[notice class="notice"]ระวังโรคและแมลงศัตรูมะนาว[/notice]
โดยอาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์
นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่
ใกล้จะถึงวันออกพรรษาเข้ามาทุกที ในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่19 ตุลาคมและเดือนต่อไปก็จะถึงเทศกาลลอยกระทง หลายท่านจะสังเกตเห็นว่า หกโมงเย็นก็จะเริ่มมืดแล้วและกว่าจะสว่างในตอนเช้าก็หกโมงเช้า ฤดูกาลเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว และช่วงนี้จะเรียกว่าปลายฝนต้นหนาว เกษตรกรที่ปลูกมะนาวก็เริ่มกระตุ้นให้มะนาวออกดอกติดผล เพื่อที่จะให้ทันจำหน่ายในเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมซึ่งจะได้ราคาแพง เพราะเป็นมะนาวนอกฤดู แต่สิ่งที่จะต้องระวังก็คือ โรคและแมลงศัตรูตัวร้ายของมะนาว เช่นโรคแคงเกอร์และหนอนชอนใบ
โรคแคงเกอร์
โรคนี้สาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถเข้าทำลายได้ทั้งใบอ่อน กิ่ง และผลมะนาว ทำให้เกิดเป็นแผลตกสะเก็ดนูนสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่ ทั้งใบ กิ่งและผล แผลจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆเห็นเป็นวงซ้อนๆกัน ต่อมาจะเหลืองแห้งและหลุดล่วงไป อาการที่พบเชื้อแบคทีเรียเข้าทำลายใบอ่อน กิ่งอ่อน ผลอ่อนในช่วงที่ฝนตกติดต่อกันและอากาศชื้น อาการจะลุกลามติดกับใบอ่อนที่เกิดบาดแผลจากหนอนชอนใบเข้าทำลาย อาการเริ่มแรกที่พบเห็นเป็นจุดฉ่ำน้ำใสๆ เท่าหัวไม้ขีดไฟและจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตรงกลางแผลจะตกสะเก็ดนูนขึ้น สีน้ำตาลอ่อน ส่วนอาการที่เกิดตามกิ่งอ่อนและผลจะพบแผลตกสะเก็ดนูนขึ้นสีน้ำตาลเช่นเดียวกัน แผลที่กิ่งและผลอาจจะแตกเป็นแผลทำให้เกิดยางไหล ลุกลามไปยังใบทำให้ใบหลุดร่วงและกิ่งแห้งตายไปในที่สุด
อาการของโรคแคงเกอร์ |
โรคแคงเกอร์เป็นโรคประจำตัวของพืชตระกูลส้ม บางสายพันธุ์ทนทานต่อโรคนี้ บางสายพันธุ์ก็อ่อนแอต่อโรคนี้ แต่มักจะพบในมะนาวทุกสายพันธุ์ โรคนี้ระบาดและแพร่กระจายมากในฤดูฝนอากาศชื้น หรือช่วงที่มะนาวแตกใบอ่อน เกษตรกรควรหมั่นตรวจดูแปลงปลูกมะนาวอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบเห็นโรคที่เกิดควรเก็บใบ กิ่ง และผล ที่เกิดอาการโรคแคงเกอร์ไปเผาทำลาย สามารถลดการระบาดของโรคนี้ได้อย่างมากทีเดียว
การป้องกันกำจัด
ให้ฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ที่ตกตะกอนแล้ว อัตรา150-200ซีซีต่อน้ำ20ลิตร ทุกครั้งที่มะนาวแตกใบอ่อน โดยเฉพาะช่วงฝนตกติดต่อกันให้พ่นทุกๆ5-7วัน ในน้ำส้มควันไม่มีสารฟีนอล สามารถสามารถป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรียได้ผลดี และไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม หรือจะฉีดพ่นสารประกอบทองแดงเช่นคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ หรือคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์เป็นผงสีน้ำเงิน อัตรา50-70กรัมต่อน้ำ20ลิตร ทุกครั้งที่มะนาวแตกใบอ่อน หรือฝนตกชุกทุกๆ7-10วัน/ครั้งและควรผสมสารจับใบ จะช่วยป้องกันการฉะล้างในฤดูฝนได้ดี
หนอนชอนใบ
หนอนชอนใบส้มเป็นแมลงศัตรูตัวร้ายของพืชตระกูลส้มโดยเฉพาะมะนาว พบระบาดมากในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม เพราะมะนาวแตกใบอ่อนหลายครั้ง ในมะนาวที่ถูกหนอนชอนใบเข้าทำลายของจะพบรอยชอนไชของหนอนเป็นทางขาวๆสีใส วกวนไปมาบนผิวใบอ่อนของมะนาวเป็นส่วนมาก ทำให้ใบบิดงอเสียรูปทรงและยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแคงเกอร์ตามมา หนอนชอนใบจะชอนกินบนผิวใบ เป็นหนอนไม่มีขาตัวสีเขียว มองด้วยตาเปล่าก็เห็น ถ้าจะให้ชัดต้องใช้แว่นขยายส่องดูช่วงมะนาวแตกใบอ่อน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีดไฟ ตัวหนอนจะเข้าทำลายและชอนไชเฉพาะใบอ่อนเท่านั้น
อาการของโรคหนอนชอนใบ |
การป้องกันกำจัด
ให้ฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้อัตรา150-200ซีซีต่อน้ำ20ลิตร ทุกครั้งที่มะนาวแตกใบอ่อนหรือจะใช้สารเคมีอะบาแม็กตินฉีดพ่นทุกครั้งที่มะนาวแตกใบอ่อน แต่ยาฆ่าแมลงจะเป็นอันตรายต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมต่างๆ
น้ำส้มควันไม้ขนาด1ลิตร
อัตราการใช้
150-200ซีซี ต่อน้ำ 20ลิตร หรือ 1ลิตรต่อน้ำ 150-200ลิตร
วิธีการผลิต
เผาโดย เตาเผาถ่าน อีวาเตะ ต้นแบบประเทศญี่ปุ่น วัตถุดิบไม้ลิ้นจี่ และไม้ลำไยเก็บน้ำส้มควันไม้ขณะที่อุณภูมิในเตา 300-400องศาเซลเซียส ไม้กำลังเปลี่ยนเป็นถ่าน ความเป็นกรดและด่างประมาณ 3 ได้สารฟีนอล และเมทานอล ได้กรดอะมีโน ได้ถ่านบริสุทธิ์มีรอยพรุนมาก ไม่มีสารก่อเกิดมะเร็ง ให้พลังงานความร้อนสูง(แอคติวิเตดคาร์บอน)หรือถ่านกัมมัน
ประโยชน์
ขับไล่แมลงป้องกันกำจัดเชื้อรา และแบคทีเรีย เพิ่มปริมานโคโรฟิล ทำให้พืชปรุงอาหารดีขึ้น พืชจะแข็งแรงและเจริญเติบโตเร็ว ช่วยขยายผล เพิ่มขนาดของผล และเพิ่มน้ำตาลในผล ป้องกันแมลงที่รบกวนสัตว์เลี้ยง รักษาโรคผิวหนัง น้ำร้อนลวกและไฟไหม้(ใช้ทาโดยไม่ต้องผสมน้ำ)
ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์
นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
สำนักวิจัยและส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้. โทร.0-5387-3938-9 และ 089-6311432ในวันและเวลาราชการ