การใช้วัสดุห่อผลลิ้นจี่สีสวยลดโรคแมลงผู้บริโภคปลอดภัย บทความจากหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันที่ 16 เมษายน 2553 ปีที่ 40 ฉบับที่14,465
การทำสวนลิ้นจี่ที่ผลิตด้วยระบบการเกษตรปลอดภัยและ/หรือสวนที่ผลิตโดยระบบเกษตรอินทรีย์นั้นพบว่าเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการผลิตลิ้นจี่ระบบการเกษตรปลอดภัยหรือเกษตรอินทรีย์โดยไม่ใช้สารเคมีนั้น มีกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มลิ้นจี่อินทรีย์เพื่อผลิตลิ้นจี่ส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยใช้วิธีการห่อช่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งเกษตรกรจะทำการห่อช่อผลลิ้นจี่ด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 30 วัน จะช่วยลดการระบาดของหนอนเจาะขั้วผล ลดสารเคมีตกค้างบนผลลิ้นจี่ช่วยให้สีผิวลิ้นจี่สวยงามและสามารถขายลิ้นจี่ที่ห่อช่อผลได้ในราคาที่สูงกว่าลิ้นจี่ที่ไม่ห่อผล
การห่อช่อผลลิ้นจี่นั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องการใช้วัสดุห่อผล เนื่องจากยังไม่มีวัสดุอื่นๆ ที่ใช้ทดแทนการใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งกระดาษหนังสือพิมพ์มีหมึกพิมพ์ติดอยู่ ในอนาคตตลาดต่างประเทศอาจใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้าในการส่งลิ้นจี่ปลอดภัยและลิ้นจี่อินทรีย์ไปยังต่างประเทศได้ คณะผู้วิจัยฯ โดย รองศาสตราจารย์ดร.ยงยุทธ ข้ามสี่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน
มะโนชัย นางจิรนันท์ เสนานาญ นายพิชัย สมบูรณ์วงศ์และนายนิคม วงศ์นันตา จึงได้มีการศึกษาเพิ่มเติมถึงการใช้วัสดุห่อชนิดต่างๆ ที่น่าจะสามารถนำมาใช้ห่อผลลิ้นจี่ทดแทนกระดาษหนังสือพิมพ์ที่เกษตรกรนิยมใช้อยู่ และเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายมีราคาถูก โดยการศึกษาได้มีการนำถุงห่อผลไม้ชนิดอื่นๆที่มีจำหน่ายในท้องตลาดและที่มีรายงานการศึกษาก่อนหน้านี้ว่ามีการใช้ห่อผลลิ้นจี่แล้วทำให้สีผิวลิ้นจี่สวยงาม โดยวัสดุที่ใช้ศึกษามีดังนี้ คือ กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษสีน้ำตาล ถุงซุนฟง (ถุงกระดาษสีขาวที่ใช้สำหรับห่อส้มโอปลายถุงจะปิด) ถุงรีเมย์ (ถุงผ้าห่อผลไม้ทั่วไปสีขาวก้นถุงปิด) ถุงพลาสติกใส(ก้นถุงปลายเปิด) และถุงพลาสติกขุ่น(ก้นถุงปลายเปิด) เปรียบเทียบกับการไม่ห่อช่อผล โดยได้มีการห่อผลก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 30 วัน ทำการห่อผลวันที่ 9 เมษายน 2552 เก็บเกี่ยว วันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ทำการห่อผลลิ้นจี่ 2 สถานที่ คือสวนเกษตรกรบ้านเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และบ้านแม่สาใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ผลการศึกษา พบว่า การห่อช่อผลลิ้นจี่ด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษสีน้ำตาล ถุงซุนฟง ถุงรีเมย์ ถุงพลาสติกใส และถุงพลาสติกขุ่น ช่วยลดการเข้าทำลายจากหนอนเจาะขั้วผลได้ โดยมีการถูกทำลายจากหนอนเจาะขั้วผลอยู่เพียง 3.75-7.50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าไม่ห่อผลลิ้นจี่เลยจะมีหนอนเจาะขั้วผลถึง 13.25 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสีผิวของเปลือกผลลิ้นจี่ พบว่า การใช้กระดาษสีน้ำตาลและกระดาษหนังสือพิมพ์ ทำให้สีผิวของลิ้นจี่สวยกว่าการห่อด้วยวัสดุชนิดอื่นๆ โดยผิวลิ้นจี่จะมีลักษณะเป็นสีชมพูเรื่อๆ ผิวนวลไม่มีกระ เปลือกผิวบาง จากการชิมพบว่ารสชาติหวาน เนื้อผลบริเวณขั้วผลจะหนา มีกลิ่นหอม ซึ่งการที่ผิวลิ้นจี่มีผิวสวยกว่าการห่อด้วยวัสดุอื่นๆ อาจเนื่องจากการใช้กระดาษสีน้ำตาลและกระดาษหนังสือพิมพ์ ห่อช่อผลมีความเหมาะสมในการยอมให้แสงผ่านในระดับที่เหมาะสมซึ่งจะมีผลในการพัฒนาของสีเปลือก แต่การใช้วัสดุห่อผลชนิดต่างๆ ไม่มีผล ต่อน้ำหนักและขนาดของผลลิ้นจี่ คุณภาพผลด้านน้ำหนักและขนาดของเปลือก เนื้อ และเมล็ดของผลลิ้นจี่ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้(TSS) หรือปริมาณน้ำตาล, ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (TA) อัตราส่วนของ TSS/TA และปริมาณวิตามินซี ของผลลิ้นจี่
จากผลการศึกษามีข้อแนะนำสำหรับเกษตรกรดังนี้
1. การใช้วัสดุชนิดต่างๆ ห่อช่อผล ช่วยลดเปอร์เซ็นต์หนอนเจาะขั้วผลลิ้นจี่ได้ดีกว่าการไม่ห่อช่อผล เกษตรกรควรมีการห่อช่อผลก่อนเกี่ยว 45 -60 วัน ซึ่งจะช่วยลดการระบาดของหนอนเจาะขั้วผลให้ลดลงได้ ในการศึกษาครั้งนี้มีการห่อช่อผลก่อนเก็บเกี่ยว 30 วัน พบว่ายังมีหนอนเจาะขั้วผลทำลายลิ้นจี่อยู่ แสดงว่าหนอนมีการวางไข่ไว้ก่อนหน้านั้น เกษตรกรควรเลื่อนระยะเวลาการห่อผลจาก 30 วัน
2. การใช้กระดาษสีน้ำตาลและ กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อช่อผล ช่วยทำให้สีผิวเปลือกของผลลิ้นจี่มีสีสวยงามกว่าการไม่ห่อช่อผล เกษตรกรที่ผลิตลิ้นจี่ปลอดภัยควรหันมาใช้กระดาษ สีน้ำตาล(ถุงปูน) ซึ่งในขณะนี้มีจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปเช่นกันเป็นถุงที่ใช้สำหรับห่อผลมะม่วง และมีราคาที่ถูกใกล้เคียงกับการใช้กระดาษหนังสือพิมพ์