[notice class="notice"]กล้วยตกเครือกลางลำต้น[/notice]
โดยนายนิคม วงศ์นันตา*
นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่
กล้วย เป็นผลไม้ที่คนไทยคุ้นเคย รู้จักกันดีทุกคนไม่ว่าจะเป็นยาจก เศรษฐี ยากดีมีจน เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ทุกชนชั้น ทุกสาขาอาชีพ เพราะกล้วยล้วนแล้วแต่เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกชีวิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม แม้ว่าปัจจุบันความสำคัญของกล้วยอาจลดลงไปบ้างตามกาลเวลาตามกระแสการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่สามารถประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่าง ๆ มาทดแทนต้นพืชที่มากด้วยคุณค่าที่ชื่อว่า “ กล้วย ” ก็ตาม หากพิจารณาถึงสารพันประโยชน์ที่พืชชนิดนี้มอบให้แก่มวลมนุษย์แล้ว ช่างมากมายเหลือเกิน แต่กล้วยกลับเป็นพืชที่ค่อนข้างอาภัพ ถูกมองข้ามจากผู้ที่ใช้ประโยชน์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่ากล้วยสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพทั่วๆไป ซึ่งเราพบเห็นกล้วยตั้งแต่ริมทะเลจนกระทั่งบนภูเขาสูง นี่คือความสามารถของกล้วยสุดยอดแห่งการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นเมืองไทยของเรายังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดของสายพันธุ์กล้วย ที่มีความสำคัญในแง่ของความหลากหลายทางพันธุกรรมอีกด้วย
มารู้จักเครือญาติของกล้วยกันก่อน
กล้วย(banana) เป็นพืชล้มลุกที่มีขนาดใหญ่ จัดอยู่ในอันดับ (order) Scitamineae หรือ Zingiberales ประกอบด้วย 8 วงศ์ (family) ด้วยกัน คือ
1.วงศ์ Musaceae ได้แก่ กล้วยทั้งหลาย ที่ใช้รับประทาน
2.วงศ์ Strelitziaceae ได้แก่ กล้วยพัด
3. วงศ์ Heliconiaceae ได้แก่ เฮลิโคเนีย ก้ามกุ้ง ธรรมรักษา
4. วงศ์ Lowiaceae ได้แก่ พืชในสกุล Orchidantha ซึ่งไม่พบในประเทศไทย
5. วงศ์ Costaceae ได้แก่ เอื้องหมายนา
6. วงศ์ Zingiberaceae ได้แก่ พวกขิง ข่า ดาหลา
7. วงศ์ Marantaceae ได้แก่ คล้า สาคู สาคูด่าง แววมยุรา
8. วงศ์ Cannaceae ได้แก่ พุทธรักษา
ต่อไปนี้จะกล่าวถึงเฉพาะกล้วยในวงศ์ Musaceae ซึ่งมีทั้งกล้วยกินได้ และกล้วยประดับโดยแบ่งเป็น 3 สกุล (genus) ด้วยกัน คือ
1.สกุล Ensete (กล้วยโทน) เป็นกล้วยที่ไม่มีการแตกหน่อ จึงขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ในประเทศไทยไม่มีการนำมาบริโภค แต่ปลูกเพื่ออนุรักษ์พันธุ์หรือปลูกประดับตกแต่งสถานที่ให้ดูโดดเด่น สวยงาม ส่วนในประเทศแถบทวีปแอฟริกาจะนำแป้งที่ได้จากลำต้นมาใช้บริโภค กล้วยสกุล Enseteที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด (species) คือ
1.1 Ensete superba ได้แก่ กล้วยผา
1.2 Ensete glauca ได้แก่ กล้วยนวล กล้วยญวน
2. สกุล Musa เป็นกล้วยที่มีการแตกหน่อ จึงนิยมใช้หน่อในการขยายพันธุ์ ก็คือกล้วยที่กินได้ทั้งหลาย และกล้วยประดับ แบ่งออก เป็น 5 หมู่ (section) ได้แก่
-2.1 หมู่ Australimusa กล้วยชนิดนี้มีช่อดอกตั้ง มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบทวีปออสเตรเลีย จนถึงประเทศฟิลิปปินส์ เส้นใยของลำต้น (กาบใบ) มีความเหนียวทนทาน ใช้ทำเชือกมะนิลา หรือที่เรียกว่า Abaca หรือใช้ทำกระดาษ และทอเป็นเสื้อผ้า ส่วนกล้วย พีไอ(fei)มีแป้งมาก ใช้เป็นอาหารของผู้คนในหมู่เกาะแปชิฟิก
-2.2 หมู่ Callimusa มีถิ่นกำเนิดในอินโดจีน ที่พบเห็นในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นกล้วยประดับ ได้แก่กล้วยทหารพราน หรือกล้วยเลือด (Musa gracillis) ใบสีเขียว มีปื้นสีม่วงเข้ม ๆ กระจายทั่วใบมีลักษณะคล้ายหยดเลือดหรือลายพรางชุดทหารพราน เมื่อโตเต็มที่สีของปื้นอาจจางลงบ้าง มีช่อดอกตั้งขึ้น ผลมีขนาดเล็ก จึงเหมาะใช้ในการประดับเพราะมีใบสวยงาม ยังได้มีการนำกล้วยกัทลี หรือรัตกัทลี (Musa coccinea) เข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย มีใบประดับสีแดงเข้ม ช่อดอกตั้ง ใช้เป็นไม้ตัดดอกได้เป็นอย่างดี
-2.3 หมู่ Rhodochlamys มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตอนเหนือ อินโดจีน ส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม กล้วยบัว เพราะช่อดอกมีลักษณะคล้ายดอกบัว ใช้เป็นไม้ประดับ มีความสวยงาม ใบประดับมีสีสวยงามและสดใส กล้วยบัวที่มีใบประดับสีชมพูอมม่วง เรียกว่า กล้วยบัวสีชมพู (Musa ornata) หากมีใบประดับสีส้ม เรียกว่า กล้วยบัวสีส้ม (Musa laterita) ทั้ง 2 พันธุ์นี้เป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทย พบมากในภาคเหนือ นอกจาก 2 ชนิดนี้แล้ว ยังมีการนำเข้ากล้วยบัวสีม่วงและสีชมพูอ่อนจากต่างประเทศอีกด้วย
-2.4 หมู่ Eumusa มี 9-10 ชนิด มีทั้งกล้วยป่าและกล้วยกินได้ ซึ่งกล้วยกินได้ ที่พบเห็นกันทุกวันนี้ ล้วนถือกำเนิดมาจากกล้วย 2 ชนิดผสมกัน คือระหว่าง กล้วยป่า(Musa acuminata) ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับกล้วยตานี(Musa balbisiana) มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย หรือเอเชียใต้ ทำให้เกิดพันธุ์กล้วยลูกผสมโดยผ่านวิวัฒนาการอันยาวนานนับหลายพันปี ตลอดจนยังอาจเกิดจากการกลายพันธุ์ ทำให้เกิดพันธุ์ต่าง ๆ มากกว่า 100 สายพันธุ์ในโลกนี้ นอกจากนั้นธรรมชาติยังมีความเมตตาต่อมนุษย์และสรรพสัตว์ โดยการพัฒนาจากกล้วยที่มีเมล็ด เป็นกล้วยที่ไม่มีเมล็ด ทำให้การรับประทานกล้วยกันในปัจจุบันช่างเป็นไปอย่างง่ายดายจริง ๆ
ปัจจุบันจึงมีการแยกชนิดของกล้วยโดยใช้จีโนม (genome) ซึ่งเป็นตัวกำหนดพันธุกรรม มีทั้งกล้วยสำหรับรับประทานและกล้วยปลูกประดับ แต่สำหรับกล้วยรับประทานได้นั้นเพื่อให้ชัดเจน เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
• กล้วย Musa acuminate ได้แก่ กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง
• กลุ่ม Musa balbisiana ได้แก่ กล้วยตานี หรือกล้วยป่า ในกลุ่มนี้มีพันธุ์ลูกผสม ได้แก่ กล้วยน้ำว้าเหลือง กล้วยน้ำว้าแดง กล้วยน้ำว้าขาว เป็นต้น
-2.5 หมู่ Ingentimusa พบในปาปัวนิวกินีบนที่สูงระหว่าง 1,000-2,100 เมตร จากระดับน้ำทะเล
3. สกุล Musella เป็นกล้วยที่จัดอยู่ในสกุลใหม่ มีลักษณะลำต้นเตี้ย อ้วน ๆ คล้ายกล้วยผา แต่มีการแตกกอที่เกิดจากมุมระหว่างใบ มีช่อดอกตั้งขึ้น ขนาดของดอกใหญ่ และกลีบใบประดับสีเหลืองสดใส เช่น กล้วยคุนหมิง
ส่วนประกอบของต้นกล้วย
กล้วยแต่ละต้นเจริญเติบโตมาจากตาที่มีอยู่ตามโคนของต้นเก่าที่ให้ผลมาแล้ว ตากล้วยอยู่ที่เหง้า(bulb)ใต้ระดับดินจะเจริญขึ้นมา มีตาเจริญเติบโตพร้อมกันหลาย ๆ ตา แต่ละตามีอายุต่างกัน ตาจะขยายขึ้นจนแทงโผล่พ้นผิวดินขึ้นมาเป็นหน่อแหลมเล็ก ๆ จนกระทั่งเป็นหน่อสูงประมาณ 60-100 เซนติเมตร หน่อกล้วยก็จะเริ่มคลี่ใบแคบ ๆ ออกมา เรียกหน่อระยะนี้ว่าหน่อใบแคบหรือหน่อใบดาบ(sword sucker) เมื่อโคนหน่อบวมเต่งอ้วน ๆ ถือเป็นระยะดีที่สุดในการแยกหน่อออกจากต้นแม่เพื่อใช้ปลูกขยายพันธุ์ในสวนต่อไป
• ราก พบรากแก้วปรากฏอยู่ในช่วงแรกของการเติบโตหรือระยะต้นกล้า ต่อมาเปลี่ยนเป็นรากฝอย ต้นกล้วยที่สมบรูณ์อาจมีจำนวนรากมากถึง 400 ราก โดยประสานเป็นรากแหอยู่บริเวณผิวหน้าดินตื้น ๆ หรือลึกลงไปในดินประมาณ 15 เซนติเมตร แต่บางครั้งอาจพบอยู่ระดับลึกถึง 75 เซนติเมตร
• ลำต้นเทียม (pseudostem) ส่วนที่เรามักเรียกกันว่าลำต้นกล้วยนั้น แท้ที่จริงคือส่วนของกาบใบที่ประกบกันแน่น กาบใบที่อยู่รอบโคนกล้วยเป็นเนื้อเยื่อที่มีขนาดใหญ่ หนา อวบอิ่มไปด้วยน้ำเลี้ยง เพราะใบใหม่ทยอยเติบโตขึ้นมาเบียดเสียดกันแน่นที่ใจกลางของลำต้น กาบใบที่เจริญยาวขึ้นมานี้แหละ จะกลายเป็นลำต้นกล้วยเทียม ที่อาจสูงได้ถึง 3-4 เมตร ส่วนลำต้นที่แท้จริงคือเหง้าที่อยู่ใต้ดินต่างหาก
• ใบ มีลักษณะตั้งฉากกับลำต้นแล้วค่อย ๆ ลู่ลง ขนาดใบกว้าง 70-100 เซนติเมตรยาวประมาณ 1.50-4.00 เมตร ซึ่งยาวประมาณ 2-4.5 เท่าของความกว้างใบ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อายุ สภาพแวดล้อม ปกติใบจะเกิดขึ้นมาใหม่ทุก ๆ 7-10 วัน เพื่อทดแทนใบเก่าที่ตายไป รวมจำนวนใบตั้งแต่เป็นหน่อจนกระทั่งถึงช่วงก่อนเกิดช่อดอกจะมีใบทั้งหมดประมาณ 35-40 ใบต่อต้น ช่วงแรกใบจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อต้นมีอายุมากขึ้นและจะมีขนาดลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อกล้วยเริ่มให้ช่อดอก หลังจากนั้นก็จะไม่มีใบใหม่เกิดขึ้นมาอีก ดังนั้นกล้วยจึงต้องมีใบอย่างน้อย 39 ใบ จึงจะแทงช่อดอกได้ ใบสุดท้ายนี้เรียกว่า ใบธง นั่นเอง
• ช่อดอก หลังปลูกกล้วยแล้ว 7-8 เดือน กล้วยก็จะเกิดมีช่อดอก ให้สังเกตการเกิดใบธง ใบสุดท้ายก่อนออกดอก ระยะนี้ตาดอกที่อยู่กลางเหง้าใต้ดิน จะเจริญเติบโตทะลุเหง้าผ่านกลางลำต้นเหนือดิน ใช้เวลาประมาณ 30 วันจนกระทั่งถึงปลายยอดกล้วย หลังจากที่มีช่อดอกโผล่ออกมาจากส่วนยอดแล้ว ตาที่อยู่บริเวณโคนกาบปลีซึ่งเป็นส่วนที่ออกผลนั้นจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ช่วงก้านเครือระหว่างหวีจะยืดห่างออกจากกัน กาบปลีเปิดออกทีละกาบสามารถมองเห็นดอกตัวเมีย ต่อมาจึงเจริญเป็นหวีกล้วยและเป็นเครือกล้วยต่อไป
• ผล ผลกล้วยเป็น berry ใช้เวลาตั้งแต่เกิดช่อดอกจนกระทั่งถึงวันตัดเครือประมาณ 90 วัน (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) กล้วยป่าต้องได้รับการผสมพันธุ์ก่อนจึงจะติดผลได้ และเมื่อผลกล้วยป่าแก่จึงพบเมล็ดสีดำอยู่ข้างในมากมาย ส่วนกล้วยที่ปลูกเพื่อการค้าใช้ปริโภคทั่วไปนั้นจะติดผลโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการผสมเกสรเพราะเกสรตัวเมียเป็นหมัน เมล็ดไม่มีการพัฒนาแต่เหี่ยวเป็นจุดสีน้ำตาลเล็ก ๆ ปรากฏในผล ผลกล้วยทั้งหมดบนก้านดอกรวมเรียกว่า เครือ(bunch) ผลกกล้วยแต่ละกลุ่มแต่ละข้อเรียกว่า หวีกล้วย (hand) ส่วนแต่ละผลเรียกว่า ผลกล้วย(finger) กล้วยเครือหนึ่ง ๆ อาจมีจำนวนหวีตั้งแต่ 5 - 15 หวี แต่ละหวีมีจำนวนผลตั้งแต่ 5 – 20 ผล ขนาดของผลเมื่อโตเต็มที่เฉลี่ยกว้างประมาณ 2.5-5.0 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 – 15 เซนติเมตร ดังนั้นคุณภาพกล้วยจึงหมายถึงจำนวนของหวีกล้วยในเครือหนึ่ง ๆ นอกจากนั้นแล้วกล้วยแต่ละพันธุ์ยังมีความแตกต่างของผลในด้านสีของเปลือก เนื้อผล ขนาด รูปร่าง รสชาติ ความละเอียดของเนื้อที่ไม่เหมือนกัน ในกล้วยที่ใช้รับประทานสดจะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่า ในขณะที่กล้วยที่ใช้ปรุงอาหารมีปริมาณแป้งอยู่มากกว่าเช่นกัน
ความเชื่อเรื่องกล้วยของคนไทย
เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่อยู่เคียงคู่กับคนไทยมาช้านาน จึงก่อให้เกิดความผูกพัน ความเชื่อที่น่าสนใจมากหลายประการเช่น หญิงแม่ลูกอ่อนต้องรับประทานแกงหัวปลีจะทำให้มีปริมาณน้ำนมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตามหลักโภชนาการแล้วในหัวปลีอุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร เกลือแร่ วิตามินต่าง ๆ โดยเฉพาะธาตุเหล็กที่ใช้บำรุงเลือด และเพิ่มน้ำนม หรือความเชื่อเกี่ยวกับผู้หญิงกำลังตั้งท้องที่กลัวการเกิดลูกแฝด ก็จะหลีกเลี่ยงการกินกล้วยแฝดเป็นต้น ความเชื่อเรื่องนางพรายตานีเป็นผีผู้หญิง หน้าตาสวยงาม ผิวขาว อาศัยอยู่ในต้นกล้วยตานีมักปรากฏตัวให้ผู้คนพบเห็นอยู่เสมอ ถ้ากล้วยตานีออกปลีกลางต้น ก็ถือกันว่ากล้วยตานีนั้นเกิดมีพรายนางตานีขึ้นแล้ว กล้วยตานีที่ออกปลีกลางต้นนี้ บางความเชื่อกล่าวว่า...พวกชายหนุ่มที่ยังเป็นโสดอยู่ ถ้าเป็นผู้รู้เรื่องเกี่ยวกับพรายนางตานี ก็จะไปทำพิธีเซ่นวัก แล้วไปที่ต้นกล้วยตานีในยามค่ำคืน เพื่อกล่าวคำเกี้ยวจีบประเล้าประโลมพรายนางตานี เพียรพยายามจนกว่าพรายนางตานีจะใจอ่อนเห็นอกเห็นใจ รับรักชายหนุ่ม จากนั้นใช้มีดเฉือนโคนกล้วยที่มีลักษณะเป็นเหมือนเหง้า เอามาก้อนหนึ่งแกะสลักเป็นรูปผู้หญิงใส่ตลับหรือภาชนะอื่นไว้ แล้วเซ่นวักทุกเช้าเย็น ทำอย่างนี้อยู่หลาย ๆ วัน พรายนางตานีก็จะปรากฏร่างให้เห็นในความฝัน เป็นผู้หญิงสาวรูปร่างหน้าตาสวยงดงาม สมดั่งใจที่ในห้วงจินตนาการมาก่อน แล้วนางจึงยอมตนเป็นเมียผู้นั้น อีกความเชื่อหนึ่งกล่าวว่ายามใดกล้วยตานีแทงปลีออกกลางลำต้น เชื่อว่ามีกุมารทองสิงสถิติอยู่ หากผู้ใดนำไปเลี้ยงดูแลรักษาให้ดีจะให้คุณแก่ผู้นั้น เช่นเดียวกับกุมารทองที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่องขุนช้าง-ขุนแผนเลยทีเดียว
กล้วยตกเครือกลางลำต้นดีอย่างไร
มักจะมีข่าวปรากฏตามสื่อต่าง ๆ อยู่เสมอเกี่ยวกับผู้คนแตกตื่นไปจุดธูปเทียนบูชา กราบไหว้ต้นกล้วยประหลาดออกหัวปลีคล้ายพญานาคบ้าง ออกลูกตกเครือกลางลำต้นบ้าง ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติ เพื่อขอโชคลาภเงินทอง จากปรากฏการณ์เหล่านี้แท้ที่จริงแล้ว เกิดจากต้นกล้วยเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมที่จะตกเครือออกผล แต่ปรากฏว่าในระยะนั้นแกนกลางลำต้นหรือส่วนยอดได้รับอันตราย จากการถูกทำลายโดยสาเหตุต่าง ๆ เช่นหนอนหรือแมลงกัดกิน หรือคล้าย ๆ กับมีสิ่งอื่นใดมาปิดกั้นแกนกลางของกล้วยเอาไว้ก้านไม่ให้ขึ้นไปที่ส่วนของปลายยอดได้ เมื่อช่อดอกที่แทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดินมาเจอกับสิ่งที่กั้นเอาไว้ก็เลยต้องพยายามดันหรือเบ่งจนกระทั่งลำต้นปริแตกเป็นทางยาว ให้หน่อหรือปลีกล้วยแทงออกที่รอยแผลด้านข้างของลำต้นใต้บริเวณจุดที่เกิดเหตุ จากนั้นจึงเจริญเติบโตต่อไปได้ตามปกติ
จากปรากฏการณ์เช่นนี้ เราสามารถนำไปประยุกษ์เพื่อกำหนดหรือบังคับให้กล้วยออกเครือกลางลำต้นได้ตามที่เราต้องการ น่าจะส่งผลดีต่อวงการเกษตร กลุ่มผู้ปลูกกล้วย เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป ทั้งนี้การปลูกกล้วยในระบบเชิงการค้าส่วนใหญ่มักประสบกับปัญหาต้นกล้วยคอหักเมื่อตอนตกเครือ เนื่องจากเครือกล้วยมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเจอพายุพัดกระหน่ำซ้ำเข้าไปอีก ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย จึงต้องป้องกันโดยหาไม้ไผ่มาค้ำยันต้นกล้วย ให้แข็งแรง ทำให้ต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาเหล่านี้ หากสามารถลดระดับการออกเครือให้ต่ำลงมา แทนการออกเครือบนปลายยอดของลำต้นได้แล้ว ต่อจากนั้นจึงค่อยมีการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ดี ก็จะสามารถช่วยลดความเสียหายจากต้นกล้วยคอหัก ช่วยลดต้นทุนการผลิตลง อีกทั้งสะดวกในการบริหารจัดการในแปลงปลูก ได้แก่ การพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช การพ่นธาตุอาหาร ฮอร์โมนพืช การห่อเครือ การเก็บเกี่ยวผลผลิต แม้กระทั่งการกำหนดทิศทางของการตกเครือให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการได้ จึงส่งผลดีต่อการผลิตกล้วยให้มีคุณภาพ สู่มาตรฐานสากล
ขั้นตอนการบังคับกล้วยตกเครือกลางลำต้น
1. เลือกแปลงปลูกกล้วยที่มีอายุ 7 เดือนขึ้นไป
2. สังเกตการเกิดใบธงของกล้วย โดยอาศัยหลักการทั่วไปว่า ใบกล้วยในช่วงการเจริญเติบโตจะมีขนาดและจำนวนเพิ่มขึ้นจนถึงใบที่ 33 หลังจากนั้นใบจะเริ่มเล็กลงประมาณ 6-8ใบ จากนั้นจึงออกดอก(ปลี) ดังนั้นกล้วยจะต้องมีใบอย่างน้อย 39 ใบจึงจะแทงช่อดอก แต่ในทางปฏิบัติจริงไม่สามารถนับจำนวนใบตั้งแต่ใบที่ 1 ถึงใบที่ 33ได้ เนื่องจากมีความยุ่งยากในการจดจำและมีความคลาดเคลื่อนในวันปลูก อีกทั้งไม่สามารถนำไปปฏิบัติจริงในแปลงเกษตรกรได้ จึงอาศัยการสังเกตขนาดใบที่ยังม้วนอยู่โดยลักษณะการม้วนจะหลวม ๆ และมีขนาดสั้นลง มองได้โดยสายตาอย่างชัดเจน ซึ่งต่างจากการม้วนของใบในช่วงการเจริญเติบโตจะมีลักษณะม้วนแน่น ยาวใกล้เคียงกับใบปกติ
3. ทำการเจาะลำต้น โดยสังเกตใบม้วนด้านที่มีการทับซ้อนกันอยู่ ใบกล้วยขณะม้วนอยู่ ส่วนขาวจะม้วนทับซ้ายแล้วจะคลี่จากปลาย ลงมาหาโคนใบ ในฤดูร้อนใบกล้วยใช้เวลาคลี่ 4 วัน ฤดูหนาวใช้เวลา 14 วัน ดังนั้นให้สังเกตด้านที่ใบมีการทับซ้อนกัน นั้นคือด้านที่ปลีกล้วยจะโค้งโผล่ออกมา และด้านนี้เองร่องของใบธงจะโอบก้านเครือกล้วยไว้โดยธรรมชาติเพื่อป้องกันปลีอ่อนถูกกระทบกระเทือน แล้วจึงทำการเจาะลำต้นด้านนี้ด้วยมีดปลายแหลม ให้มีแผลกว้าง 9 เซนติเมตร ยาว 15 เซนติเมตร เจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามความยาวของลำต้น แล้วแกะกาบกล้วยออกเป็นชั้น ๆ จนกระทั่งพบแกนกลางของต้นกล้วย จากนั้นตัดแกนกลางออกเท่ากับความยาวของแผล แล้วจึงใช้วัสดุพลาสติกแผ่นแข็ง(ฟิวเจอร์บอร์ด) กว้างประมาณ 8-9 เซนติเมตร สอดเข้าไปเพื่อกั้นแกนกลางลำต้นกล้วยด้านบนของแผล จากนั้นตาดอกที่อยู่กลางเหง้าใต้ดินจะเจริญเติบโตผ่านกลางลำต้นเหนือดินแล้วโผล่ออกมาทางยอดใช้เวลาประมาณ 30 วัน เมื่อตาดอกปลีกล้วยงอกจากเหง้าใต้ดินขึ้นมาชนกับแผ่นพลาสติกที่กั้นไว้ จึงทำให้หน่อหรือปลีกล้วยเลี้ยวโค้งออกมา ปรากฏให้เห็นเครือกล้วยออกกลางลำต้น
4. ติดป้ายบอกวันที่ /เดือน / ปี ที่ทำการเจาะลำต้นเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในพื้นที่ของตนเอง
5. ให้ทำการพ่นสารป้องกันเชื้อราและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช บริเวณแผลที่ทำการเจาะทันทีด้วย เมทาแลกซิล (Metalaxyl) ผสมกับอะบาเม็กติน(Abamactin) ตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในฉลาก หลังจากนั้นฉีดพ่นทุกอาทิตย์ เพื่อป้องกันโรคตายพราย โรคเหี่ยวของกล้วย ด้วงงวงไชเหง้า ไชลำต้น ไชกาบใบ เป็นต้น
6.บำรุงรักษาลำต้นด้วยการให้น้ำ ให้ปุ๋ย ตัดแต่งใบแก่ ให้เหลือใบไว้บนลำต้นประมาณ 8-10 ใบ และตัดหน่อกล้วยออกทิ้ง ในกล้วยหอม กล้วยไข่ ให้ไว้เฉพาะต้นแม่เพียงหนึ่งต้น ส่วนกล้วยน้ำว้ายอมให้มีหน่อได้ไม่เกิน 2-3 หน่อต่อต้น
ข้อมูลคุณภาพผลผลิต
จำนวนวันตั้งแต่วันที่ทำการเจาะลำต้นถึงวันออกปลี ในกล้วยหอมใช้เวลาเฉลี่ย 29.05 วัน กล้วยไข่ เฉลี่ยใช้เวลา 53.21 วัน และกล้วยน้ำว้า เฉลี่ย ใช้เวลา 86.73 วัน
จำนวนวันตั้งแต่วันที่กล้วยออกปลี ถึงวันเก็บเกี่ยว ในกล้วยไข่ใช้เวลาเฉลี่ย 59.38 วัน กล้วยหอมใช้เวลา เฉลี่ย 72.22 วัน และกล้วยน้ำว้าใช้เวลา เฉลี่ย 96.33 วัน
จำนวนผลกล้วยต่อเครือ ในกล้วยน้ำว้าเฉลี่ยเท่ากับ 139.24 ผล กล้วยไข่เฉลี่ยเท่ากับ 104.9 ผล และกล้วยหอม เฉลี่ยเท่ากับ 67.99 ผล
ภาพประกอบ ขั้นตอนการบังคับกล้วยตกเครือกลางลำต้น
เอกสารอ้างอิง
เกสร สุนทรเสรี. 2540. กล้วยพืชสารพันประโยชน์. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช น 71.
ชำนาญ ทองกลัด และธำรง ช่วยเจริญ . 2542. ประวัติกล้วยและการดูแลรักษา น 44. ใน กล้วยในเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน
นิคม วงศ์นันตา และคณะ.2556. การบังคับกล้วยหอม กล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้าตกเครือกลางลำต้น.รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์: เชียงใหม่. มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ลุงพี.2553.มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ.บ้านสวนพอเพียง[ออนไลน์].แหล่งที่มา http://www.bansuanporpeang.com/node/5258 (7 สิงหาคม 2554)
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.มปป. การจำแนกชนิดของกล้วย เล่มที่๓๐ /เรื่องที่๖กล้วย ออนไลน์[แหล่งที่มา] http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=30&;chap=6&page=t30-6-infodetail03.html (1 เมย. 2556)
สมรรถชัย ฉัตราคม. 2542. พันธุ์กล้วยในเมืองไทย.น29. ใน กล้วยในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.2556. นางตานี.[ออนไลน์].แหล่งที่มาhttp://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5 (8 เมษายน 2556)