้วยแต่ละต้นเจริญเติบโตมาจากตาที่มีอยู่ตามโคนของต้นเก่าที่ให้ผลมาแล้ว ตากล้วยอยู่ที่เหง้า(bulb)ใต้ระดับดินจะเจริญขึ้นมา มีตาเจริญเติบโตพร้อมกันหลาย ๆ ตา แต่ละตามีอายุต่างกัน ตาจะขยายขึ้นจนแทงโผล่พ้นผิวดินขึ้นมาเป็นหน่อแหลมเล็ก ๆ จนกระทั่งเป็นหน่อสูงประมาณ 60-100 เซนติเมตร หน่อกล้วยก็จะเริ่มคลี่ใบแคบ ๆ ออกมา เรียกหน่อระยะนี้ว่าหน่อใบแคบหรือหน่อใบดาบ(sword sucker) เมื่อโคนหน่อบวมเต่งอ้วน ๆ ถือเป็นระยะดีที่สุดในการแยกหน่อออกจากต้นแม่เพื่อใช้ปลูกขยายพันธุ์ในสวนต่อไป
• ราก พบรากแก้วปรากฏอยู่ในช่วงแรกของการเติบโตหรือระยะต้นกล้า ต่อมาเปลี่ยนเป็นรากฝอย ต้นกล้วยที่สมบรูณ์อาจมีจำนวนรากมากถึง 400 ราก โดยประสานเป็นรากแหอยู่บริเวณผิวหน้าดินตื้น ๆ หรือลึกลงไปในดินประมาณ 15 เซนติเมตร แต่บางครั้งอาจพบอยู่ระดับลึกถึง 75 เซนติเมตร
• ลำต้นเทียม (pseudostem) ส่วนที่เรามักเรียกกันว่าลำต้นกล้วยนั้น แท้ที่จริงคือส่วนของกาบใบที่ประกบกันแน่น กาบใบที่อยู่รอบโคนกล้วยเป็นเนื้อเยื่อที่มีขนาดใหญ่ หนา อวบอิ่มไปด้วยน้ำเลี้ยง เพราะใบใหม่ทยอยเติบโตขึ้นมาเบียดเสียดกันแน่นที่ใจกลางของลำต้น กาบใบที่เจริญยาวขึ้นมานี้แหละ จะกลายเป็นลำต้นกล้วยเทียม ที่อาจสูงได้ถึง 3-4 เมตร ส่วนลำต้นที่แท้จริงคือเหง้าที่อยู่ใต้ดินต่างหาก
• ใบ มีลักษณะตั้งฉากกับลำต้นแล้วค่อย ๆ ลู่ลง ขนาดใบกว้าง 70-100 เซนติเมตรยาวประมาณ 1.50-4.00 เมตร ซึ่งยาวประมาณ 2-4.5 เท่าของความกว้างใบ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อายุ สภาพแวดล้อม ปกติใบจะเกิดขึ้นมาใหม่ทุก ๆ 7-10 วัน เพื่อทดแทนใบเก่าที่ตายไป รวมจำนวนใบตั้งแต่เป็นหน่อจนกระทั่งถึงช่วงก่อนเกิดช่อดอกจะมีใบทั้งหมดประมาณ 35-40 ใบต่อต้น ช่วงแรกใบจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อต้นมีอายุมากขึ้นและจะมีขนาดลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อกล้วยเริ่มให้ช่อดอก หลังจากนั้นก็จะไม่มีใบใหม่เกิดขึ้นมาอีก ดังนั้นกล้วยจึงต้องมีใบอย่างน้อย 39 ใบ จึงจะแทงช่อดอกได้ ใบสุดท้ายนี้เรียกว่า ใบธง นั่นเอง
• ช่อดอก หลังปลูกกล้วยแล้ว 7-8 เดือน กล้วยก็จะเกิดมีช่อดอก ให้สังเกตการเกิดใบธง ใบสุดท้ายก่อนออกดอก ระยะนี้ตาดอกที่อยู่กลางเหง้าใต้ดิน จะเจริญเติบโตทะลุเหง้าผ่านกลางลำต้นเหนือดิน ใช้เวลาประมาณ 30 วันจนกระทั่งถึงปลายยอดกล้วย หลังจากที่มีช่อดอกโผล่ออกมาจากส่วนยอดแล้ว ตาที่อยู่บริเวณโคนกาบปลีซึ่งเป็นส่วนที่ออกผลนั้นจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ช่วงก้านเครือระหว่างหวีจะยืดห่างออกจากกัน กาบปลีเปิดออกทีละกาบสามารถมองเห็นดอกตัวเมีย ต่อมาจึงเจริญเป็นหวีกล้วยและเป็นเครือกล้วยต่อไป
• ผล ผลกล้วยเป็น berry ใช้เวลาตั้งแต่เกิดช่อดอกจนกระทั่งถึงวันตัดเครือประมาณ 90 วัน (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) กล้วยป่าต้องได้รับการผสมพันธุ์ก่อนจึงจะติดผลได้ และเมื่อผลกล้วยป่าแก่จึงพบเมล็ดสีดำอยู่ข้างในมากมาย ส่วนกล้วยที่ปลูกเพื่อการค้าใช้ปริโภคทั่วไปนั้นจะติดผลโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการผสมเกสรเพราะเกสรตัวเมียเป็นหมัน เมล็ดไม่มีการพัฒนาแต่เหี่ยวเป็นจุดสีน้ำตาลเล็ก ๆ ปรากฏในผล ผลกล้วยทั้งหมดบนก้านดอกรวมเรียกว่า เครือ(bunch) ผลกกล้วยแต่ละกลุ่มแต่ละข้อเรียกว่า หวีกล้วย (hand) ส่วนแต่ละผลเรียกว่า ผลกล้วย(finger) กล้วยเครือหนึ่ง ๆ อาจมีจำนวนหวีตั้งแต่ 5 - 15 หวี แต่ละหวีมีจำนวนผลตั้งแต่ 5 – 20 ผล ขนาดของผลเมื่อโตเต็มที่เฉลี่ยกว้างประมาณ 2.5-5.0 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 – 15 เซนติเมตร ดังนั้นคุณภาพกล้วยจึงหมายถึงจำนวนของหวีกล้วยในเครือหนึ่ง ๆ นอกจากนั้นแล้วกล้วยแต่ละพันธุ์ยังมีความแตกต่างของผลในด้านสีของเปลือก เนื้อผล ขนาด รูปร่าง รสชาติ ความละเอียดของเนื้อที่ไม่เหมือนกัน ในกล้วยที่ใช้รับประทานสดจะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่า ในขณะที่กล้วยที่ใช้ปรุงอาหารมีปริมาณแป้งอยู่มากกว่าเช่นกัน