การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ(หมูหลุม)ตอนที่ 1

    pig3การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ(หมูหลุม)ตอนที่ 1

     


    การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) ทางเลือกของเกษตรกร ผู้ที่มีความนิยมชมชอบการเลี้ยงสุกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากการเลี้ยงสุกรขุนที่เลี้ยงกันทั่วไปมีต้นทุนการเลี้ยงสูง วัตถุดิบอาหารสัตว์และปฏิชีวนะมีราคาแพง ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรประสบปัญหาขาดทุน  การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) เน้นการใช้วัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติและในท้องถิ่นเป็นหลัก หาง่าย ราคาถูก และสามารถนำวัสดุที่เหลือใช้ต่าง ๆ กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีก ทำให้ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสุกรได้ค่อนข้างมาก  อีกทั้งเป็นการพึ่งพาอาศัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกันระหว่างพืชกับสัตว์ กล่าวคือ เมื่อมีการปลูกพืชเกษตรกรสามารถใช้พืชหรือเศษพืชผัก และผลไม้ต่าง ๆ กลับมาทำเป็นอาหารหมักเลี้ยงหมูหลุมได้ ในทำนองเดียวกันพืชก็สามารถใช้ประโยชน์จากหมูหลุมได้เช่นกัน โดยการใช้วัสดุที่อยู่ในหลุมซึ่งถูกย่อยสลายและหมักโดยจุลินทรีย์กลุ่มที่ให้ประโยชน์ กลายเป็นปุ๋ยหมักอย่างดีนำไปใช้ปรับปรุงบำรุงดิน และเป็นอาหารของพืชได้ ช่วยทำให้การผลิตทั้งพืชและสุกรมีต้นทุนการผลิตลดน้อยลง การเลี้ยงหมูหลุมจะไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นของมูลสุกร น้ำเสีย และช่วยรักษาสภาพแวดล้อม หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและปฏิชีวนะ ทำให้ได้เนื้อสุกรที่ปลอดภัยจากสารพิษไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค pic-14

    ข้อดีของการเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) 
    1.  สามารถใช้วัสดุต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติและในท้องถิ่น หาง่าย ราคาถูก
    2.  ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากมูลสุกรและน้ำเสีย
    3.  สามารถเลี้ยงในชุมชนได้ เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจากมูลสุกรและแมลงวัน
    4.  ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการล้างทำความสะอาดคอกและบำบัดน้ำเสีย
    5.   มีระบบการหมุนเวียนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในคอกหรือหลุมสุกร
    6. มูลสุกรและวัสดุในหลุมซึ่งถูกหมักและย่อยสลายโดยจุลินทรีย์กลายเป็นปุ๋ยหมักอย่างดีนำไปเป็นปุ๋ยให้กับพืช ปรับปรุงดินบำรุงดิน หรือจำหน่าย
    7.  ต้นทุนการผลิตต่ำโดยเฉพาะต้นทุนด้านอาหารสามารถลดได้ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์
    8.  หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือยาปฏิชีวนะ ทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค


    องค์ประกอบที่สำคัญของการเลี้ยงหมูหลุม
    1.  การสร้างโรงเรือนและคอกสำหรับเลี้ยงหมูหลุม
    2.  การเตรียมพื้นคอกหมูหลุม
    3.  การผลิตเชื้อราขาวหรือจุลินทรีย์ท้องถิ่น

    4.  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืช มี 3 ชนิด
    4.1  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสีเขียว
    4.2  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากผลไม้สุก 
    4.3  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสมันไพร

    5.  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากน้ำซาวข้าว มี 3 ชนิด
    5.1  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากน้ำซาวข้าวกับเปลือกไข่
    5.2  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากน้ำซาวข้าวกับถ่านกระดูกสัตว์
    5.3  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากน้ำซาวข้าวกับนมสด

    6.  การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ จาก กุ้ง หอย ปู ปลา ไส้เดือน และรกสุกร อย่างใดอย่างหนึ่ง
    7.  การทำอาหารหมักสำหรับหมูหลุม
    8.  การทำน้ำหมากฝรั่งสำหรับหมูหลุม
    9.  การเลี้ยงและการจัดการหมูหลุม

    สามารถสอบถามรายละเอียได้ที่
    อาจารย์สุกิจ ติดชัย  นักวิชาการเกษตรชำนาญการ 8  ฝ่ายปรับปรุงและพัฒนาพันธุกรรมพืชและสัตว์  
    สำนักวิจัยฯ   มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร.0-5387-3942

    pic-15

    © 2017 Your Company. All Rights Reserved. Designed By agethemes.com.com
    Free Joomla! templates by AgeThemes