โรคและแมลงศัตรูของน้อยหน่า

    na1 1

    โรคและแมลงศัตรูของน้อยหน่า

     

     

    a0013หลังจากฤดูกาลของลำไยผ่านไป ฤดูกาลของน้อยหน่าก็มาถึง ท่านที่ปลูกน้อยหน่าไว้ภายในบ้านเพื่อบริโภค หรือปลูกเป็นสวนเพื่อการค้า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักกับโรคและแมลงศัตรูของน้อยหน่า  ให้ได้รับประทานน้อยหน่าที่อร่อย รสชาติหวาน หอม และประสบความสำเร็จในการทำสวนน้อยหน่า

    โรคของน้อยหน่า

    โรคดอกร่วง 
    สาเหตุเกิดจากเชื้อรา เข้าทำลายก้านดอก และกลีบดอก เกิดเป็นจุดสีน้ำตาลดำ ทำให้ดอกร่วงหล่น ถ้าดอกที่เป็นโรคไม่รุนแรงดอกสามารถเจริญและสามารถสืบพันธุ์ได้ แต่โรคก็สามารถติดไปยังผลทำให้ผลเหี่ยวย่นมีสีน้ำตาลเข้ม ถ้าระบาดรุนแรงจะทำให้ผลเสียหายยังเป็นโรคต่อไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว การป้องกันกำจัด เก็บดอก และผลที่เป็นโรคติดต่อไปเผาทำลาย แล้วพ่นสารเคมี เช่นคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์

    DSCF1854
    โรคมัมมี่ของน้อยหน่า

    โรคมัมมี่
    โรคมัมมี่ สาเหตุเกิดจากเชื้อรา เข้าทำลายผิวเปลือก โดยในระยะแรกผิวเปลือกจะเป็นแผลจุดสีม่วงดำ และแผลจะขยายใหญ่มากขึ้น ผลเน่าแห้งและแข็ง แตกออกตามร่องของผลอย่างเห็นได้ชัด เนื้อเยื่อภายในจะเน่าเป็นสีน้ำตาลเนื้อไม่เละ คือลักษณะของผลน้อยหน่าที่เป็นโรคมัมมี่ ผลจะเน่าแห้งและแข็งเป็นสีน้ำดำทั้งผล โดยรูปร่างผลยังคงเดิมติดกับขั้วอยู่บนต้น การป้องกันกำจัด เก็บผลที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย และฉีดพ่นสารเคมีกำจัดเชื้อรา

     

    DSCF1858
    โรคแอนแทรคโนสของน้อยหน่า

    โรคแอนแทรคโนส
    โรคแอนแทรคโนส  สาเหตุเกิดจากเชื้อรา เข้าทำลายใบและยอดอ่อนของน้อยหน่า ซึ่งจะเข้าทำลายในช่วงฤดูฝน และมักเกิดกับต้นน้อยหน่าที่ไม่ได้รับการตัดแต่งกิ่ง โดยใบของน้อยหน่าที่เป็นโรคจะมีจุดสีดำกระจายบนใบ ทำให้ใบแห้งเหี่ยว และร่วงหล่น ยอดอ่อนที่เป็นโรคจะมีจุดสีดำบนปลายยอดและจะขยายลุกลามไปถึงโคนกิ่ง ทำให้กิ่งแห้งตาย โรคแอนแทรคโนสยังสามารถระบาดไปยังขั้วผลและผลน้อยหน่าได้ โดยโรคจะไหลไปกับหยดน้ำทำให้ขั้วผลและผลเน่า การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง เผาทำลายกิ่ง ใบ และผลที่เป็นโรค


    แมลงศัตรูของน้อยหน่า

    insec1 insec2
    ลักษณะของแมลงวันผลไม้หรือแมลงวันทอง

    แมลงวันผลไม้หรือแมลงวันทอง
    เข้าทำลายโดย ตัวเมียเข้าไปเจาะผลแล้ววางไข่ ประมาณ 1 – 2 วัน เข้าสู่ระยะตัวหนอน อาศัยกินอยู่ในผล ประมาณ 6 – 10 วัน หลังจากนั้นหนอนจะดีดตัวออกจากผลลงสู่ดินเพื่ออยู่ในระยะดักแด้ในดิน ประมาณ 8 – 12 วัน จะเป็นตัวเต็มวัย ปีหนึ่งจะขยายพันธุ์ได้ 8 – 12 ชั่วอายุ การป้องกันกำจัด โดยการห่อผลด้วยถุงกระดาษหรือถุงพลาสติก หรือใช้สารเคมี เช่น มาราไธออน ทำลายตัวเต็มวัย ทำลายดักแด้ และควรนำผลเน่าไปเผาทำลาย  เพื่อเป็นการกำจัดตัวหนอนในผลที่ยังเหลืออยู่ในผล


    insec5 insec4
    ลักษณะด้วงกินใบ

    ด้วงกินใบหรือแมลงค่อมทอง
    ลักษณะการทำลาย ด้วงจะกัดกินใบอ่อนและใบแก่ โดยเฉพาะขอบใบจะเว้าแหว่ง ทำให้ใบเสียหาย ตัวเต็มวัยสามารถปรับเปลี่ยนสีไปตามสภาพแวดล้อม การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง และรักษาความสะอาดในสวนอยู่เสมอ หรือใช้สารเคมีฉีดพ่น เช่น คาร์บาริล (เชพวิน 85 %) อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

    insec3
    ตัวด้วงทำลายดอก

    ด้วงทำลายดอก
    พบอยู่ 2 ชนิด คือ ด้วงมีงวงสีน้ำตาลอ่อน และด้วงไม่มีงวงสีน้ำตาลลายดำ ลักษณะการทำลาย ด้วงจะกัดกินเกสรตัวผู้ ยอดเกสรตัวเมีย กลีบดอกและก้านใบ ทำให้ดอกแห้งและร่วงหล่น การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นยาชนิดดูดซึม และประเภทถูกตัวตายควบคู่กันไปจะช่วยลดการระบาด เช่น ใช้บาซูดินน้ำผสมกับมาลาไธออนฉีดทุก 7-10 วัน ในระยะดอกเริ่มบานประมาณ 3-4 วัน

     

    DSCF1856
    ลักษณะน้อยหน่าที่โดนเพลี้ยแป้งทำลาย

    เพลี้ยแป้ง
    เพลี้ยแป้ง ลักษณะตัวสีขาว มีสารสีขาวคล้ายแป้งติดอยู่ตามตัว เพลี้ยแป้งมีลักษณะการทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงที่ผล ขั้วผล และใบ มักพบตัวเพลี้ยแป้งเกาะอยู่ตามร่องตาของผล  โดยในขณะเดียวกันจะผลิตสารพิษออกมาทำให้ผลเหี่ยว การป้องกันกำจัด ใช้มาราไธออนผสมสารจับใบ หรือผสมไวท์ออยฉีดพ่น

    ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
    อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ
    ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9 ในวันและเวลาราชการ

    © 2017 Your Company. All Rights Reserved. Designed By agethemes.com.com
    Free Joomla! templates by AgeThemes