เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่อยู่เคียงคู่กับคนไทยมาช้านาน จึงก่อให้เกิดความผูกพัน ความเชื่อที่น่าสนใจมากหลายประการเช่น หญิงแม่ลูกอ่อนต้องรับประทานแกงหัวปลีจะทำให้มีปริมาณน้ำนมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตามหลักโภชนาการแล้วในหัวปลีอุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร เกลือแร่ วิตามินต่าง ๆ โดยเฉพาะธาตุเหล็กที่ใช้บำรุงเลือด และเพิ่มน้ำนม หรือความเชื่อเกี่ยวกับผู้หญิงกำลังตั้งท้องที่กลัวการเกิดลูกแฝด ก็จะหลีกเลี่ยงการกินกล้วยแฝดเป็นต้น ความเชื่อเรื่องนางพรายตานีเป็นผีผู้หญิง หน้าตาสวยงาม ผิวขาว อาศัยอยู่ในต้นกล้วยตานีมักปรากฏตัวให้ผู้คนพบเห็นอยู่เสมอ ถ้ากล้วยตานีออกปลีกลางต้น ก็ถือกันว่ากล้วยตานีนั้นเกิดมีพรายนางตานีขึ้นแล้ว กล้วยตานีที่ออกปลีกลางต้นนี้ บางความเชื่อกล่าวว่า...พวกชายหนุ่มที่ยังเป็นโสดอยู่ ถ้าเป็นผู้รู้เรื่องเกี่ยวกับพรายนางตานี ก็จะไปทำพิธีเซ่นวัก แล้วไปที่ต้นกล้วยตานีในยามค่ำคืน เพื่อกล่าวคำเกี้ยวจีบประเล้าประโลมพรายนางตานี เพียรพยายามจนกว่าพรายนางตานีจะใจอ่อนเห็นอกเห็นใจ รับรักชายหนุ่ม จากนั้นใช้มีดเฉือนโคนกล้วยที่มีลักษณะเป็นเหมือนเหง้า เอามาก้อนหนึ่งแกะสลักเป็นรูปผู้หญิงใส่ตลับหรือภาชนะอื่นไว้ แล้วเซ่นวักทุกเช้าเย็น ทำอย่างนี้อยู่หลาย ๆ วัน พรายนางตานีก็จะปรากฏร่างให้เห็นในความฝัน เป็นผู้หญิงสาวรูปร่างหน้าตาสวยงดงาม สมดั่งใจที่ในห้วงจินตนาการมาก่อน แล้วนางจึงยอมตนเป็นเมียผู้นั้น อีกความเชื่อหนึ่งกล่าวว่ายามใดกล้วยตานีแทงปลีออกกลางลำต้น เชื่อว่ามีกุมารทองสิงสถิติอยู่ หากผู้ใดนำไปเลี้ยงดูแลรักษาให้ดีจะให้คุณแก่ผู้นั้น เช่นเดียวกับกุมารทองที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่องขุนช้าง-ขุนแผนเลยทีเดียว
กล้วยตกเครือกลางลำต้นดีอย่างไร
มักจะมีข่าวปรากฏตามสื่อต่าง ๆ อยู่เสมอเกี่ยวกับผู้คนแตกตื่นไปจุดธูปเทียนบูชา กราบไหว้ต้นกล้วยประหลาดออกหัวปลีคล้ายพญานาคบ้าง ออกลูกตกเครือกลางลำต้นบ้าง ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติ เพื่อขอโชคลาภเงินทอง จากปรากฏการณ์เหล่านี้แท้ที่จริงแล้ว เกิดจากต้นกล้วยเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมที่จะตกเครือออกผล แต่ปรากฏว่าในระยะนั้นแกนกลางลำต้นหรือส่วนยอดได้รับอันตราย จากการถูกทำลายโดยสาเหตุต่าง ๆ เช่นหนอนหรือแมลงกัดกิน หรือคล้าย ๆ กับมีสิ่งอื่นใดมาปิดกั้นแกนกลางของกล้วยเอาไว้ก้านไม่ให้ขึ้นไปที่ส่วนของปลายยอดได้ เมื่อช่อดอกที่แทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดินมาเจอกับสิ่งที่กั้นเอาไว้ก็เลยต้องพยายามดันหรือเบ่งจนกระทั่งลำต้นปริแตกเป็นทางยาว ให้หน่อหรือปลีกล้วยแทงออกที่รอยแผลด้านข้างของลำต้นใต้บริเวณจุดที่เกิดเหตุ จากนั้นจึงเจริญเติบโตต่อไปได้ตามปกติ
จากปรากฏการณ์เช่นนี้ เราสามารถนำไปประยุกษ์เพื่อกำหนดหรือบังคับให้กล้วยออกเครือกลางลำต้นได้ตามที่เราต้องการ น่าจะส่งผลดีต่อวงการเกษตร กลุ่มผู้ปลูกกล้วย เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป ทั้งนี้การปลูกกล้วยในระบบเชิงการค้าส่วนใหญ่มักประสบกับปัญหาต้นกล้วยคอหักเมื่อตอนตกเครือ เนื่องจากเครือกล้วยมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเจอพายุพัดกระหน่ำซ้ำเข้าไปอีก ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย จึงต้องป้องกันโดยหาไม้ไผ่มาค้ำยันต้นกล้วย ให้แข็งแรง ทำให้ต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาเหล่านี้ หากสามารถลดระดับการออกเครือให้ต่ำลงมา แทนการออกเครือบนปลายยอดของลำต้นได้แล้ว ต่อจากนั้นจึงค่อยมีการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ดี ก็จะสามารถช่วยลดความเสียหายจากต้นกล้วยคอหัก ช่วยลดต้นทุนการผลิตลง อีกทั้งสะดวกในการบริหารจัดการในแปลงปลูก ได้แก่ การพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช การพ่นธาตุอาหาร ฮอร์โมนพืช การห่อเครือ การเก็บเกี่ยวผลผลิต แม้กระทั่งการกำหนดทิศทางของการตกเครือให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการได้ จึงส่งผลดีต่อการผลิตกล้วยให้มีคุณภาพ สู่มาตรฐานสากล
ขั้นตอนการบังคับกล้วยตกเครือกลางลำต้น
1. เลือกแปลงปลูกกล้วยที่มีอายุ 7 เดือนขึ้นไป
2. สังเกตการเกิดใบธงของกล้วย โดยอาศัยหลักการทั่วไปว่า ใบกล้วยในช่วงการเจริญเติบโตจะมีขนาดและจำนวนเพิ่มขึ้นจนถึงใบที่ 33 หลังจากนั้นใบจะเริ่มเล็กลงประมาณ 6-8ใบ จากนั้นจึงออกดอก(ปลี) ดังนั้นกล้วยจะต้องมีใบอย่างน้อย 39 ใบจึงจะแทงช่อดอก แต่ในทางปฏิบัติจริงไม่สามารถนับจำนวนใบตั้งแต่ใบที่ 1 ถึงใบที่ 33ได้ เนื่องจากมีความยุ่งยากในการจดจำและมีความคลาดเคลื่อนในวันปลูก อีกทั้งไม่สามารถนำไปปฏิบัติจริงในแปลงเกษตรกรได้ จึงอาศัยการสังเกตขนาดใบที่ยังม้วนอยู่โดยลักษณะการม้วนจะหลวม ๆ และมีขนาดสั้นลง มองได้โดยสายตาอย่างชัดเจน ซึ่งต่างจากการม้วนของใบในช่วงการเจริญเติบโตจะมีลักษณะม้วนแน่น ยาวใกล้เคียงกับใบปกติ
3. ทำการเจาะลำต้น โดยสังเกตใบม้วนด้านที่มีการทับซ้อนกันอยู่ ใบกล้วยขณะม้วนอยู่ ส่วนขาวจะม้วนทับซ้ายแล้วจะคลี่จากปลาย ลงมาหาโคนใบ ในฤดูร้อนใบกล้วยใช้เวลาคลี่ 4 วัน ฤดูหนาวใช้เวลา 14 วัน ดังนั้นให้สังเกตด้านที่ใบมีการทับซ้อนกัน นั้นคือด้านที่ปลีกล้วยจะโค้งโผล่ออกมา และด้านนี้เองร่องของใบธงจะโอบก้านเครือกล้วยไว้โดยธรรมชาติเพื่อป้องกันปลีอ่อนถูกกระทบกระเทือน แล้วจึงทำการเจาะลำต้นด้านนี้ด้วยมีดปลายแหลม ให้มีแผลกว้าง 9 เซนติเมตร ยาว 15 เซนติเมตร เจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามความยาวของลำต้น แล้วแกะกาบกล้วยออกเป็นชั้น ๆ จนกระทั่งพบแกนกลางของต้นกล้วย จากนั้นตัดแกนกลางออกเท่ากับความยาวของแผล แล้วจึงใช้วัสดุพลาสติกแผ่นแข็ง(ฟิวเจอร์บอร์ด) กว้างประมาณ 8-9 เซนติเมตร สอดเข้าไปเพื่อกั้นแกนกลางลำต้นกล้วยด้านบนของแผล จากนั้นตาดอกที่อยู่กลางเหง้าใต้ดินจะเจริญเติบโตผ่านกลางลำต้นเหนือดินแล้วโผล่ออกมาทางยอดใช้เวลาประมาณ 30 วัน เมื่อตาดอกปลีกล้วยงอกจากเหง้าใต้ดินขึ้นมาชนกับแผ่นพลาสติกที่กั้นไว้ จึงทำให้หน่อหรือปลีกล้วยเลี้ยวโค้งออกมา ปรากฏให้เห็นเครือกล้วยออกกลางลำต้น
4. ติดป้ายบอกวันที่ /เดือน / ปี ที่ทำการเจาะลำต้นเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในพื้นที่ของตนเอง
5. ให้ทำการพ่นสารป้องกันเชื้อราและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช บริเวณแผลที่ทำการเจาะทันทีด้วย เมทาแลกซิล (Metalaxyl) ผสมกับอะบาเม็กติน(Abamactin) ตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในฉลาก หลังจากนั้นฉีดพ่นทุกอาทิตย์ เพื่อป้องกันโรคตายพราย โรคเหี่ยวของกล้วย ด้วงงวงไชเหง้า ไชลำต้น ไชกาบใบ เป็นต้น
6.บำรุงรักษาลำต้นด้วยการให้น้ำ ให้ปุ๋ย ตัดแต่งใบแก่ ให้เหลือใบไว้บนลำต้นประมาณ 8-10 ใบ และตัดหน่อกล้วยออกทิ้ง ในกล้วยหอม กล้วยไข่ ให้ไว้เฉพาะต้นแม่เพียงหนึ่งต้น ส่วนกล้วยน้ำว้ายอมให้มีหน่อได้ไม่เกิน 2-3 หน่อต่อต้น
ข้อมูลคุณภาพผลผลิต
จำนวนวันตั้งแต่วันที่ทำการเจาะลำต้นถึงวันออกปลี ในกล้วยหอมใช้เวลาเฉลี่ย 29.05 วัน กล้วยไข่ เฉลี่ยใช้เวลา 53.21 วัน และกล้วยน้ำว้า เฉลี่ย ใช้เวลา 86.73 วัน
จำนวนวันตั้งแต่วันที่กล้วยออกปลี ถึงวันเก็บเกี่ยว ในกล้วยไข่ใช้เวลาเฉลี่ย 59.38 วัน กล้วยหอมใช้เวลา เฉลี่ย 72.22 วัน และกล้วยน้ำว้าใช้เวลา เฉลี่ย 96.33 วัน
จำนวนผลกล้วยต่อเครือ ในกล้วยน้ำว้าเฉลี่ยเท่ากับ 139.24 ผล กล้วยไข่เฉลี่ยเท่ากับ 104.9 ผล และกล้วยหอม เฉลี่ยเท่ากับ 67.99 ผล
ภาพประกอบ ขั้นตอนการบังคับกล้วยตกเครือกลางลำต้น
เอกสารอ้างอิง
เกสร สุนทรเสรี. 2540. กล้วยพืชสารพันประโยชน์. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช น 71.
ชำนาญ ทองกลัด และธำรง ช่วยเจริญ . 2542. ประวัติกล้วยและการดูแลรักษา น 44. ใน กล้วยในเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน
นิคม วงศ์นันตา และคณะ.2556. การบังคับกล้วยหอม กล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้าตกเครือกลางลำต้น.รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์: เชียงใหม่. มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ลุงพี.2553.มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ.บ้านสวนพอเพียง[ออนไลน์].แหล่งที่มา http://www.bansuanporpeang.com/node/5258 (7 สิงหาคม 2554)
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.มปป. การจำแนกชนิดของกล้วย เล่มที่๓๐ /เรื่องที่๖กล้วย ออนไลน์[แหล่งที่มา] http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=30&;chap=6&page=t30-6-infodetail03.html (1 เมย. 2556)
สมรรถชัย ฉัตราคม. 2542. พันธุ์กล้วยในเมืองไทย.น29. ใน กล้วยในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.2556. นางตานี.[ออนไลน์].แหล่งที่มาhttp://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5 (8 เมษายน 2556)
- << ก่อนหน้า
- ต่อไป