ฤดูกาลมะนาวแพงใกล้จะมาถึงแล้ว

    DSCN0574-1

     

    ฤดูกาลมะนาวแพงใกล้จะมาถึงแล้ว

     


    DSCN0573มะนาวนับว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทย มะนาวใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร ทำน้ำผลไม้ เครื่องดื่มหลากหลายชนิด ฤดูกาลของมะนาวโดยปรกติจะออกมากในช่วงฤดูฝน ตามตลาดทั่วไปจะขายมะนาวกันเป็นกองๆ กองละ 5 บาท 10 บาท ชาวสวนมะนาวถึงกับไม่เก็บมะนาว เพราะราคาถูกไม่คุ้มค่ากับค่าแรงในการเก็บ ประกอบกับมะนาวเป็นพืชตระกูลส้ม ซึ่งมีโรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ เช่น โรคแคงเกอร์ โรคกรีนนิ่ง หนอนชอนใบ เกษตรกรจะต้องใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ สารเคมีมีราคาสูง ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพการทำสวนมะนาว แต่ในฤดูแล้งผู้บริโภคต้องประสบกับปัญหามะนาวมีราคาแพง ตลาดเปลี่ยนจากขายเป็นกองมาขายเป็นลูก ลูกละ 3 บาท ถึง 10 บาท มะนาวกลับมาเป็นพืชเงินพืชทองของเกษตรกรชาวสวนมะนาวที่รู้เทคนิค หรือวิธีการบังคับมะนาวให้ออกนอกฤดูได้

    นิสัยของมะนาวจะแตกใบอ่อนพร้อมๆ ออกดอก เพราะฉะนั้นถ้าจะให้มะนาวออกอกตลอดทั้งปีจะต้องมีการตัดแต่งกิ่งมะนาวอยู่เสมอ ข้อสำคัญคือต้นมะนาวต้องอยู่กลางแจ้งให้ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน การจะบังคับให้มะนาวติดผลนั้น ควรทำเมื่อปลูกมะนาวไปแล้วประมาณ 8-10 เดือน ช่วงเดือนสิงหาคมควรตัดแต่งกิ่งแขนง กิ่งที่มีโรค กิ่งที่ติดดอกและผลมะนาวออกให้หมด หลังจากนั้นงดการให้น้ำมะนาวในเดือนตุลาคม ประมาณ 7-10 วัน สังเกตใบมะนาวมีอาการเหี่ยวหรือใบสลด ใบอาจจะร่วงบ้าง 10 – 15 เปอร์เซนต์ เริ่มให้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 10 กรัม(1 ช้อนแกง)รอบๆขอบกระถาง และรดน้ำตามทันที หลังจากนั้น 15 วัน มะนาวเริ่มแตกใบอ่อนและออกดอกเป็นสีขาว ควรพ่นสมุนไพรน้ำส้มควันไม้หรือยาฆ่าแมลง อะบาเม็กตินผสมกับคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ หรือคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ เพื่อป้องกันโรคและแมลง ต่าง ๆ และหลังจากติดดอกแล้ว 4 เดือนก็สามารถเก็บผลมะนาวได้

    การดูแลรักษา

    การให้น้ำ
    ช่วงที่มะนาวปลูกใหม่ ๆ ควรให้วันละครั้ง (กรณีฝนไม่ตก) หลังจากปลูกไปแล้วประมาณ 10 – 15 วันให้น้ำ วันเว้นวันได้ เมื่อมะนาวตั้งตัวได้แล้ว แต่ถ้าใช้เศษหญ้าแห้ง หรือฟางแห้งคลุมโคนต้น 3 วันให้น้ำครั้งก็ได้ แต่ในช่วงมะนาวติดดอกออกผล ควรให้น้ำทุกวัน เพราะมะนาวต้องการน้ำมาก
    การให้ปุ๋ย
    ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 เดือนละครั้ง 1 ช้อนแกง รอบ ๆ ขอบกระถาง แล้วรดน้ำตามทุกครั้ง ช่วงก่อนออกดอกให้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 1 ช้อนแกง หลังจากนั้นถ้าหากดินปลูกในกระถางพร่องให้เติมมูลวัวที่ย่อยสลายแล้วเท่าระดับดินปลูกเดิม
    การกำจัดวัชพืช
    ใช้วิธีการถอนหลังจากให้น้ำแล้ว จะถอนง่าย เสร็จแล้วใช้หญ้าแห้ง หรือฟางแห้งปกคลุมป้องกันวัชพืช และช่วยอุ้มน้ำได้นานขึ้นDSCN0574
    การค้ำกิ่ง
    เนื่องจากมะนาวที่ปลูกในภาชนะ เมื่อออกดอกติดผลกิ่งจะโน้มลงเนื่องจากติดผลมาก จำเป็นจะต้องทำนั่งร้านเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือสี่เหลี่ยมรอบๆ ภาชนะเพื่อรองรับกิ่ง จะช่วยพยุงให้กิ่งสามารถรองรับน้ำหนักจากผลมะนาว และไม่ทำให้ทรงต้นและกิ่งมะนาวเสียรูปทรง
    การตัดแต่งกิ่ง
    หลังจากเก็บผลผลิตแล้ว ให้ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคและแมลง กิ่งที่แห้งกิ่งแขนงเล็ก ๆ ออก ไปเผาทำลาย รวมทั้งใบและกิ่งที่เป็นโรคแคงเกอร์ด้วย

    การเก็บเกี่ยว
    เก็บเมื่อผลมะนาวเริ่มแก่ สังเกตจากผิวของผลเป็นสีเขียวอ่อน ผิวเรียบบางใส เอามือบีบผลจะนิ่มมือ ขั้วของผลเริ่มเรียบเป็นสีเหลือง จะใช้มือปลิดผลหรือใช้กรรไกรตัดกิ่งก็ได้

    DSCN0575โรคและแมลงศัตรูมะนาว

    1. โรคแคงเกอร์
    สาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ลักษณะอาการเห็นเป็นแผลตกสะเก็ดนูนสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่ ทั้งบนผิวใบและใต้ใบ แผลจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นวงซ้อน ๆ กัน ต่อมาใบจะเหลืองแห้งและหลุดร่วงไป ลักษณะแผลที่เกิดตามกิ่งอ่อนกิ่งแก่ และผลมะนาวเป็นแผลตกสะเก็ดนูนเช่นกัน แผลจะขยายใหญ่ขึ้นและลุกลามไปตามกิ่งและผล ทำให้กิ่งแห้ง ถ้าเกิดที่ผลทำให้ขายไม่ได้ราคา
    การป้องกันกำจัด
    ตัดแต่งกิ่งและใบส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลาย ทุกครั้งที่มะนาวแตกใบอ่อน และออกดอกเป็นสีขาวให้ฉีดพ่น สมุนไพรน้ำส้มควันไม้ อัตราน้ำส้มควันไม้ 1 ส่วน ต่อน้ำ 150 ส่วน น้ำส้มควันไม้ 150 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลง เพื่อป้องกันหนอนชอนใบ และพาหะโรคแคงเกอร์ อะบาเมทติน ผสมกับสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์ คอปเปอร์ออกซิคลอไรด์ หรือคอปเปอร์ไฮดอกไซด์
    2.โรคกรินนิ่ง (ใบแก้ว)
    สาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ รูปร่างมีทั้งทรงกระบอกและทรงกลม ลักษณะอาการ ใบด่างหรือใบเหลืองสลับเขียว คล้ายกับอาการขาดธาตุอาหาร ใบมีการม้วนงอ เนื้อใบแข็งกรอบ ใบที่แตกใหม่เล็กลงเรื่อย ๆ ที่สุดถ้าไม่ป้องกันกำจัด ต้นมะนาวอาจจะตายไปในที่สุด การแพร่ระบาดโดยกิ่งพันธุ์ และเพลี้ยกระโดด
    การป้องกันกำจัด
    เลือกต้นพันธุ์ที่ปราศจากโรค ไม่ขยายพันธุ์จากต้นที่เป็นโรค ให้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะธาตุสังกะสี ทำลายส่วนที่เป็นโรคโดยการเผาทำลาย การฉีดพ่นด้วยสมุนไพรน้ำส้มควันไม้ หรือสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา และยาฆ่าแมลง ทำพร้อมกับโรคแคงเกอร์
    3.โรคราดำ
    สาเหตุจากเชื้อราเจริญเป็นคราบสีดำคล้ายเขม่าปกคลุมที่ใบ ทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ เกิดที่ดอกและผลเล็กๆ เนื่องจากดอกและผลมะนาว จะออกเบียดกันแน่นเป็นกระจุก ทำให้ผลและดอกหลุดร่วง พบระบาดทั่วไปในฤดูฝน สปอร์เชื้อราแพร่ไปตามลม แมลงเป็นพาหะ

    การป้องกันกำจัดDSCF0557

    1. ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง
    2. ฉีดพ่นด้วยสารเคมีคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ ผสมยาฆ่าแมลงไซเปอร์เมทธิล หรืออะบาเมทติน หรือน้ำส้มควันไม้ 1 ส่วน ต่อน้ำ 150 ส่วน หรือ 150 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร (ทำพร้อมกับการป้องกันโรคแคงเกอร์ คือฉีดพ่นทุกครั้งที่มะนาวแตกใบอ่อน ออกดอก และติดผล)

    แมลงศัตรูมะนาว

    1. หนอนชอนใบ เข้าทำลายมะนาวช่วงแตกใบอ่อน โดยจะชอนและกัดกินบนผิวใบ และใต้ใบเห็นเป็นทางสีขาวใส ทำให้ใบหงิกงอขอบใบม้วนเข้าแลจะร่วงไปในที่สุด ทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้
    2. หนอนแก้วส้ม เข้าทำลายโดยกัดกินใบ และยอดอ่อน
    3. เพลี้ยไฟ จะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบและยอดอ่อน โดยเฉพาะช่วงที่มะนาวติดผลอ่อน ทำให้ผลเป็นขี้กลากขายไม่ได้ราคา
    การป้องกันกำจัดได้อธิบายไปแล้วคือกระทำพร้อมกับการป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์

    ตารางการผลิตมะนาวนอกฤดูในภาชนะ

    table













    ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9 ในวันและเวลาราชกา

    รายงานโดย
    อาจารย์ พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ และสมศักดิ์ ศิริ นักวิชาการเกษตร งานถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร
    มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9

    © 2017 Your Company. All Rights Reserved. Designed By agethemes.com.com
    Free Joomla! templates by AgeThemes