ปัญหาลำไยผลแตก

    _100อาการผลแตก หรือ Fruit cracking เกิดจากความไม่สมดุลของการขยายตัวของส่วนเนื้อและส่วนเปลือก โดยส่วนของเนื้อมีลักษณะเป็นเซลล์อ่อนนุ่ม (spongy parenchyma) ซึ่งมีความสามารถในการยืดหดตัวได้สูง....

    P1030890_resize อาการผลแตก หรือ Fruit cracking เกิดจากความไม่สมดุลของการขยายตัวของส่วนเนื้อและส่วนเปลือก โดยส่วนของเนื้อมีลักษณะเป็นเซลล์อ่อนนุ่ม (spongy parenchyma) ซึ่งมีความสามารถในการยืดหดตัวได้สูง ในขณะที่เปลือกมีความยืดหยุ่นตัวต่ำกว่า ดังนั้นในกรณีทีส่วนของเนื้อผลมีการขยายปริมาตรอย่างรวดเร็ว แรงดันที่เกิดจากการขยายตัวของเนื้อผลสามารถทำให้เปลือกผลแตกได้

    ในกรณีของลำไย  อาการผลแตกมักจะเกิดในช่วงที่ผลลำไยกำลังสร้างเนื้อ หรือผลใกล้จะแก่ เช่นในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ลำไยที่ประสบปัญหาผลแตกมักจะเป็นลำไยที่ติดผลดก มีลูกขนาดเล็ก และเปลือกมีขนาดบาง ธาตุอาหารที่เกี่ยวข้องกับอาการผลแตกของลำไยคือธาตุแคลเซียม สาเหตุของปัญหา เกิดจากปริมาณน้ำที่ได้รับไม่สม่ำเสมอในช่วงที่ผลกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในช่วงสร้างเนื้อหรือผลใกล้แก่ หากลำไยไม่ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เกิดอาการผลแตกได้ง่าย เช่น ลำไยที่กระทบแล้ง ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ประกอบกับอุณหภูมิในช่วงดังกล่าวร้อนจัด เช่น 40 องศาเซลเซียส ทำให้ลำไยมีการคายน้ำมากจึงต้องการน้ำในปริมาณมากไปชดเชย หากได้รับน้ำไม่เพียงพอทำให้ผลลำไยเจริญเติบโตช้า เมื่อลำไยกระทบฝนโดยเฉพาะฝนแรกในช่วงเดือนเมษายน- พฤษภาคม ปริมาณน้ำที่ได้รับมีมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา เนื้อของผลจะขยายขนาดได้เร็วกว่าเปลือกเนื่องจากลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน ทำให้เปลือกผลแสดงอาการแตกและร่วงอย่างเห็นได้ชัด  สาเหตุของปัญหาลำไยผลแตกสามารถสรุปเป็นแผนผัง ดังแสดงไว้ในภาพที่ 1

    จากแผนผังดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการผ่านสภาพแล้งตามธรรมชาติแล้วกระทบฝน จะมีโอกาสทำให้ลำไยเกิดอาการผลแตกได้  แต่ในบางกรณีแม้จะผ่านช่วงแล้งตามธรรมชาติมาแล้วและย่างเข้าฤดูฝนแล้วก็ตาม  หากฝนทิ้งช่วงหรือประสบกับภาวะฝนแล้ง เมื่อกลับมาได้รับน้ำฝนอีกครั้ง ลำไยก็จะสามารถเกิดอาการผลแตกได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการให้ลำไยได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอระหว่างการพัฒนาของผล จะช่วยลดปัญหาอาการผลแตกของลำไยได้

    stru

    ฤดูกาลผลิตลำไยปี 2553 ประสบกับปัญหาลำไยผลแตกมาก ซึ่งแม้แต่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านลำไย ผู้ช่วยศาตราจารย์พาวิน มะโนชัย ยังยอมรับว่าปีนี้ผลลำไยแตกเยอะมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา  จากการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตลำไยจำนวนรวม 266 รายในเขตของจังหวัดเชียงใหม่ (49.2%) ลำพูน (37.6%) และเชียงราย (13.2%) เมื่อวันที่ 25-27 มิถุนายน 2553 ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร  คณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยลัยแม่โจ้ พบว่า 68 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้ข้อมูลเห็นว่า ผลผลิตลำไยปีนี้จะลดลงเนื่องจากสภาพแล้งและภูมิอากาศแปรปรวน  ประมาณ 72 เปอร์เซ็นต์ประสบกับภาวะภัยแล้ง สภาพอากาศที่ร้อนมาก และน้ำที่ใช้ในการเกษตรไม่เพียงพอ และครึ่งหนึ่งของผู้ให้ข้อมูลเชื่อว่าปีนี้ราคาผลผลิตลำไยจะตกต่ำประกอบกับผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ผลมีขนาดเล็กและแตก (ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร, 2553)

    P1030892_resize

    สาเหตุของอาการผลแตกในลำไย  คือ  ปริมาณน้ำฝน

    จากข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่วัดได้จากสถานีวัดอากาศของศูนย์อิเล็กทรอนิกและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ซึ่งติดตั้งอยู่ที่แปลงลำไย ในสำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่าปริมาณน้ำฝนในช่วงเดือน เมษายน – มิถุนายนของปี 2553 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2552 อย่างเห็นได้ชัด (ภาพที่ 3) โดยพบว่าปริมาณน้ำฝนในปี 2553 ปริมาณน้ำฝนเดือนเมษายน ลดลงเหลือ 27% เมื่อเทียบกับปี 2552 ส่วนเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนปริมาณน้ำฝนลดเหลือเพียงประมาณ 7 และ 1% ของช่วงเดือนเดียวกันของปี 2552 ตามลำดับ  ข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการลดลงของประมาณน้ำฝน แสดงถึงการประสบกับภัยแล้งของเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนได้เป็นอย่างดี

    stru2

    สรุป อาการทางกายภาพของลำไยที่แตกเกิดจากการที่เปลือกลำไยขยายตัวไม่ทันการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเนื้อลำไย ซึ่งสาเหตุแท้จริงเกิดจากการที่ผลลำไยที่กำลังเจริญเติบโตนั้น ผ่านสภาพแล้ง อุณหภูมิสูง หรือขาดน้ำก่อน จากนั้นจึงได้รับน้ำในปริมาณมากทันที หรือเกิดจากการฝนขาดช่วง ได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ จึงทำให้เกิดการแสดงอาการผลแตกและหลุดร่วงได้ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการผลแตกของลำไยประกอบด้วยสภาพแวดล้อมภายนอก คือ สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน เช่น แล้งแล้วกระทบฝน หรือฝนขาดช่วง หรือการจัดการน้ำที่เหมาะเหมาะสม เช่น ให้น้ำไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น และสภาพแวดล้อมภายในต้นลำไยเอง โดยมักจะพบว่าเฉพาะต้นลำไยที่ติดผลดก ลูกมีขนาดเล็กและเปลือกบาง มักจะถูกชักนำจากสภาพแวดล้อมให้แสดงอาการผลแตกได้ง่ายและมากกว่า ต้นที่ติดผลปานกลางหรือน้อย ปัญหาลำไยผลแตกดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ วิธีการที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ซึ่งได้แก่การให้น้ำลำไยอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ หากพบว่าลำไยติดผลดกอาจจะต้องทำการตัดแต่งช่อผลออกบ้างเพื่อให้ลำไยสามารถเลี้ยงลูกได้ การดูแลเรื่องธาตุอาหารเสริมโดยเฉพาะแคลเซียม อาจจะช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดกับสวนลำไยได้

    เอกสารอ้างอิง

    พาวิน มะโนชัย ยุทธนา เขาสุเมรุ ชิติ ศรีตนทิพย์ และสันติ ช่างเจรจา. 2547. เทคโนโลยีการผลิตลำไย. ฟิสิกส์เซ็นเตอร์. 128 หน้า.

    ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้. 2553. ผลการสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “เสียงสะท้อนชาวสวน ก่อนผลผลิตลำไยออกสู่ตลาด”. 2 หน้า.






    สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  ผศ.ดร ธีรนุช  เจริญกิจ  และผศ.พาวิน  มะโนชัย
    ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้  - สกว.   และ  ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้ โทร.  053-499218

    © 2017 Your Company. All Rights Reserved. Designed By agethemes.com.com
    Free Joomla! templates by AgeThemes