เบญจมาศกระถาง: การเตรียมต้นพันธุ์

    12-10_1การเตรียมต้นพันธุ์เบญจมาศเพื่อผลิตเป็นไม้กระถาง บทความจากหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันที่  12 ธันวาคม 2552 ปีที่ 40 ฉบับที่ 14,316 คอลัมม์ ทรัพย์ในดินสินในน้ำ..

    thainews

    12-13เบญจมาศเป็นไม้ตัดดอกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีมูลค่าการผลิตติดอันดับ 1 ใน 4 ของการผลิตไม้ดอกทั่วโลก เนื่องจากดอกของเบญจมาศ มีลักษณะที่หลากหลายและมีสีสันที่สวยงาม มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สามารถใช้ประโยชน์เป็นไม้ตัดดอกและปลูกเป็นไม้ดอกกระถาง ให้ผลตอบแทนต่อพื้นที่สูง ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทั่วทุกภาค โดยเฉพาะเขตภาคเหนือของประเทศ ซึ่งมีลักษณะภูมิอากาศที่เหมาะสม ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผลิตเบญจมาศที่สำคัญของประเทศ สามารถดำเนินการผลิตได้ทั้งในฤดูกาลและนอกฤดูกาล แต่คุณภาพของผลผลิตยังไม่ได้มาตรฐาน เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากขาดการพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี และยังไม่มีระบบการผลิตที่จะนำไปสู่การผลิตในเชิงธุรกิจที่แท้จริง ตลอดจนในกระบวนการผลิตเกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชไม่ถูกวิธีและเกินความจำเป็น ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและเป็นอันตรายต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตร นายธนวัฒน์  รอดขาว  ฝ่ายพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ทำการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาบ้านโปงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสันทราย และเกษตรกรอำเภอใกล้เคียง ในจังหวัดเชียงใหม่ ปลูกดอกเบญจมาศเพื่อการค้ามาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีสามารถสร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี


    การปลูกต้นแม่พันธุ์

    การเตรียมดิน  ควรยกแปลงให้สูงประมาณ 15 เซนติเมตร แปลงกว้าง 1 เมตร ทางเดิน 50 เซนติเมตร ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก  แกลบดิบ12-16 และโดโลไมท์   ดินควรมี pH ประมาณ 6.0  ควรนำดินไปวิเคราะห์ธาตุอาหารก่อนปลูกทุกครั้ง  นำต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปลูกในระยะ 20 × 15 เซนติเมตร ซึ่งภายหลังจากปลูกต้องให้แสงไฟทันที    เมื่อต้นแม่พันธุ์มีอายุ 10 วัน ทำการเด็ดยอดออกเพื่อให้ยอดแตกกิ่งแขนง  โดยเหลือใบติดต้นไว้ 6 ใบ  และแต่งหน่อที่แตกออกมาใหม่ให้มีจำนวน 3 หน่อต่อต้น   หลังจากเด็ดยอดได้ 20 วัน ก็สามารถเด็ดกิ่งพันธุ์ที่ได้ไปปักชำได้     โดยเด็ดให้แต่ละกิ่งเหลือใบไว้ 4 ใบ  เพื่อให้แตกหน่อใหม่อีกยอดละ 2 หน่อ สำหรับการเด็ดครั้งต่อไป  ซึ่งมีระยะห่างของการเด็ดแต่ละครั้งประมาณ 20 วัน   ปลูกแม่พันธุ์ 1 ครั้งสามารถเด็ดยอดชำได้ประมาณ 5 ครั้ง

    การปลูกต้นแม่พันธุ์จะต้องกำหนดปลูกอย่างต่อเนื่องเพื่อการผลิตกิ่งชำตามจำนวนที่ต้องการตลอดฤดูการผลิต  เนื่องจากต้นแม่พันธุ์ที่ปลูกไปครั้งหนึ่งๆ จะเด็ดกิ่งแขนงออกไปใช้ได้ประมาณ 5 ครั้ง  เพราะว่าเมื่อต้นแม่พันธุ์มีอายุมากขึ้นจะทำให้การเด็ดยากขึ้นและจะใช้เวลาในการออกรากนานขึ้น   และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือกิ่งชำที่ได้ตอนหลังๆ  มีโอกาสเกิดตาดอก  เพิ่มมากขึ้นและความสม่ำเสมอของต้นจะลดลงเมื่อต้นแม่พันธุ์มีอายุมากขึ้น

    การเก็บกิ่งชำจากต้นแม่พันธุ์

    ในการเด็ดกิ่งแขนงจากต้นแม่พันธุ์เพื่อนำไปปักชำนั้น จะต้องเด็ดทันทีเมื่อกิ่งแขนงดังกล่าวเจริญถึงระยะที่เหมาะสมกิ่งที่จะนำไปชำควรมีความยาว  2.5 นิ้ว และหลังจากเด็ดแล้วควรจะเหลือใบที่โคนกิ่งแขนง 2 ใบ  เพื่อที่ได้แตกแขนง เพื่อการเด็ดยอดครั้งต่อไป  ถ้าปล่อยให้กิ่งแขนงของต้นแม่พันธุ์ยาวกว่าที่จำเป็นต้องใช้  จะเป็นการเพิ่มโอกาสของการเกิดตาดอกวันยาวให้มากขึ้น

    12-17

    วัสดุปักชำ

    วัสดุปักชำที่ดีจะต้องโปร่ง  เพื่อจะได้มีการระบายน้ำที่ดีและมีอากาศเพียงพอต่อการเกิดรากและการเจริญของราก  วัสดุปักชำจะต้องไม่แน่นหลังจากใช้ไปนานๆ    วัสดุปักชำที่ใช้กันทั่วไปคือขี้เถ้าแกลบ

     

    การใช้ฮอร์โมน

    เบญจมาศเป็นพืชที่ออกรากง่าย  แต่การใช้ฮอร์โมนจะช่วยให้กิ่งปักชำออกรากเร็วขึ้น  ที่สำคัญคือการออกรากจะสม่ำเสมอ  ได้รากที่สมบูรณ์และแข็งแรง     ฮอร์โมนที่ใช้ประกอบขึ้นด้วย IBA  ความเข้มข้นประมาณ 0.1 – 0.2 %  อยู่ในรูปของชนิดน้ำและผงให้ผลดีเท่ากัน   แต่ชนิดที่เป็นน้ำอาจมีโอกาสทำให้โรคที่อาจติดอยู่กับกิ่งชำแพร่กระจายได้เร็ว  เมื่อจุ่มกิ่งเป็นจำนวนหลายๆ กิ่งลงในสารละลายฮอร์โมนพร้อมๆกัน และใช้ติดต่อกันนาน ๆ

    การปักชำและการดูแลรักษาหลังปักชำ

    กิ่งที่จะนำไปปักชำ ควรมีความยามประมาณ 2.5 นิ้ว ใบขนาดใหญ่ที่กางหรือแผ่แล้วอย่างน้อย 2 ใบ และใบขนาดเล็กที่ยังห่ออยู่อีก 2 ใบ จากนั้นจึงจุ่มกิ่งชำลงในฮอร์โมน แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งและนำไปปักชำบนวัสดุปักชำให้มีระยะพอเหมาะ เพื่อให้กิ่งชำได้รับแสงเพียงพอ โดยทั่วไปแล้วใช้ระยะ 3.5 × 3.5 เซนติเมตร ไปจนถึง 5 × 5 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ว่ามีใบขนาดใหญ่หรือเล็ก โดยให้โคนกิ่งชำอยู่ลึกลงไปในวัสดุปักชำประมาณ 1 นิ้ว12-15

    การปักชำต้องอยู่ภายใต้โรงเรือนซึ่งพรางแสงประมาณ 60 %   มีการให้น้ำแบบระบบพ่นฝอย และให้แสงสว่างเช่นเดียวกับต้นแม่พันธุ์    เมื่อปักชำได้ 2 สัปดาห์ จะได้ยอดที่มีรากสมบูรณ์ พร้อมที่จะนำไปปลูกต่อไป

    สนใจเข้าเยี่ยมชมฐานเรียนรู้การผลิตเบญจมาศกระถาง  ติดต่อ  คุณธนวัฒน์  รอดขาว  ฝ่ายพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 053 - 875108

     

    12-17_2รายงานโดย

    ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร 
    สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร
    มหาวิทยาลัยแม่โจ้  โทร. 053-873938-9

    © 2017 Your Company. All Rights Reserved. Designed By agethemes.com.com
    Free Joomla! templates by AgeThemes