ชมพู่จัดเป็นไม้ผลเมืองร้อน มีถิ่นกำเนิดแถบประเทศอินโดนีเซีย และอินเดีย ปัจจุบันทุกบ้านที่มีต้นไม้ผลปลูกในบริเวณสวนหน้าบ้าน นิยมปลูกไม้ผลหลากหลายชนิดผสมผสานกันไป เพื่อไว้บริโภคภายในครัวเรือน ชมพู่เป็นหนึ่งในไม้ผลนั้น เพราะปลูกง่าย โตเร็ว รสชาติหวานกรอบ วิตามินซีสูง พันธุ์ที่นิยมปลูกคือ ชมพู่ทับทิมจันทร์ผลสีแดงเข้ม ผลโต รสชาติหวานกรอบ ชมพู่ทูลเกล้า ผลโต ผลสีขาวอมชมพู รสชาติหวานกรอบ ชมพู่เพชรสายรุ้ง ชมพู่เพชรน้ำผึ้ง ชมพู่เขียวมรกต และพันธุ์อื่นๆ
ชมพู่เป็นไม้ผลที่ค่อนข้างจะปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค เพราะทุกผลต้องห่อ เพื่อป้องกันแมลงวันผลไม้ หรือทั่วไปเรียกแมลงวันทอง เพราะตัวแมลงมีสีทอง หลายคนบ่นเสมอว่ามีชมพู่ที่บ้านอยู่ 1 ต้น ไม่ได้กินสักลูก พอออกดอกติดผล ผลก็เริ่มร่วง ร่วงจนหมดต้น ห่อก็แล้วก็ยังร่วงอยู่ในถุง เน่าบ้างมีหนอนอยู่ในผลบ้าง ลูกไม่โต รสชาติก็ไม่หวาน จะฟันทิ้งก็เสียดายเอาไว้ให้ร่มภายในบ้านก็แล้วกัน และยังลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย ทั้งหมดที่ว่ามานี้แก้ไขได้จ๊ะ
การห่อชมพู่
ชมพู่เป็นไม้ผลที่แมลงวันผลไม้ นิยมชมชอบที่จะเข้าทำลาย และวางไข่มากที่สุด เพราะผิวชมพู่มีสีสรร และบอบบางมาก ง่ายที่จะเจาะเข้าทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกดอกติดผลของชมพู่ออกครั้งละมากๆ ผลการศึกษาทดลอง พบว่าโอกาสที่ผลชมพู่ที่ถูกแมลงวันผลไม้เข้าทำลายทำให้ผลเน่าเสีย กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่มีการห่อผลชมพู่
การปลิดผล
ควรปลิดผลที่ไม่สมบูรณ์ ผลบิดเบี้ยว ช่อที่ตั้งขึ้นข้างบนกิ่ง ผลที่เล็กกว่าเพื่อนออก เหลือผลที่สมบูรณ์ช่อผลที่ติดกับกิ่งหลัก และชี้ลงด้านล่าง เหลือไว้ประมาณ 2-3 ผล ถ้าไว้มากกว่านี้จะทำให้ขนาดของผลเล็ก ผลไม่สมบูรณ์ รูปร่างอาจบิดเบี้ยวเนื่องจากการเบียดกัน และทำให้ผลร่วงอยู่ในถุงได้
วัสดุห่อผล
ปัจจุบันนิยมใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่น (ถุงหิ้ว หรือถุงกรอบเเกร็บ ) ขนาด 6X14 นิ้ว ตัดมุมถุงด้านล่างออกเพื่อป้องกันน้ำขัง และระบายอากาศ ห่อผลชมพู่ 2-3 ผล โดยผูกช่อให้ติดกับกิ่งหลัก
ระยะเวลาในการห่อผล
หลังจากออกดอกแล้วประมาณ 1 เดือน โดยสังเกตว่าผสมเกสรติด เกสรร่วงหมดจนเห็นเป็นผลชมพู่ ก็ให้ห่อได้เลย ถ้าช้ากว่านี้แมลงวันผลไม้สามารถเข้าวางไข่ได้ เพราะเดี่ยวนี้ไม่ว่ายุงก็ไม่เกาะแล้วดูดเลือด แล้วบินเข้าดูดเลือดจากคนเลย เพราะเกาะแล้วคนจะรู้สึกเนื่องจากจะสัมผัสขนก่อน ทำให้คนรู้สึกว่ายุงกำลังจะกัดเลยถูกตบก่อนที่จะได้กินเลือด แมลงวันผลไม้ก็พัฒนาเช่นกัน เมื่อก่อนนี้จะห่อชมพู่ 2 เดือนหลังจากออกดอก แต่เดี่ยวนี้ไม่ทันกาลแล้ว ต้องห่อก่อนแมลงวันผลไม้
ปุ๋ยและการให้น้ำ
ให้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ผสมกับปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 หรือ 8-24-24 ประมาณ 2 ครั้งหลังจากติดผล ปริมาณ เส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม ประมาณ 3 เมตร ให้ 250-300 กรัม ต่อต้นต่อครั้ง แล้วให้น้ำตามและให้อย่างสม่ำเสมอ เท่านั้นท่านก็จะได้รับประทานชมพู่ผลโต สีสรรสวยงาม และหวานกรอบอร่อย หายบ่นได้เลย
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9 089-6311432 begin_of_the_skype_highlighting 089-6311432 end_of_the_skype_highlighting