ปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในภาคเหนือที่พบอยู่เสมอ ในการผลิตลำไยในฤดูคือ ผลขนาดใหญ่มีน้อย ผลขนาดเล็กมีมาก ผลไม่โตสม่ำเสมอทั้งช่อมีหลายขนาด เนื้อแฉะน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรต้องเพิ่มต้นทุนในการคัดขนาด และเมื่อนำผลผลิตไปจำหน่ายได้ราคาถูกไม่คุ้มค่ากับการลงทุน สาเหตุหลักเนื่องมาจากต้นลำไยติดผลดกมากเกินไป ทำให้เกิดการแก่งแย่งน้ำ และอาหารที่ใบสร้างขึ้น จนไม่เพียงพอต่อการนำไปสร้างผลทุกผลในช่อ ให้ได้คุณภาพเท่าเทียมกัน จากการทดลองของผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน และคณะ ผลแนวทางปฏิบัติที่ได้ผลดี และแน่นอนคือ
1. การตัดแต่งกิ่ง รูปทรงของการตัดแต่งกิ่งมีผลต่อคุณภาพผลผลิต จากการทดลองตัดแต่งกิ่งลำไย 4 ทรง คือ ทรงฝาชีหงาย ทรงเปิดกลางทรงพุ่ม ทรงสี่เหลี่ยมและทรงครึ่งวงกลม พบว่าทรงฝาชีหงายให้ผลผลิตมีคุณภาพดีกว่าทรงอื่น ๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีจำนวนกิ่งต่อต้นน้อยและผลผลิตส่วนหนึ่งของทรงฝาชีหงายเกิดจากกิ่งกระโดงที่สมบูรณ์แข็งแรง เมื่อผลแก่ช่อผลจะโน้มหลบในทรงพุ่มทำให้ผลมีขนาดใหญ่และสีผิวเหลือง
2. ปลิดผลและตัดช่อผล การเพิ่มขนาดและคุณภาพของผลลำไยจากต้นที่ติดผลดกนั้นได้มีความพยายามศึกษาทดลองในหลาย ๆ วิธีเช่น การใส่ปุ๋ยและการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโต (ฮอร์โมน) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั้งได้ทดลองตัดช่อผลลำไยออกบางส่วนพบว่าเพิ่มขนาดของผลลำไยได้ผลเป็นที่น่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับต้นลำไยที่ไม่ได้ปลิดผล (ตารางที่ 6.1) อย่างไรก็ตามเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติควรใช้กรรไกรตัดปลายช่อผลประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวช่อหรือไว้ผลไม่เกิน 50 ผลต่อช่อ หรืออาจตัดช่อเว้นช่อก็สามารถเพิ่มขนาดของผลได้อย่างชัดเจน และมีรายได้มากกว่าต้นที่ไม่ตัดช่อ (ตารางที่ 6.1) ระยะการตัดที่เหมาะสมควรตัดผลลำไยมีขนาดไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร หรือผลลำไยมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเหลือง วิธีตัดช่อถ้าเป็นต้นเล็กใช้กรรไกร ในกรณีที่ต้นสูงควรใช้กรรไกรด้ามยาวตัด สำหรับแรงงานตัดช่อผลเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 40 – 200 บาทต่อต้น เชื่อว่าวิธีเพิ่มคุณภาพของผลลำไยโดยการตัดช่อผลจะได้รับการยอมรับจากเกษตรกรผู้ปลูกลำไยถึงแม้จะเป็นวิธีที่ยุ่งยาก สิ้นเปลืองแรงงาน แต่เป็นวิธีที่ได้ผลแน่นอน ในอนาคตถ้ามีการจัดทรงพุ่มลำไยให้ต้นเตี้ยก็สามารถปฏิบัติง่ายขึ้น
ตารางที่ 6.1 น้ำหนักผล เกรดผลและรายได้ต่อต้นของลำไยที่ไว้จำนวนผลต่อช่อต่างกัน
การไว้ผลต่อช่อ ปริมาณผลผลิต เกรดผล (%) รายได้ต่อต้น
ต่อต้น(กก.) ใหญ่ เล็ก (บาท)
ไม่ปลิดผล (ไว้ผล 99 ผล 61.4 0.0 100.0 350
ไว้ผล 30 ผลต่อช่อ 36.6 72.0 28 945
ไว้ผล 60 ผลต่อช่อ 62.8 82.7 17.3 1,803
การให้ปุ๋ย ให้ปุ๋ยสูตร 15 - 15 - 15 หรือสูตร 13 - 13 – 21 โดยแบ่งใส่ประมาณ 2 – 3 ครั้ง หลังจากติดผลแล้วจนถึงก่อนการเก็บเกี่ยว อัตราที่ให้ขึ้นอยู่กับขนาด และผลผลิตที่ติดอยู่ในต้น หลังจากให้ปุ๋ยแล้วให้น้ำตามทุกครั้ง เพื่อให้ปุ๋ยละลาย และต้นลำไยสามารถนำไปใช้ได้
ตารางแสดงปริมาณปุ๋ยทีควรให้แก่ลำไยระยะติดผลถึงก่อนเก็บเกี่ยว (กรัมต่อต้น)
ปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะได้ ปริมาณปุ๋ย
50 กิโลกรัม 1.5 กิโลกรัม
100 กิโลกรัม 3 กิโลกรัม
200 กิโลกรัม 6 กิโลกรัม
( แบ่งใส่ 2 – 3 ครั้ง )
การป้องกันโรคและแมลง
โรคราดำ จะมีคราบสีดำเกาะติดตามผิวผล เกิดจากพวกเพลี้ยแป้ง และเพลี้ยหอยเข้าทำลาย ป้องกันกำจัดโดยใช้ ปิโตรเลี่ยมออยล์ หรือครอไพรีฟอสฉีดพ่น
โรคผลแตก ผลลาย และผลร่วง เกิดจากเชื้อราเข้าทำลายตั้งแต่ผลมีขนาด 1.5 เซนติเมตร จะแพร่ระบาดรุนแรงในฤดูฝนเนื่องจากความชื้นสูง การป้องกันและกำจัดโดยใช้ ทีบูโคนาโซล 25%EW อัตราที่ใช้ 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือโปรไซมิโดน 50%WP อัตราที่ใช้ 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9 089-6311432 begin_of_the_skype_highlighting 089-6311432 end_of_the_skype_highlighting