ลำไยนอกฤดูเงินล้าน กับเกษตรกรมืออาชีพ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 ปีที่ 40 ฉบับที่14,385
ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจและเป็นไม้ผลอันดับที่ 1 คู่กับวัฒนธรรมและชุมชนของผู้คนในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนมาช้านาน สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว สร้างฐานะความเป็นอยู่ส่งลูกหลานเรียนจบทั้งในและต่างประเทศ ลำไยเป็นพืชที่ต้องการอากาศที่หนาวเย็นเพื่อกระตุ้นการออกดอกในฤดูช่วงเดือนมกราคม พื้นที่ปลูกลำไยริมฝั่งแม่น้ำปิง คนเฒ่าคนแก่เรียกพื้นที่น้ำไหลทรายมูล ฤดูกาลที่ลำไยออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมเท่านั้น พันธุ์ที่ปลูกได้แก่ พันธุ์สีชมพู พันธุ์เบี้ยวเขียว พันธุ์แห้ว และพันธุ์อีดอ (พันธุ์ที่ออกก่อนฤดู) การบริหารจัดการและระบบการผลิตพึ่งพาธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่
ในปี 2541 มีการค้นพบสารโพแทสเซียมคลอเรต ที่สามารถทำให้ลำไยออกดอกนอกฤดูกาลได้ โดยช่างทำดอกไม้ไฟไม่ต้องอาศัยอากาศหนาวเย็นก็สามารถทำให้ลำไยออกดอกได้ สามารถปลูกได้ทั่วไปเกือบทุกภาคของประเทศ ทำให้มีการขยายพื้นที่การปลูกอย่างมากในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกในอำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งผลิตลำไยนอกฤดูเท่านั้น สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรเจ้าของสวนเป็นกอบเป็นกำกว่าไม้ผลดั่งเดิมของจังหวัด ไม่มีปัญหาเรื่องราคาผลผลิตเหมือนกับลำไยในจังหวัดอื่น ๆ ที่มีปัญหาบางปีลำไยให้ผลผลิตมาก ผลผลิตล้นตลาด ราคาถูก ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนการผลิต
ซึ่งปัญหาการผลิตลำไยในภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่และลำพูน ยังเป็นการผลิตลำไยในฤดู และอาศัยปัจจัยการผลิตโดยอิงธรรมชาติแบบดังเดิมอยู่ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตค่อนข้างน้อยและเป็นส่วนน้อยที่ผลิตลำไยนอกฤดู ทำให้ขาดแคลนแรงงานในช่วงลำไยออกสู่ตลาด ลำไยต้นสูงต้องเสียเวลาในการปีนเก็บและค่าไม้ค้ำ คุณภาพขนาดของผลและสีผลไม่ตรงตามความต้องการตลาด ผลผลิตกระจุกตัวทำให้พ่อค้าได้เปรียบ การแปรรูปรองรับไม่ทัน สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นผลกระทบและเกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในฤดู
จ่าสิบเอกอุดม รังสรรค์ เกษตรกรผู้ปลูกลำไยแบบมืออาชีพเงินล้าน ผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่จำนวน 70 ไร่ ตำบลบงตัน อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ จ่าสิบเอกอุดม เล่าว่า พื้นที่ของอำเภอดอกเต่าเป็นพื้นที่ดอย ดินเป็นดินทราย เกษตรกรอำเภอดอยเต่าร้อยละ 90 ปลูกลำไย
พื้นที่ปลูกลำไยของจ่าสิบเอกอุดมและครอบครัวทั้งหมดประมาณ 70 ไร่ พ่อตาเริ่มปลูกลำไยตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ผลิตลำไยในฤดูมาโดยตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. 2541 มีสารโพแทสเซียมคลอเรตเข้ามา สามารถทำให้ลำไยออกดอกนอกฤดูได้ จึงทำให้หันมาผลิตลำไยนอกฤดูตั้งแต่ พ.ศ. 2543 อย่างล้มลุกคลุกคลานขาดทุนตลอด จนกระทั่งได้เข้ารับการอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพของ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยทีมงานวิทยากร ผศ.พาวิน มะโนชัยและคณะ ในพ.ศ. 2548 หลังจากได้รับความรู้ได้นำมาผสมผสานกับประสบการณ์ของตัวเองและการดูงานจากแหล่งผลิตลำไยนอกฤดูในจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งการผลิตลำไยนอกฤดูของจังหวัดจันทบุรีมาปรับปรุงและพัฒนาการผลิตลำไยในสวนของตัวเองกับลำไย 1,400 ตัน และได้รวมกลุ่มกันก่อตั้งชมรมพัฒนาคุณภาพลำไย ในปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มถึง 800 คน ผลิตลำไยนอกฤดูโดยแบ่งใส่เป็นรุ่น ๆ (แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วน) ถึงได้ประสบความสำเร็จ
เทคนิคและการบริหารจัดการลำไยนอกฤดู
พันธุ์ลำไยเป็นพันธุ์อีดอทั้งหมด
พื้นที่ปลูกทั้งหมด 70 ไร่
ระยะปลูก 10x10 เมตร
ในส่วนของการบริหารจัดการการผลิตลำไยให้ประสบความสำเร็จจะต้องเอาการตลาดเป็นตัวนำการผลิต เพราะเมื่อผลผลิตออกจะตรงกับความต้องการของตลาดและราคาจะสูง โดยในสวนจะแบ่งการผลิตออกเป็น 4 ส่วน ๆ ละ 200-300 ต้น ตามเทศกาลของประเทศจีนเป็นหลัก และลดความเสี่ยง คือ
ช่วงที่ 1 ให้สารเดือนมีนาคม เก็บผลผลิตเดือนกันยายน ตรงกับงานชาติจีน
ช่วงที่ 2 ให้สารเดือนเมษายน เก็บผลผลิตเดือนธันวาคม เทศกาลปีใหม่สากล
ช่วงที่ 3 ให้สารเดือนมิถุนายน เก็บผลผลิตเดือนมกราคม ก่อนเทศกาลตรุษจีน
ช่วงที่ 4 ให้สารเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เก็บผลผลิตเดือนมีนาคม วันเชงเม้ง
นอกจากการใช้ตลาดเป็นตัวนำแล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอและความสมบูรณ์ของต้นลำไยและการแบ่งทำเป็นรุ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของราคา
การตัดแต่งกิ่ง
ตัดแต่งกิ่ง 2 รูปแบบ คือ ทรงเปิดกลางทรงพุ่มและทรงฝาชีหงาย
ความสูงประมาณ 3 เมตร ข้อดีของการตัดแต่งกิ่ง คือ ต้นเตี้ยการเก็บเกี่ยวและการจัดการง่าย ทรงพุ่มโปร่งไม่ค่อยมีโรคและแมลงระบาด การตอบสนองต่อสารโพแทสเซียมคลอเรตดี ออกดอกติดผลดี ผลโตสม่ำเสมอ
การแตกใบอ่อน
แตกใบอ่อน 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย ถึงจะกระตุ้นการออกดอก
การให้สารโพแทสเซียมคลอเรต
ระยะใบเพสลาด คือ ใบเริ่มจะแก่จึงเริ่มให้สารโพแทสเซียมคลอเรต ต้องวิเคราะห์ความบริสทุธิ์ของสารคลอเรต ก่อนโดยส่งให้ภาควิชาทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม คณะผลิตกรรมการเกษตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ค่าวิเคราะห์ตัวอย่างละ 90 บาท เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเป็นสารที่บริสุทธิ์จะได้กำหนดปริมาณสารให้ถูกต้อง และไม่เกิดปัญหากับการออกดอกของลำไยตามมาภายหลัง เพราะถ้าหากไม่บริสุทธิ์จะทำให้ลำไยออกดอกไม่สม่ำเสมอ ทำให้ขาดทุน และกว่าจะรู้ต้องรอถึง 25 วันขึ้นไปกว่าลำไยจะแทงช่อดอก
วิธีการให้สารโพแทสเซียมคลอเรต
- ต้นลำไยอายุ 13-15 ปี ให้สาร 1 ถึง 1.5 กิโลกรัม
- ทำความสะอาดภายในทรงพุ่ม
- หวานสารคลอเรตในทรงพุ่มและใช้บัวรดน้ำรดน้ำตามพอให้สารละลายหมด
- ให้สารช่วงตอนเช้าจะได้ผลดีที่สุด (ตอนบ่ายหยุด)
- หลังจาก 25 วัน ลำไยจะเริ่มแทงช่อดอกให้เห็น
การให้น้ำ
ทำคันรอบทรงพุ่มลำไย ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องโดยการสังเกตว่าถ้าดินในทรงพุ่มเริ่มแห้งก็ให้น้ำ
การให้ปุ๋ย
เก็บตัวอย่างดินวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ของดิน
1. ให้ปุ๋ยช่วงหลังตัดแต่งกิ่ง โดยให้ปุ๋ยยูเรียและปุ๋ยคอกหรือสูตรตัวหน้าสูง สูตร 28-7-7
2. ให้ช่วงการแตกใบอ่อนแต่ละครั้ง โดยใช้สูตรเสมอ เช่น 15-15-15
3. ให้เมื่อติดผลเท่าหัวไม้ขีดไฟให้สูตรเสมอ สูตร 15-15-15
4. ให้เมื่อเมล็ดเริ่มเปลี่ยนสีจากขาวเป็นน้ำตาลให้สูตรตัวหลังสูง สูตร 13-13-21
การดูแลรักษาโรคและแมลง
โดยมากไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลงและยาป้องกันเชื้อรา เพราะไม่พบการระบาดของโรคและแมลงศัตรูลำไย
จ่าสิบเอกอุดมได้กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำเร็จจนเป็นเกษตรกรผู้ผลิตลำไยนอกฤดูเงินล้านอย่างมืออาชีพ คือ เมื่อก่อนรับราชการทหาร เวลาทำงานคือ 8.00-16.30 น. หยุดวันเสาร์และวันอาทิตย์ แต่การดูแลสวนลำไยต้องตื่นนอนแต่เช้ามาดูแลสวนจนถึงมืดค่ำ ไม่มีวันหยุดราชการเสาร์-อาทิตย์ ในเดือนนี้กุมภาพันธ์ จ่าสิบเอกอุดมสามารถขายผลผลิตลำไย 200 ต้นได้เงินประมาณ 1,200,000 บาท โดยการขายเหมาให้พ่อค้าคนกลางและได้ฝากถึงเกษตรกรผู้ปลูกลำไยต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่สวนลำไยอย่างสม่ำเสมอ และต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง และฝากถึงรัฐบาลให้ช่วยหาช่องทางการกระจายผลผลิตสู่ตลาดใหม่ ๆ นอกจากประเทศจีน
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9
นำเสนอข่าวโดย
ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9