ปลูกส้มโอในสวนหรือในกระถางก็ได้
ส้มโอเป็นพืชตระกูลส้มที่มีผลขนาดใหญ่ที่สุดและส้มโอยังเป็นไม้ผลพื้นเมืองของประเทศแถบคาบสมุทรอินโอจีน เช่น ไทยลาว เขมร เวียดนาม ส้มโอมีวิตามินซีสูงและยังมีวิตามินเอ วิตามินบี มีสารเพคตีนสูง มีฟอสฟอรัส แคลเซียม และกรดอินทรีย์ต่าง ๆ มากมาย ปัจจุบันคนทั่วไปสามารถปลูกส้มโอไว้รับประทานภายในสวนหลังบ้านและในบริเวณบ้านได้โดยไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก สามารถปลูกในแปลงหรือปลูกในกระถางก็ทำได้ แต่สิ่งที่ทุกท่านควรจะรู้และศึกษาคือ โรคและแมลงของส้มโอ เพราะว่าส้มโอตั้งแต่ออกดอกจนถึงเก็บรับประทานได้ รสชาติอร่อย ใช้เวลา ๗- ๘ เดือนทีเดียวครับ
โรคและแมลงศัตรูสำคัญของส้มโอ
วันนี้จะแนะนำเฉพาะโรคและแมลงที่เป็นพระเอกอยู่คู่กับส้มโอ และพบเห็นอยู่เสมอคือ
1.โรคแคงเกอร์
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าทำลายใบ กิ่ง และผลอ่อนของส้มโอ ระบาดมากในช่วงฤดูฝนหรือสวนที่มีอากาศชื้น บนใบพบแผลตกสะเก็ดนูนสีน้ำตาลแผลจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นวงซ้อนๆกัน ถ้าเกิดมากใบจะเหลืองไหม้และร่วงไปในที่สุด ตามกิ่งและผลจะพบเป็นแผลตกสะเก็ดนูนขึ้นเช่นเดียวกับใบ พบที่กิ่งอ่อน กิ่งแก่ ผลอ่อน ผลแก่ พันธุ์ที่พบโรคแคงเกอร์มาก ได้แก่ พันธุ์ขาวแป้นและขาวพวง
การป้องกันกำจัด
ควรตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ตัดแต่งกิ่งและใบส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลาย ทุกครั้งที่ส้มโอแตกใบอ่อน ติดผลอ่อน ให้ฉีดพ่นสมุนไพรน้ำส้มควันไม้ อัตราน้ำส้มควันไม้ ๑ ส่วนต่อน้ำ ๑๕๐ ส่วนหรือน้ำส้มควันไม้ ๑๕๐ ซีซี. ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร ฉีดพ่นสม่ำเสมอ หรือฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงคือ โรคแคงเกอร์และแมลงที่เป็นพาหะคือ หนอนชอนใบ ใช้สารประกอบทองแดง คอบเปอร์ออกซิคลอไรด์ หรือ คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ ผสมกับอะบาเม็กติน หรืออาจใช้สารปฏิชีวนะ เช่น สเตร็ปโตมัยซิน ซัลเฟต หรือ อะกรีมัยซิน เป็นต้น
2.โรคใบแก้ว
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แย่งอาหารจากใบส้ม ทำให้ใบแสดงการขาดธาตุอาหาร เพลี้ยกระโดดส้มเป็นพาหะและติดต่อมาจากกิ่งพันธุ์ที่เป็นโรคนี้
การป้องกันกำจัด
เลือกซื้อกิ่งพันธุ์ที่ปราศจากโรค และควรใส่ปุ๋ยคอกและฉีดพ่นธาตุสังกะสีทางใบให้แก่ส้มโอ อย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง ส่วนการใช้สารเคมีให้ปฏิบัติไปพร้อมกับโรคแคงเกอร์เลย
อาการของโรคใบแก้ว |
3.โรคยางไหล
เกิดจากเชื้อรา อาการโรคยางไหลตามรอยแตกของกิ่งและลำต้น แมลงจำพวกปากดูดเป็นพาหะ เกิดตามกิ่ง จะแห้งโดยจะเริ่มใบเหลืองและแห้ง ถ้าเกิดที่ลำต้นใบจะแห้ง ใบร่วงและต้นจะตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด
ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง พบระบาดมาก ใช้สารเคมีคอปเปอร์ออกซิคลอไรด์ หรือ คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ ผสมกับอะบาเม็กติน ฉีดพ่นทุก ๗ วัน
อาการโรคยางไหล |
4.หนอนชอนใบส้ม
เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญมากของพืชตระกูลส้ม พบระบาดมากในฤดูฝน โดยเฉพาะปีนี้ฝนตกฉุกมาก ตกต่อเนื่อง พบรอยด่างวกวนจนเป็นทาง โดยผีเสื้อกลางคืนวางไข่บนใบอ่อนและหนอนจะชอนไชกินผิวใบ ทำให้ใบส้มหงิก และม้วนงอ
การป้องกันกำจัด
ได้ทำไปแล้วพร้อมกับการป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์
ลักษณะของหนอนชอนใบ | ลักษณะของหนอนชอนใบ |
5.หนอนแก้วส้ม (หนอนกินใบส้ม)
เป็นหนอนขนาดใหญ่กว่าหนอนชอนใบและสามารถกัดกินใบอ่อนส้มได้รวดเร็วมาก จนเหลือแต่เส้นใบ ถ้าพบระบาดมากภายใน ๒ - ๓ วัน กินใบอ่อนหมดทั้งต้นได้ พบระบาดมากในฤดูฝนเช่นกัน
การป้องกันกำจัด
ใช้น้ำส้มควันไม้ หรือยาฆ่าแมลงไซเปอร์เมทธิล ฉีดพ่นช่วงแตกใบอ่อน
ลักษณะตัวหนอนแก้ว | หนอนแก้วกัดกินใบ | ไข่หนอนแก้ว |
6.เพลี้ยไฟ ไรแดง
เป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก ทำลายช่วงที่มีอากาศร้อน พบมากในช่วงดอกบาน แมลงชนิดนี้จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ทำให้ใบหงิกงอ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากเกสรดอก ส่งผลให้ส้มโอไม่ติดผล ดอกร่วง ถ้าติดผล ผลจะเป็นวง ผิวจะตกกระ ขายไม่ได้ราคา
การป้องกันกำจัด
ใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่นช่วงแตกใบอ่อน หรือฉีดพ่นสารเคมีกลุ่มคาร์โบซัลแฟน ผสมกับเฟนไฟโรซิเมต
ตัวเพลี้ยไฟ |
ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ
ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9 ในวันและเวลาราชการ