การบริโภคผักให้ปลอดภัยจากสารพิษ

    veget-1การบริโภคผักให้ปลอดภัยจากสารพิษ ผักเป็นอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย ประกอบด้วยเซลลูโรสจำนวนมาก ซึ่งมีประโยชน์ช่วยในการขับถ่ายทำให้ไม่เป็นโรคท้องผูก และที่สำคัญในผักมีวิตามินเอช่วยบำรุงสายตา....

    การบริโภคผักให้ปลอดภัยจากสารพิษ

    แสงเดือน  อินชนบท

    ผักเป็นอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย ประกอบด้วยเซลลูโรสจำนวนมาก ซึ่งมีประโยชน์ช่วยในการขับถ่ายทำให้ไม่เป็นโรคท้องผูก และที่สำคัญในผักมีวิตามินเอช่วยบำรุงสายตา วิตามินซี ช่วยบำรุงเหงือกและฟัน และสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย

    แต่ในปัจจุบันผู้บริโภคมักประสบปัญหาสารตกค้างในพืชผัก อันเนื่องมาจากการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม และไม่ระมัดระวังของเกษตรกรผู้ผลิต ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนผู้บริโภค ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรพิจารณาเลือกซื้อผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ เช่น ผักที่ได้รับรองจากหน่วยราชการ หรือองค์กรต่างๆ เป็นต้นveget

    สาเหตุการเกิดสารพิษตกค้างในผัก

    1. เกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชอบเลือกซื้อเฉพาะผักที่สดสวยงาม  ไม่มีร่องรอยการทำลายของโรคและแมลง

    2. ผู้ปลูกผักบางรายมีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องของสารเคมีเป็นอย่างดี  แต่ไม่นำหลักการใช้ที่ถูกต้องไปปฏิบัติหรือละเลยเสีย  โดยมุ่งหวังแต่ประโยชน์ผลกำไรและความสะดวกเป็นหลัก  โดยขาดจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

    3. ผู้ปลูกผักบางรายขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงที่ถูกต้อง  เมื่อประสบปัญหาการเข้าทำลายของโรคและแมลง ทางเลือกแรกที่นำมาใช้คือ การฉีดพ่นสารเคมีโดยไม่ได้คำนึงถึงวิธีการอื่นเลย เนื่องจากสารเคมีมีประสิทธิภาพสูง  ให้ผลเร็ว  สะดวกในการใช้  และหาซื้อได้ง่าย  ดังนั้นเมื่อชาวสวนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายปัญหาที่ตามมาก็คือเกิดสารพิษตกค้างในผักที่เกินค่าความปลอดภัย  ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

    4. ประชาชนโดยทั่วไปยังมีมาตรฐานในการครองชีพที่ไม่สูงนัก  มีพฤติกรรมในการใช้ชีวิตและการบริโภคที่ง่าย ๆ โดยไม่ค่อยคำนึงถึงความปลอดภัยในการบริโภคเท่าที่ควร  ผักปลอดภัยจากสารพิษจึงมีได้รับความนิยมมากนัก

    วิธีการที่ทำให้สารพิษตกค้างในผักลดน้อยลง เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วยวิธีการต่างๆ ก่อนนำประกอบอาหารรับประทาน ดังนี้

    1. ลอกหรือปอกเปลือก แล้วแช่น้ำสะอาดนาน 5-10 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 27-72

    2. แช่น้ำปูนใส นาน 10 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 34-52

    3. การใช้ความร้อน ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 48-50

    4. แช่น้ำด่างทับทิม นาน 10 นาที (ด่างทับทิม 20-30 เกล็ด) ผสมน้ำ 4  ลิตร) ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 35-43

    5. ล้างด้วยน้ำไหลจากก๊อก นาน 2 นาที ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 25-39

    6. แช่น้ำซาวข้าว นาน 10 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 29-38

    7. แช่น้ำส้มสายชูหรือเกลือป่น (น้ำส้มสายชูหรือเกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4  ลิตร) และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 29-38

    8. แช่น้ำยาล้างผัก นาน 10 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 22-36

    นอกจากการเลือกใช้วิธีการต่าง ๆ ในการช่วยลดสารพิษที่ตกค้างในผักแล้ว ยังมีวิธีการอื่นๆที่จะช่วยลดหรือเสี่ยงภัยจากสารเคมีตกค้างในผักได้อีกทางหนึ่ง คือ

    1. ไม่ควรกินผักซ้ำซากแต่ควรกินผักตามฤดูกาล   โดยเฉพาะผักจีน  การกินผักน้อยชนิดบ่อยๆอย่างต่อเนื่องจะทำให้เรามีโอกาสรับสารเคมีจากผักชนิดนั้นมากขึ้น  เพราะถ้ากินผักที่ไม่อยู่ในฤดูกาลของมัน  การปลูกผักชนิดนั้นก็มีโอกาสที่จะต้องใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดแมลงมากขึ้น ดังนั้นควรกินผักที่หลากหลายชนิด  รวมถึงผักพื้นบ้านและควรกินผักตามฤดูกาล เช่น

     

    ฤดูกาล

    ชนิดผัก

    เดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม (ฤดูร้อน)

    คะน้า  กวางตุ้ง  แตงกวา บวบ ผักกาดหอม ชะอม ผักบุ้ง  ดอกแค   ฟักทอง เป็นต้น

    เดือนมิถุนายน – กันยายน  (ฤดูฝน)

    คะน้า  กวางตุ้ง  แตงกวา  บวบ ชะอม ผักบุ้ง  ตำลึง หน่อไม้  ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี ฟักทอง ฟักแฟง   เป็นต้น

    เดือนธันวาคม – มกราคม  (ฤดูหนาว)

    กะหล่ำปลี  แครอท  ผักกาดขาว  หัวไชเท้า  สลัดแก้ว  ผักกาดฮ่องเต้  บล็อกโคลี ตั้งโอ๋  ปวยเล้ง  ถั่วลันเตา  มะเขือเทศ คะน้า  กวางตุ้ง สลัดต่าง ๆ ฯลฯ

    2. กินผักพื้นบ้าน   ผักพื้นบ้านของไทยมีอยู่หลายร้อยชนิด  แต่ละชนิดล้วนมีรสชาติอร่อย  คุณค่าทางอาหารสูงและมีสรรพคุณทางยาป้องกันและรักษาโรคที่สำคัญ  ผักพื้นบ้านเป็นผักที่แข็งแรง  ปลูกง่าย ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน จึงไม่ต้องพึ่งสารเคมีในการปลูก

    3.เลือกซื้อผักปลอดภัยจากสารพิษหรือผักอินทรีย์   ถ้าเป็นไปได้อาจเลือกซื้อผักที่ปลอดภัยจากสารพิษที่มีการรับรองจากทางราชการ เช่น กรมวิชาการเกษตร หรือกรมส่งเสริมการเกษตร  ซึ่งเป็นผักที่ถึงแม้จะมีการใช้สารเคมีแต่ถูกควบคุมให้อยู่ในระดับมาตรฐานหรือเลือกซื้อผักอินทรีย์ ซึ่งเป็นผักที่ปลูกโดยไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ  เลย

    4. ปลูกผักกินเอง   ซึ่งนับเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดและสามารถทำได้หลายอย่างโดยไม่เลือกพื้นที่มากหรือน้อย ไม่ว่าจะปลูกในกระถาง  ปลูกในสวนครัว หรือปลูกริมรั้วก็ได้

    ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์แสงเดือน  อินชนบทสำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873071   ในวันและเวลาราชการ

    รายงานโดย

    ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร  สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร
    มหาวิทยาลัยแม่โจ้  โทร. 053-873938-9

    thainewsnewspaper02

     

    © 2017 Your Company. All Rights Reserved. Designed By agethemes.com.com
    Free Joomla! templates by AgeThemes