การปลูกผักในภาชนะ

    p6-1การปลูกผักในภาชนะ

    p9การปลูกผักในภาชนะควรจะพิจารณาถึงการหยั่งรากของพืชผักชนิดนั้นๆ พืชผักที่หยั่งรากตื้นสามารถปลูกได้ดีในภาชนะปลูกชนิดต่างๆ และภาชนะชนิดห้อยแขวนที่มีความลึกไม่เกิน 10 เซนติเมตร คือ

    ผักบุ้งจีน คะน้าจีน ผักกาดกวางตุ้ง (เขียวและขาว) ผักกาดฮ่องเต้ ผักกาดหอม ผักกาดขาวชนิดไม่ห่อ (ขาวเล็ก ขาวใหญ่) ตั้งโอ๋ ปวยเล้ง หอมแบ่ง (ต้นหอม) ผักชี ขึ้นฉ่าย ผักโขมจีน กระเทียมใบ (Leek) กุยช่าย กระเทียมหัว ผักชีฝรั่ง บัวบก สะระแหน่ แมงลัก โหระพา (เพาะเมล็ด) กะเพรา (เพาะเมล็ด) พริกขี้หนู ตะไคร้ ชะพลู หอมแดง หอมหัวใหญ่ หัวผักกาดแดง (แรดิช)

    วัสดุที่สามารถนำมาทำเป็นภาชนะปลูกอาจดัดแปลงจากสิ่งที่ใช้แล้ว เช่น ยางรถยนต์เก่า กะละมัง ปลอกซีเมนต์ เป็นต้น สำหรับภาชนะแขวนอาจใช้ กาบมะพร้าว กระถาง หรือเปลือกไม้

    วิธีการปลูกผักในภาชนะแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี

    2.1  เพาะเมล็ดด้วยการหว่านแล้วถอนแยกหรือหยอดเป็นแถวแล้วถอนแยก  ซึ่งพืชที่ควรปลูกด้วยวิธีนี้ ได้แก่ ผักบุ้งจีน คะน้าจีน ผักกาดขาวกวางตุ้ง ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักฮ่องเต้ (กวางตุ้งไต้หวัน) ตั้งโอ๋ ปวยเหล็ง ผักกาดหอม ผักโขมจีน ผักชี ขึ้นฉ่าย โหระพา กระเทียมใบ กุยช่าย หัวผักกาดแดง กะเพรา แมงลัก ผักชีฝรั่ง หอมหัวใหญ่

    2.2 ปักชำด้วยต้น และด้วยหัว ได้แก่ หอมแบ่ง(หัว) ผักชีฝรั่ง(ต้น) กระเทียมหัว(ใช้หัวปลูก) หอมแดง(หัว) สะระแหน่(ยอด) บัวบก(ไหล) ชะพลู(ต้น) ตะไคร้(ต้น) โหระพา(กิ่งอ่อน) แมงลัก(กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน) กุยช่าย(หัว) กะเพรา(กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน)

    หมายเหตุ: มีบางพืชที่ปลูกด้วยหัว หรือส่วนของต้นก็ได้ ปลูกด้วยเมล็ดก็ได้ ดังนั้น จึงมีชื่อผักที่ซ้ำกันทั้งข้อ 2.1 และ2.2p6

    การเตรียมพันธุ์ 

    ผักสวนครัว จัดเป็นพืชฤดูกาลเดียวจนถึงหลายฤดู ฉะนั้นการปลูกพืชผักสวนครัวต้องมีการเตรียมเมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์ หรือท่อนพันธุ์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี

    1. เมล็ดพันธุ์ สามารถจัดหาเมล็ดได้ 2 ลักษณะ คือ

    - เมล็ดพันธุ์ที่ต้องจัดซื้อ ส่วนใหญ่มักเป็นพืชผักสวนครัวประเภทกินใบ ฤดูเดียว “พืชล้มลุก” เช่น พืชตระกูลผักกาด คะน้า กะหล่ำปลี ผักบุ้งจีน ฯลฯ

    - เมล็ดพันธุ์ไม่ต้องจัดซื้อ ส่วนใหญ่มักเป็นพืชผักสวนครัวประเภทกินผล เช่น มะเขือต่างๆ พริกต่างๆ ตำลึง กระถิน ฯลฯ

    คุณสมบัติของเมล็ดพันธุ์ที่ดี

    1. ปราศจากโรคและแมลงศัตรู โรคบางชนิดสามารถติดมากับเปลือกหุ้มเมล็ด หรือโรคบางชนิดอาศัยอยู่ภายในเมล็ด ฉะนั้นเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อมาแล้ว

    2. เมล็ดต้องสมบูรณ์แข็งแรง เมื่องอกจากเมล็ดเป็นต้นกล้าจะต้องสร้างลำต้น และใบให้สมบูรณ์ต่อไป

    3. เป็นเมล็ดที่ตรงตามสายพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ที่ดีต้องตรงชนิดและพันธุ์ที่ฉลากระบุไว้

    4. เป็นเมล็ดที่พ้นจากการพักตัว

    5. เป็นเมล็ดที่แก่จัดและผ่านการตากแห้ง อย่างน้อย 7-10 วัน

    6. เมล็ดต้องสะอาดปราศจากสิ่งเจือปนต่างๆ เช่น ทราย กรวด เมล็ดลีบ เมล็ดวัชพืช หรือสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่เมล็ดพันธุ์ที่ต้องการ

    การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์

    1. เก็บไว้ในที่ปลอดภัยจากแมลงและสัตว์รบกวน

    2. เมล็ดพันธุ์ที่จะเก็บไว้นานควรตากให้แห้งสนิทเสียก่อน

    3. เมล็ดพันธุ์อย่าให้ถูกความชื้น

    4. ควรใช้ยาคลุกเคล้าเมล็ดป้องกันโรคและแมลง

    5. อย่าเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้นานเกิน

    p10วิธีเก็บเมล็ดพันธุ์อย่างง่าย

    1. เก็บไว้ในภาชนะ เช่น กระป๋อง ขวดโหล ปิดฝาภาชนะให้สนิท พร้อมกับใส่สารป้องกันความชื้น

    จะช่วยดูดความชื้น ทำให้ความชื้นภายในเมล็ดพันธุ์คงที่

    2. เก็บไว้ในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ความชื้นสัมพัทธ์ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ให้มีชีวิตที่ยาวนาน

     

    2. กิ่งพันธุ์ หรือท่อนพันธุ์ พืชผักสวนครัวหลายชนิดมีอายุยืนยาวหลายปี เจริญเติบโตด้วยการแตกกอ แตกหน่อ และกิ่งก้านสาขามากมาย ซึ่งส่วนต่างๆ ของพืชเหล่านี้  เราสามารถนำไปขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณต้นพืชให้มากด้วยวิธีการปักชำและการแบ่งแยก

    การเลือกกิ่งพันธุ์

    1. กิ่งพันธุ์ควรมีธาตุอาหารสะสมอยู่อย่างพอเพียง

    2. กิ่งพันธุ์ควรมาจากต้นแม่ที่สมบูรณ์และแข็งแรง

    3. ไม่ควรเลือกกิ่งพันธุ์ที่ผอมบาง ยืดยาว

    4. กิ่งพันธุ์ต้องปราศจากโรคและแมลง

    5. ต้องรู้แหล่งที่มาของกิ่งพันธุ์ที่แน่นอน และเชื่อถือได้

    การปฏิบัติดูแลรักษา

    การดูแลรักษาด้วยความเอาใจใส่ จะช่วยให้ผักเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์จนถึงระยะเก็บเกี่ยว การดูแลรักษาดังกล่าว ได้แก่

    1.  การให้น้ำ    การปลูกผักจำเป็นต้องให้น้ำเพียงพอ การให้น้ำผักควรรดน้ำในช่วง เช้า-เย็น ไม่ควรรดตอนแดดจัด และรดน้ำแต่พอชุ่มอย่าให้โชก

    2.  การให้ปุ๋ย มี 2 ระยะ คือ

    2.1  ใส่รองพื้นคือการใส่เมื่อเวลาเตรียมดิน หรือรองก้นหลุมก่อนปลูก ปุ๋ยที่ใส่ควรเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก คลุกในดินให้ทั่วก่อนปลูก เพื่อปรับโครงสร้างดินให้โปร่งร่วนซุย นอกจากนั้นยังช่วยในการอุ้มน้ำ และรักษาความชื้นของดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชด้วย

    2.2  การใส่ปุ๋ยบำรุง ควรใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อย้ายกล้าไปปลูกจนกล้าตั้งตัวได้แล้ว และใส่ครั้งที่ 2 หลังจากใส่ครั้งแรกประมาณ 2-3 สัปดาห์ การใส่ให้โรยบางๆ ระหว่างแถว ระวังอย่าให้ปุ๋ยอยู่ชิดต้น เพราะจะทำให้ผักตายได้ เมื่อใส่ปุ๋ยแล้วให้พรวนดินและรดน้ำทันที สูตรปุ๋ยที่ใช้กับพืชผัก ได้แก่ ยูเรีย หรือแอมโมเนียซัลเฟต สำหรับบำรุงต้นและใบ และปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 12-24-12 สำหรับเร่งการออกดอกและผล

    3.  การป้องกันจำกัดศัตรูพืช ควรบำรุงรักษาต้นพืชให้แข็งแรง โดยการกำจัดวัชพืช ให้น้ำอย่างเพียงพอและใส่ปุ๋ยตามจำนวนที่กำหนด เพื่อให้ผักเจริญเติบโต แข็งแรง ทนต่อโรคและแมลง หากมีโรคและแมลงระบาดมากควรใช้สารธรรมชาติ หรือใช้วิธีกลต่างๆ ในการป้องกันกำจัด เช่น หนอนต่างๆ ใช้มือจับออก ใช้พริกไทยป่นผสมน้ำฉีดพ่น ใช้น้ำคั้นจากใบหรือเมล็ดสะเดา ถ้าเป็นพวกเพลี้ย เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และเพลี้ยจั๊กจั่น ให้ใช้น้ำยาล้างจาน 15 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นใต้ใบเวลาเย็น ถ้าเป็นพวกมด หอย และทากให้ใช้ปูนขาวโรยบางๆ ลงบริเวณพื้นดิน

    การเก็บเกี่ยวp7

    การเก็บเกี่ยวผักควรเก็บในเวลาเช้าจะทำให้ได้ผักสดรสดี และหากยังไม่ได้ใช้ให้ล้างให้สะอาด และนำเก็บไว้ในตู้เย็น สำหรับผักประเภทผลควรเก็บในขณะที่ผลไม่แก่จัดจะได้ผลที่มีรสดีและจะทำให้ผลดก หากปล่อยให้ผลแก่คาต้น ต่อไปจะออกผลน้อยลง

    สำหรับในผักใบหลายชนิด เช่น หอมแบ่ง ผักบุ้งจีน คะน้า กะหล่ำปี การแบ่งเก็บผักที่สดอ่อนหรือ โตได้ขนาดแล้ว โดยยังคงเหลือลำต้นและรากไว้ไม่ถอนออกทั้งต้น รากหรือต้นที่เหลืออยู่ จะสามารถงอกงาม ให้ผลได้อีกหลายครั้ง ทั้งนี้จะต้องมีการดูแลรักษาให้น้ำและปุ๋ยอยู่ การปลูกพืชหมุนเวียนสลับชนิดหรือปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกัน และปลูกผักที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นบ้างยาวบ้างคละกันในแปลงเดียวกัน หรือปลูกผักชนิดเดียวกันแต่ทยอยปลูกครั้งละ 3-5 ต้น หรือประมาณว่าพอรับประทานได้ในครอบครัวในแต่ละครั้งที่เก็บเกี่ยว ก็จะทำให้ผู้ปลูกมีผักสดเก็บรับประทานได้ทุกวันตลอดปี

     

    ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  อ. ปรีชา รัตนัง สาขาพืชผัก ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร     มหาวิทยาลัยแม่โจ้     จ. เชียงใหม่  50290   โทร.   053-873380      ในวันและเวลาราชการ

    รายงานโดย

    อาจารย์ พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ และสมศักดิ์ ศิริ นักวิชาการเกษตร       งานถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้  โทร. 053-873938-9

    © 2017 Your Company. All Rights Reserved. Designed By agethemes.com.com
    Free Joomla! templates by AgeThemes