หลักการผลิตพืชผักอินทรีย์ บทความจากหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันที่ 23 เมษายน 2553 ปีที่ 40 ฉบับที่14,448
หลักการผลิตพืชผักอินทรีย์
แสงเดือน อินชนบท
ที่ผ่านมาผู้เขียนได้พูดถึงหลักการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ไปแล้ว ครั้งนี้ผู้เขียนจะได้พูดเจาะลงไปถึงเรื่องของการผลิตพืชผักในระบบอินทรีย์เพียงอย่างเดียวเพื่อให้ผู้สนใจที่จะทดลองปลูกพืชผักในระบบอินทรีย์ได้จัดเตรียมสิ่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ วัสดุ อุปกรณ์พื้นที่ปลูก และอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องตามแนวทางของเกษตรอินทรีย์ต่อไป
ความหมายของผักอินทรีย์ คือ ผักที่เพาะปลูกด้วยวิธีการทางเกษตรอินทรีย์( Organic Agriculture) ซึ่งเป็นวิธีการเพาะปลูกแบบธรรมชาติที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ใดๆในทุกขั้นตอนของการผลิต
หลักการผลิตผักอินทรีย์
1. เลือกพื้นที่ที่ไม่เคยทำการเกษตรเคมีมาไม่น้อยกว่า 3 ปี
2. เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างดอนและโล่งแจ้ง
3. อยู่ห่างจากจากโรงงานอุตสาหกรรม
4. อยู่ห่างจากแปลงที่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี
5. ห่างจากถนนหลวงหลัก
6. มีแหล่งน้ำที่ปลอดสารพิษ
ขั้นตอนการเตรียมแปลง
1. เก็บตัวอย่างดิน ดินบนและดินล่างอย่างละ 1 กิโลกรัม นำไปวิเคราะห์พร้อมกัน เพื่อหาชนิดของดินและปริมาณธาตุอาหารที่อยู่ในดิน
2. แหล่งน้ำจะต้องเป็นแหล่งน้ำอิสระ เก็บตัวอย่างน้ำ 1 ลิตร นำไปวิเคราะห์เพื่อหาสารปนเปื้อนที่ขัดต่อหลักการผลิตพืชอินทรีย์
3. เมื่อทราบข้อมูลของดินและน้ำแล้วว่าไม่มีพิษต่อการปลูกพืชอินทรีย์ก็เริ่มทำการวางรูปแบบแปลงผลิตพืชอินทรีย์ การวางรูปแบบแปลงจะต้องทำการขุดร่องล้อมรอบแปลง เพื่อเป็นการดักน้ำหรือป้องกันน้ำที่มีสารปนเปื้อนไหลบ่ามาท่วมแปลงในฤดูฝน (ทำในกรณีพื้นที่ที่จะปลูกผักอินทรีย์อยู่ใกล้กับพื้นที่ปลูกพืชแบบทั่วไป) ร่องคูรอบแปลงควรกว้าง 2 เมตร ลึก 1 เมตร พร้อมกับทำการปลูกหญ้าแฝกริมร่อง โดยรอบทั้งด้านในและด้านนอก รากหญ้าแฝกก็ตัดไปใช้ปรับสภาพดินหรือใช้คลุมแปลงพืชผักอินทรีย์ต่อไป
4. ในการเตรียมแปลงครั้งแรกอนุโลมให้ใช้รถไถเดินตามได้ แต่ในครั้งต่อไปให้ใช้คนขุดพรวนดิน ถ้าใช้รถไถบ่อยๆแล้วมลพิษจากเครื่องยนต์จะตกค้างอยู่ในดิน และจะเกิดปฏิกิริยาที่เป็นพิษต่อพืชจึงต้องระวัง ห้ามสูบบุหรี่ในแปลงพืชอินทรีย์ ในการเตรียมแปลงจะต้องทำการไถพรวนให้พื้นที่ในแปลงโล่งแจ้งพร้อมที่จะวางรูปแบบแปลง ในการวางรูปแบบแปลงจะต้องวางไปตามตะวันเนื่องจากพืชใช้แสงแดดปรุงอาหารและแสงแดดจะช่วยฆ่าเชื้อโรค แปลงที่จะปลูกพืชผักนั้นความกว้างไม่ควรกว้างเกิน 1 เมตร ส่วนความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่ ส่วนพื้นที่ที่ทำแปลงปลูกพืชผักไม่ทันก็ให้นำพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียวหรือ ถั่วมะแฮะมาหว่านคลุมดินเพื่อทำเป็นปุ๋ยพืชสด เพื่อเป็นการปรับปรุงดินไปพร้อมกับเป็นการป้องกันแมลงที่จะวางไข่ในพงหญ้าด้วย
5. เมื่อเตรียมแปลงแล้วก็หันมาทำการปลูกพืชสมุนไพรไล่แมลงก่อนที่จะปลูกพืชหลัก คือ พืชผักต่างๆ (เสริมกับการป้องกัน) ทางน้ำ ทางอากาศ และทางพื้นดิน พืชสมุนไพร ที่กันแมลงรอบนอก เช่น สะเดา ชะอม ตะไคร้หอม ข่า ปลูกห่างกัน 2 เมตร โดยรอบพื้นที่ ส่วนต้นด้านในกันแมลงในระดับต่ำโดยปลูกพืชสมุนไพรเตี้ยลงมาเช่น ดาวเรือง กระเพรา โหระพา ตะไคร้หอม พริกต่างๆ ปลูกห่างกัน 1 เมตร และ ที่จะลืมไม่ได้คือจะต้องปลูกตะไคร้หอมทุกๆ 3 เมตร แซมโดยรอบพื้นที่ด้านในด้วย
6. หลังจากปลูกพืชสมุนไพรเพื่อกันแมลงแล้วก็ทำการยกแปลงเพื่อปลูกพืชผัก แต่ก่อนที่จะปลูกต้องมีการปรับสภาพดินในแปลงปลูก โดยใส่ปุ๋ยคอก (ขี้วัว) การใส่ปุ๋ยคอกนั้นจะใส่มากน้อยขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินที่จะทำแปลงปลูกพืชอินทรีย์ (ขี้วัวต้องเป็นวัวที่กินพืชตามธรรมชาติ) ทำการพรวนคลุกกันให้ทั่วทิ้งไว้ 7 วันก่อนปลูก การปลูกให้ปลูกพืชสมุนไพรกันแมลงที่ขอบแปลงก่อน เช่น กุยฉ่าย คื่นฉ่าย และระหว่างแปลงก็ทำการปลูกกระเพรา โหระพา พริกต่างๆ เพื่อป้องกันแมลงก่อนที่จะทำการปลูกพืชผัก พอครบกำหนด 7 วัน พรวนดินอีกครั้งแล้วนำเมล็ดพันธุ์พืชมาหว่าน แต่เมล็ดพันธุ์พืชส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์ที่คลุกสารเคมี จึงต้องนำเอาเมล็ดพันธุ์ผักมาล้าง โดยการนำน้ำที่มีความร้อน 50-55 องศาเซลเซียส วัดได้ด้วยความรู้สึกของตัวเองคือ เอานิ้วจุ่มลงไปถ้าทนความร้อนได้ก็ให้นำเมล็ดพันธุ์พืชแช่ลงไป นาน30 นาที แล้วจึงนำมาคลุกกับกากสะเดา หรือสะเดาผงแล้วนำไปหว่านลงแปลงที่เตรียมไว้ คลุมฟาง และรดน้ำ ก่อนรดน้ำทุกวันควรขยำขยี้ใบตะไคร้หอมแล้วใช้ไม้เล็กๆ ตีใบกระเพรา โหระพา ข่าฯลฯ เพื่อให้เกิดกลิ่นจากพืชสมุนไพรออกใส่แมลง ควรพ่นสารสะเดาอย่างต่อเนื่องทุกๆ 3-7 วัน กันก่อน ถ้าปล่อยให้โรคแมลงมาแล้วจะแก้ไขไม่ทันเพราะว่าไม่ได้ใช้สารเคมีควรดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด พอถึงอายุเก็บเกี่ยวควรเก็บเกี่ยวผลผลิตถ้าทิ้งไว้จะสิ้นเปลืองสารสมุนไพร ในการปลูกพืชอินทรีย์ในระยะแรกผลผลิตจะได้น้อยกว่าพืชเคมีประมาณ 30-40 % แต่ราคานั้นจะมากกว่าพืชเคมี 20-50 % ผลดีคือทำให้สุขภาพของผู้ผลิตดีขึ้นไม่ต้องเสียค่ายา (รักษาคน) สิ่งแวดล้อมก็ดีด้วย รายได้ก็เพิ่มกว่าพืชเคมีหากทำอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่องผลผลิตจะไม่ต่างกับการปลูกพืชเคมีเลย
7. หลังจากที่ทำการเก็บเกี่ยวพืชแรกไปแล้ว ไม่ควรปลูกพืชชนิดเดียวกับพืชแรก เช่น ในแปลงที่ 1 ปลูกผักกาดเขียวปลีได้ผลผลิตดี หลังเก็บผลผลิตไปแล้ว ควรปลูกพืชสลับชนิด เช่นผักบุ้งจีน แล้วอาจตามด้วย ผักกาดหัว ผักปวยเล้ง ตั้งโอ๋ คะน้า ผักชี มะเขือ ฯลฯ ทำเช่นนี้ทุกๆแปลง ที่ปลูกแล้วจะได้ผลผลิตดี
8. การปลูกพืชอินทรีย์ ปลูกได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอนแต่จะต้องปลูกพืชสมุนไพรก่อนและต่อเนื่องแล้วต้องปลูกพืชสมุนไพรสลับลงไปในแปลงพืชผักเสมอ แล้วต้องทำให้พืชสมุนไพรต่างๆ เกิดการช้ำจะได้มีกลิ่น ไม่ใช่ปลูกเอาไว้เฉยๆ การปลูกพืชแนวตั้งคือ พืชที่ขึ้นค้าง เช่นถั่วฝักยาว มะระจีน ฯลฯ และแนวนอนคือ พืชผักต่างๆ เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ปวยเล้ง ตั้งโอ๋ ฯลฯ ทุกครั้งที่ปลูกพืชในแปลงเกษตรอินทรีย์
9. การปลูกพืชสมุนไพร ในแปลงเพื่อไล่แมลงยังสามารถนำเอาพืชสมุนไพรเหล่านี้ไปขายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย หลังจากทำการเก็บเกี่ยวพืชผักแล้วควรรีบทำความสะอาดแปลงไม่ควรทิ้งเศษพืชที่มีโรคแมลงไว้ในแปลง ให้รีบนำไปทำลายนอกแปลงส่วนเศษพืชที่ไม่มีโรคแมลงให้สับลงแปลงเป็นปุ๋ยต่อไป
ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์แสงเดือน อินชนบทสำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873071 ในวันและเวลาราชการ
รายงานโดย
ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9