เกี่ยวกับ

เหตุผลและความจำเป็นในการจัดตั้งศูนย์

          มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้กำหนดทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะ 15 ปี พ.ศ. 2555-2569 ในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิตที่มีเกษตรเป็นรากฐาน ภายใต้กรอบเส้นทางการพัฒนา Go Eco U โดยใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อตอบโจทย์ การพัฒนาท้องถิ่นและประเทศ ให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระบวนการขับเคลื่อนงานด้านเกษตรอินทรีย์ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2561 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในชุดโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 420 ล้านบาท เพื่อดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่า โดยบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการ เช่น มาตรฐานและการรับรองเกษตรอินทรีย์ การทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน การผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ การควบคุมศัตรูพืชสำหรับเกษตรอินทรีย์ พืชสมุนไพรเพื่อการเกษตรอินทรีย์ การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวผลิตผลและการแปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และการตลาดเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ต้นแบบที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่า (ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ) จำนวน 29 แหล่งเรียนรู้ เพื่อให้บริการฝึกอบรมและศึกษาดูงานในรูปแบบหลักสูตรระยะสั้นแก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป มากกว่าปีละ 10,000 ราย ส่งผลให้มีเกษตรกรสนใจ เข้าร่วมเครือข่ายความร่วมมือด้านเกษตรอินทรีย์มหาวิทยาลัย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีมากถึง 413 ครัวเรือน

          สำหรับการบริหารจัดการงานด้านเกษตรอินทรีย์ของมหาวิทยาลัย เป็นการบริหารจัดการโดยหน่วยงานต้นสังกัด จึงขาดความเชื่อมโยงและขาดการพัฒนางานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย GO Eco U. ตลอดจนการบูรณาการงานด้านเกษตรอินทรีย์ที่ต้องใช้ความร่วมมือ จากหลายภาคส่วนทำได้ยากและมีการประสานงานหลายขั้นตอน ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเกษตรอินทรีย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ให้บรรลุเป้าหมาย อันได้แก่  การสร้างระบบกลไกการบริหารจัดการงานด้านเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรที่ครอบคลุมการบริหารและประสานงานโครงการ การรวบรวมข้อมูลงานวิจัย งานบริการวิชาการ และนวัตกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ของมหาวิทยาลัย ตลอดจนการสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและภายนอก เช่น สถาบันการศึกษา ท้องถิ่น จังหวัด กระทรวง และหน่วยงานภาคเอกชน เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของศูนย์

           1. เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานด้านเกษตรอินทรีย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

           2. เพื่อรวบรวมข้อมูลงานวิจัย องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

           3. เพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและภายนอก สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ของชาติ ตลอดจนสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ

           4. เพื่อเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์อินทรีย์และปัจจัยการผลิตเกษตรอินทรีย์

พันธกิจของศูนย์

           1. ประสานงานด้านเกษตรอินทรีย์ในระดับชาติและนานาชาติ

           2. สร้างฐานข้อมูล บริหารจัดการและบูรณาการองค์ความรู้จากงานวิจัย นวัตกรรม บริการวิชาการ และการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับแผนแม่บทของบริการวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์ อย่างครบวงจร

           3. สร้างเครือข่ายและผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ พัฒนาเทคโนโลยี และเสริมสร้างนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจรในระดับชาติและนานาชาติ

           4. สร้างและส่งเสริมการรับรองมาตรฐานและนโยบายด้านเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค

           5. การพัฒนา ส่งเสริมรูปแบบ ระบบการคัดบรรจุ  และการแปรรูปผลผลิตอินทรีย์ของมหาวิทยาลัย ชุมชน และผู้ประกอบการ

           6. พัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ออนไลน์และศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์อินทรีย์และปัจจัยการผลิตเกษตรอินทรีย์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ของมหาวิทยาลัย