เอื้องแซะหอม"กล้วยไม้ไทยดอกหอมในชุมชน"

    flowerเอื้องแซะหอม"กล้วยไม้ไทยดอกหอมในชุมชน"

    pic-9เอื้องแซะ หรือเอื้องซะหอม เป็นกล้วยไม้พื้นเมืองที่สำคัญของภาคเหนือ ดอกสีขาว ขนาด 2 – 3 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม กลีบหนาเป็นมัน บานได้นาน ออกดอกตามข้อ 1 – 3 ดอกต่อช่อ ปากมี 3 แฉก กลีบปากสีเหลือง สีเหลืองอมเขียว หรือสีเหลืองอมแสด มักเกาะอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ บนภูเขาสูง อากาศหนาวเย็น ชื้น มีเมฆหมอกปกคลุมตลอดปี ดอกบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ท่ามกลางความหนาวเย็นของหมอกหนา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ในประเทศไทยพบมากในพื้นที่ป่าดิบแล้งและป่าสนของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป แต่จากสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งพื้นที่ป่าไม้อันเป็นแหล่งกำเนิดถูกทำลายลงอย่างมาก ตลอดจนปัญหาการลักลอบเก็บต้นออกจากป่าเพื่อจำหน่ายคราวละมาก ๆ ส่งผลให้จำนวนเอื้องแซะหอมในป่าลดปริมาณลงอย่างต่อเนื่องทุกปี

    เอื้องแซะหอมเป็นกล้วยไม้ไทยที่มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจ ทั้งเพื่อการผลิตเป็นต้นกล้วยไม้กระถางดอกหอม และการปลูกเลี้ยงเพื่อผลิตดอกสำหรับนำไปสกัดเป็นน้ำหอมหรือเครื่องหอม การส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ป่าแหล่งกำเนิดซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจนได้ปลูกเลี้ยงเป็นการค้า เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถอนุรักษ์และพัฒนาเอื้องแซะหอมอย่างยั่งยืนได้ ดังนั้น จึงได้จัดทำโครงการวิจัยเพื่อศึกษา หารูปแบบการปลูกเลี้ยงที่ง่ายและเหมาะสมกับพฤติกรรมของคนในชุมชน โดยได้เปรียบเทียบชนิดของภาชนะและวัสดุปลูกที่มีราคาถูกและหาได้ง่ายในท้องถิ่นซึ่งทำให้เอื้องแซะหอมเจริญเติบโตดี มีดอกดก เพื่อการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของคนในชุมชนและประชาชนที่สนใจ ทั้งยังสามารถลดปัญหาการลักลอบเก็บต้นออกมาจากป่าได้อีกทางหนึ่ง

    pic-11การปลูกเลี้ยงเอื้องแซะหอมนั้นไม่ยาก โดยควรมีการปฏิบัติดูแลให้สอดคล้องกับอายุต้น และระยะการพัฒนาของต้นในรอบปี การวิจัยเริ่มจากการนำต้นกล้าที่อนุบาลในกระถางขนาด 1 นิ้ว (ต้นกล้วยไม้นิ้ว) ซึ่งใช้สแฟคนัมมอสเป็นวัสดุปลูกไปปลูกเลี้ยงภายใต้โรงเรือนพรางแสงหลังคาพลาสติกกันฝนในพื้นที่ชุมชน 4 แห่ง ได้แก่ บ้านน้ำกัด บ้านแม่สุยะ บ้านทุ่งมะส้าน และบ้านนาปลาจาด ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ดูแลรักษาโดยรดน้ำวันละครั้งในตอนเช้า ช่วงฤดูฝนควบคุมความชื้นไม่ให้สูงเกินไปเพราะทำให้ต้นเน่าตายได้ง่าย ฉีดพ่นปุ๋ยเกร็ดสูตร 21-21-21 อัตรา 25 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 15 วัน ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงสลับกันทุก 15 วัน จนถึงช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งพบว่า ต้นกล้าที่ปลูกเลี้ยงมีการเจริญเติบโตทางด้านต้นและใบที่ดี มีการพัฒนาจำนวนและขนาดลำลูกกล้วยได้ไม่แตกต่างกัน ต้นที่ปลูกเลี้ยงที่บ้านทุ่งมะส้านมีจำนวนใบมาก แต่มีอัตราการตายสูงกว่าต้นในชุมชนอื่น ๆ

    การปลูกเลี้ยงระยะต้นกล้วยไม้รุ่น โดยในช่วงต้นฤดูฝนได้ย้ายต้นกล้าที่อายุครบปีลงปลูกในภาชนะและวัสดุที่แตกต่างกัน 4 ชนิด คือ 1.) ปลูกลงในกระถางพลาสติก 3.5 นิ้ว โดยใช้ตุ้มกาบมะพร้าว หรือ 2.) เปลือกสนเป็นวัสดุปลูก 3.) ปลูกลงในกระเช้าพลาสติก 3 นิ้ว โดยไม่เติมวัสดุปลูก และ 4.) ปลูกต้นติดท่อนไม้ ดูแลรักษาโดยรดน้ำเมื่อผิววัสดุปลูกหมาดแห้ง ในช่วงเดือนเมษายน – กันยายน ฉีดพ่นปุ๋ยเกร็ดสูตร 21-21-21 อัตรา 25 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 15 วัน ในเดือนตุลาคมให้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูง (10 – 52 – 17) และในเดือนพฤศจิกายนให้ปุ๋ยที่มีโปแตสเซียมสูง (7-17-35) จนกระทั่งต้นทิ้งใบไปประมาณครึ่งหนึ่งจึงงดให้ปุ๋ย โดยฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา แมลงและไรแดง ทุก 15 วัน ซึ่งพบว่า เปลือกสนและตุ้มกาบมะพร้าวเป็นวัสดุปลูกทำให้ต้นเจริญเติบโตได้ดี โดยมีจำนวนลำลูกกล้วย และจำนวนใบมาก มีอัตราการตายของต้นน้อยกว่าต้นที่ปลูกโดยไม่เติมวัสดุและต้นที่ปลูกติดท่อนไม้ การใช้ตุ้มกาบมะพร้าวและไม่เติมวัสดุปลูกทำให้มีจำนวนต้นที่พัฒนาดอก และจำนวนดอกต่อต้นมากที่สุด

    การปลูกเลี้ยงระยะต้นเจริญพันธุ์หรือออกดอก ดูแลรักษาเช่นเดียวกับระยะต้นกล้วยไม้รุ่น ซึ่งพบว่า เปลือกสนและตุ้มกาบมะพร้าวเป็นวัสดุปลูกที่ทำให้ต้นพัฒนาลำลูกกล้วยได้จำนวนมาก แต่ยังคงมีจำนวนลำใหม่ ขนาดความกว้างและสูงลำ รวมถึงจำนวนต้นที่พัฒนาดอกไม่แตกต่างจากวัสดุชนิดอื่น ส่วนการปลูกต้นติดท่อนไม้ทำให้ได้ต้นที่สามารถออกดอกได้น้อยที่สุด ซึ่งต้นที่บ้านทุ่งมะส้านและบ้านนาปลาจาดซึ่งปลูกโดยใช้ตุ้มกาบมะพร้าว ต้นบ้านน้ำกัดที่ปลูกโดยไม่เติมวัสดุ และต้นบ้านแม่สุยะที่ปลูกโดยใช้เปลือกสนมีจำนวนดอกต่อต้นมากไม่แตกต่างกัน

    pic-10จากผลการวิจัยสามารถสรุปได้ว่า เอื้องแซะหอมเป็นกล้วยไม้ไทยที่สามารถปลูกเลี้ยงให้เจริญเติบโตและออกดอกได้ดีในพื้นที่ของภาคเหนือ โดยต้องเข้าใจถึงธรรมชาติและนิสัยของกล้วยไม้ชนิดนี้ด้วย ในระยะต้นกล้าซึ่งต้นยังอ่อนแอควรปลูกเลี้ยงภายใต้โรงเรือนที่กันแดดและเม็ดฝน ส่วนระยะต้นรุ่นและระยะต้นเจริญพันธุ์ควรปลูกเลี้ยงภายใต้สภาพร่มเงาที่พรางแสงลง 60 – 70% โดยควรฉีดพ่นปุ๋ยและสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงอย่างสม่ำเสมอในทุกระยะการเจริญเติบโต ซึ่งทำให้เอื้องแซะหอมสามารถที่จะออกดอกได้เมื่ออายุเพียง 2 ปี ภาชนะและวัสดุปลูกที่แตกต่างกันทั้ง 4 ชนิด สามารถใช้ปลูกเลี้ยงได้ แต่ชนิดที่เหมาะสมคือกระถางพลาสติก 3.5 นิ้ว ใช้ตุ้มกาบมะพร้าวหรือเปลือกสนเป็นวัสดุปลูก โดยตุ้มกาบมะพร้าวเป็นวัสดุที่เกษตรกรชื่นชอบ เนื่องจากปลูกเลี้ยงและดูแลรักษาง่าย เก็บรักษาความชุ่มชื้นได้ดีกว่าเปลือกสน เป็นของเหลือใช้ในครัวเรือนจึงหาได้ง่ายในท้องถิ่น และมีราคาถูก

    โครงการวิจัยฯ ได้นำผลวิจัยที่ได้ไปถ่ายทอดผ่านโครงการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในชุมชนทั้ง 4 แห่ง ให้ปลูกเลี้ยงเอื้องแซะหอมเป็นอาชีพ ทั้งเพื่อการผลิตดอกจำหน่ายให้กับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้นำมาสกัดกลิ่นหอม หรือเพื่อการผลิตเป็นต้นกล้วยไม้กระถางดอกหอมจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้ครอบครัว และช่วยอนุรักษ์พันธุ์ให้คงอยู่ในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

    (ข้อมูลโดยนายสมยศ มีสุข นักวิชาการเกษตร ฝ่ายยุทธศาสตร์และประสานงานวิจัย สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ โทร. 0 5387 3856, 0-8926-4307-2)

    เผยแพร่ผ่านทางวารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 23 ฉบับที่ 494 วันที่ 1 ม.ค.2554 หน้า 34-35

    pic-13

    © 2017 Your Company. All Rights Reserved. Designed By agethemes.com.com
    Free Joomla! templates by AgeThemes