การปลูกลำไยพันธุ์ดอเพียงพันธุ์เดียวมีข้อจำกัด คือ ผลผลิตแก่ช่วงเวลาเดียวกันทำให้ขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวและผลผลิตล้นตลาด นอกจากนี้ยังไม่ได้สร้างความหลากหลายให้กับผู้บริโภค...
พื้นที่ปลูกลำไยในประเทศไทยปัจจุบันมีพื้นที่รวม 922,882 ไร่ พบว่า 95% ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ เป็นการปลูกพันธุ์ดอ ส่วนพันธุ์ดีอื่นๆ ที่เหมาะสำหรับการรับประทานสดมีการปลูกที่เหลือพื้นที่น้อยมาก โดยพันธุ์ดีต่างๆ ดังกล่าวได้แก่ พันธุ์สีชมพู มีพื้นที่ปลูกรวม 17,898 ไร่ (1.94%) พันธุ์แห้ว 13,493 ไร่ (1.46) พันธุ์เบี้ยวเขียว 12,089 ไร่ (1.31%) และพันธุ์กะโหลก ที่มีพื้นที่ปลูกเพียง 459 ไร่ (0.05%)
ข้อมูลจากการสอบถามกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ นักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านลำไยต่างๆ พอจะสรุปสาเหตุการเปลี่ยนพันธุ์จากแต่เดิมที่เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์ดีต่างๆ ซึ่งมีคุณภาพเหมาะสมสำหรับรับประทานสด ไปเป็นพันธุ์ดอเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น พันธุ์ดีต่างๆ ดังกล่าวเป็นพันธุ์หนัก ออกดอกและติดผลล่าช้ากว่าพันธุ์ดอซึ่งเป็นพันธุ์เบา การออกดอกติดผลของพันธุ์ดีต่างๆ เหล่านั้นมักจะออกปีเว้นปีไม่สม่ำเสมอ กิ่งหักง่าย ไม่ทนทานต่อโรคหรือแมลง เป็นต้น พันธุ์ดีบางพันธุ์มีลักษณะเด่นที่หากผู้บริโภคไม่รู้จักแล้วจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นลำไยไม่มีคุณภาพ เช่น พันธุ์สีชมพูที่จะมีเนื้อออกเป็นสีชมพูเรื่อๆ ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าลำไยขึ้นรา นอกจากนี้เมื่อนำไปแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งจะไม่ได้คุณภาพดีเท่ากับลำไยพันธุ์ดอ จากปัญหาต่างๆ ดังกล่าวทำให้พันธุ์ดีต่างๆ มีพื้นที่ปลูกลดน้อยลงมาก จนเหลือพื้นที่ปลูกรวมกันไม่ถึงร้อยละ 5 ของพื้นที่ปลูกลำไยทั้งประเทศ ทั้งๆที่ลำไยพันธุ์ดีต่างๆ เหล่านี้ เมื่อมีโอกาสได้ชิมแล้วผู้บริโภคส่วนใหญ่จะชอบมากกว่าลำไยพันธุ์ดอ แต่ส่วนใหญ่จะหาซื้อลำบาก เนื่องจากพื้นที่ปลูกลดน้อยลง และส่วนใหญ่เป็นการปลูกไว้เพื่อรับประทานเอง หรือเหลือขายหน้าสวนโดยไม่ได้มุ่งเน้นในเชิงการค้ามากนัก การปลูกลำไยพันธุ์ดอเพียงพันธุ์เดียวมีข้อจำกัด คือ ผลผลิตแก่ช่วงเวลาเดียวกันทำให้ขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวและผลผลิตล้นตลาด นอกจากนี้ยังไม่ได้สร้างความหลากหลายให้กับผู้บริโภค
ผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีปลูกมากทางภาคเหนือก็คือ ลิ้นจี่ซึ่งเป็นไม้ผลตระกูลเดียวกับลำไย เป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งปัจจุบันปลูกมากในจังหวัดพะเยา เชียงรายและเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังปลูกทางภาคตะวันออก เช่น อำเภออัมพวาและอำเภอบางคนที่ จังหวัดสมุทรสงคราม พันธุ์ที่มีการปลูกโดยทั่วไป คือพันธุ์ฮงฮวย ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดประมาณต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจะมีปริมาณมาก ทำให้เกิดการกระจุกตัว ส่งผลทำให้ราคาลิ้นจี่ตกต่ำ ในปัจจุบันนักวิชาการรวมถึงเกษตรกรเองได้พยายามหาพันธุ์ลิ้นจี่ที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนพันธุ์อื่นๆ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดพร้อมๆ กัน และยังเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีความชำนาญการเก็บเกี่ยวลงได้
การนำยอดพันธุ์ดีพันธุ์ใหม่มาเปลี่ยนยอดบนต้นพันธุ์เดิมโดยไม่ต้องมีการล้มต้นลิ้นจี่ต้นเดิมทิ้งไป ซึ่งถ้านำกิ่งพันธุ์มาปลูกใหม่จะใช้เวลา 2-3 ปี กว่าที่ต้นใหม่จะให้ผลผลิต แต่วิธีการเปลี่ยนยอดพันธุ์ใหม่บนต้นใหญ่พันธุ์เดิมที่ไม่ต้องการจะเป็นการช่วยย่นระยะเวลาการออกดอก ติดผลให้เร็วขึ้นได้ วิธีนี้นิยมทำในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากมีพันธุ์ที่หลากหลายบางพันธุ์อาจไม่เหมาะสมกับพื้นที่ จึงมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการเปลี่ยนยอดบนต้นใหญ่ วิธีการดังกล่าวหลังต่อกิ่งได้ประมาณ 1-2 ปี กิ่งที่เปลี่ยนยอดแล้วสามารถออกดอกติดผลได้ แต่ในประเทศไทยยังมีการทำกันน้อย มาก ดังนั้น ในฉบับนี้จึงจะขอกล่าวถึง ขั้นตอนและวิธีการเปลี่ยนยอดลิ้นจี่ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ คือ
1 ตัดกิ่งใหญ่ต้นเดิมออก ถ้าเป็นกิ่งที่เป็นกิ่งหลักควรรอให้มีการแตกหน่อกระโดงใหม่เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงยอดบนกิ่งใหม่ที่แตกขึ้นมา
2 การต่อกิ่งจะใช้วิธีการต่อกิ่งแบบเสียบข้าง โดยเลือกกิ่งที่จะทำการเปลี่ยนยอดพันธุ์ควรเป็นกิ่งตั้งตรงเลือกให้มีขนาดใกล้เคียงหรือใหญ่กว่ายอดพันธุ์ดี ทำได้โดยการตัดยอดต้นตอออก กรีดด้านข้างลงลึกเข้าไปในเนื้อไม้ 2 รอยแผลยาวประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร (1 - 3 นิ้ว) ลอกเปลือกออกและตัดเปลือกให้เหลือเปลือกที่ลอกไว้ ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร
3. หลังจากนั้นเตรียมยอดพันธุ์ดี ยาว 5-8 เซนติเมตร ( 2-3 นิ้ว) เฉือนโคนกิ่งเป็นรูปลิ่มแล้วสอดเข้ากับแผลของต้นตอ
4 พันพลาสติกให้มิดยอด ประมาณ 30 -50 วัน กิ่งพันธุ์ดีจะแทงยอดโผล่ออกจากพลาสติก จึงทำการแกะพลาสติกออก
ส่วนในลำไย นางจิรนันท์ เสนานาญ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ นายพิชัย สมบูรณ์วงศ์และนายพาวิน มะโนชัย ผู้ร่วมวิจัย ได้ศึกษาเทคนิคการเปลี่ยนยอดพันธุ์ในลำไยโดยใช้ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวเชียงใหม่ สีชมพูและพวงทองเป็นยอดพันธุ์ดี โดยใช้ต้นเดิมพันธุ์อีดออายุ 5 ปี ซึ่งพบว่ามีเปอร์เซ็นต์การเสียบติดถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง 3 พันธุ์ และมีการผลิใบอ่อนได้ภายใน 2 เดือนผลิใบได้ 2 ครั้ง ยอดมีการเจริญเติบโตดี รอยแผลเชื่อมได้สนิท ถึงแม้ว่าเปอร์เซ็นต์การเสียบติดอาจยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังคงต้องมีการศึกษาต่อไปถึงช่วงเวลาและฤดูกาลที่เหมาะสมในการต่อกิ่ง ซึ่งขั้นตอนและวิธีการในการต่อกิ่งคล้ายกับการเปลี่ยนยอดในลิ้นจี่ แต่ในลำไยจะมีเทคนิคเล็กน้อยที่จะต่างจากการเปลี่ยนยอดในลิ้นจี่ คือ การผลิใบอ่อนของยอดพันธุ์ใหม่ของลำไยที่ต่อบนต้นใหญ่จะมีการผลิใบอ่อนส่วนใหญ่จะเป็นตาข้าง ซึ่งลักษณะของการพันพลาสติกจะเป็นการพันแบบมิดยอด ดังนั้นประมาณ 4 สัปดาห์ต้องมีการเปิดพลาสติกที่พันด้านบนออกเล็กน้อย เพื่อให้ตาข้างสามารถผลิใบออกมาได้ และถ้าทำการเปลี่ยนยอดฤดูฝนต้องทำการกรีดด้านล่างบริเวณรอยแผลเล็กน้อยเพื่อให้น้ำสามารถ ไหลออกจากรอยแผลได้ในกรณีฝนตก ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว แผลจะเน่าทำให้การเปลี่ยนยอดไม่ประสบผลสำเร็จ ส่วนพลาสติกบริเวณรอยแผลให้พันไว้จนกว่ารอยแผลจะเชื่อมติดสนิท ซึ่งอาจจะกินเวลานาน 2 - 3 เดือน นี่เป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติ หากจะให้เกิดความเข้าใจและเชี่ยวชาญเกษตรกรต้องมีการลองปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งจะได้มีความเข้าใจมากขึ้นและการขยายพันธุ์โดยการเปลี่ยนยอดบนต้นใหญ่จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
การเปลี่ยนยอดลำไย
1.ลอกเปลือกไม้ออกยาวประมาณ 1 นิ้ว | 2.เฉือนยอดพันธุ์ดีเป็นรูปปากฉลาม |
3.นำยอดพันธุ์ดีประกบรอยแผล | 4.พันด้วยพลาสติกให้มิดยอด |
5.หลังต่อกิ่งประมาณ 4 สัปดาห์ ยอดลำไยที่ต่อกิ่งเริ่มผลิใบอ่อน |
การเปลี่ยนยอดลิ้นจี่
1.อุปกรณ์การเปลี่ยนยอดลำไย-ลิ้นจี่ | 2.ลอกเปลือกออกและตัดเปลือกให้เหลือเปลือก ที่ลอกไว้ ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร |
3.เฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้เป็นรูปลิ่ม |
4.เสียบกิ่งพันธุ์ดีให้แนบกับรอยแผลต้นตอ | 5.พันด้วยพลาสติกใสให้แน่นและมิดยอด | 6.ประมาณ 30-50 วัน รอยแผลจะเชื่อมติดกัน แตกยอดใหม่ของพันธุ์ใหม่ |
ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นางจิรนันท์ เสนานาญ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ผศ.พาวิน มะโนชัย ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้-สกว. ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้ และนายพิชัย สมบูรณ์วงศ์ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ. เชียงใหม่ 50290 โทร. 053-873939 ในวันและเวลาราชการ