แมลงดีๆ มีถมไป

พิมพ์

bee1

 

แมลงดีๆ มีถมไป

 

ผศ.ขยัน สุวรรณ 
อาจารย์ประจำภาควิชาอารักขาพืช คณะผลิตกรรมการเกษตร 

มนุษย์เราบางครั้งก็รวมถึงตัวผู้เขียนด้วยที่มักคิดและมอง”แมลง”ว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายน่าเบื่อหน่ายชิงชังและน่าขยะแขยงไม่ว่าจะเป็นการทำลายโดยการกัดกิน เจาะ ดูดกิน แทะเล็ม ชอนไช ส่วนต่าง ๆ ของพืชพันธ์ธัญญาหารที่มนุษย์สู้เพียรอุตส่าห์เพาะปลูก ทำให้เกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกทั้งยังเป็นพาหะนำโรคสำคัญ ๆ มากมายมาสู่พืชความเสียของพืชปลูกที่ถูกกัดกินโดยเฉพาะแมลงมีมากมายมหาศาล มนุษย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำจัดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมายโดยเฉพาะที่มีผลต่อสุขภาพ แมลงบางชนิดมีรูปร่างหน้าตาลวดลายสีสันที่น่าสะพรึงกลัว บางชนิดยังมีกลิ่นเหม็น เช่น พวกมวนลำไยที่ชาวบ้านเรียกว่า ”แมงแกง” ศัตรูของลำไยที่รู้จักกันดี8-kang
โดยเฉพาะแมลงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์นั้น นับว่ามีความผูกพันเกี่ยวเนื่องกันมานานตั้งแต่ก่อนยุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วยช้ำไป คือเริ่มตั้งแต่มนุษย์กับแมลงพวก หมัด เหา ต่อมามีบันทึกว่า พระเจ้าเมเนส ในอียิปต์ สิ้นพระชนม์อย่างน่าอนาถ จากการถูกตัวต่อต่อยเมื่อ 2621 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากแมลงจะทำอันตรายมนุษย์โดยตรงเช่น เกิดอาการคัน และอาการแพ้ที่เกิดจากการกัดต่อยโดยแมลงพวก มด ผึ้ง ต่อ แตน แมลงบางชนิดยังใช้ปากกัด หรือใช้อวัยวะสำหรับต่อยทิ่มแทง บางชนิดจะมีการปล่อยน้ำลายหรือสารพิษออกมา ทำให้เกิดอาการแพ้ ปวดแสบปวดร้อนมีอาการบวม อย่างเช่น “ ด้วงก้นกระดก ” ตามจริงแล้วแมลงชนิดนี้ไม่ได้กัดต่อย แต่ภายในตัวของมันมีสารพิษ เมื่อเราไปกดบี้ทำให้ตัวแมลงแตกสารพิษในตัวแมลงจะออกมาสัมผัสกับผิวหนังทำให้เกิดอาการ คัน เจ็บปวด แมลงชนิดนี้มักพบระบาดในช่วงฤดูฝน โดยตัวเต็มวัยจะบินมาเล่นไฟในอาคาร บ้านเรือนที่อยู่อาศัย บินมาเกาะตามร่างกาย ตามหน้าตา เมื่อเราตกใจหรือรำคาญ ก็จะใช้มือปัด ก็จะทำให้ตัวแมลงแตกสารพิษจึงถูกปล่อยออกมา บางคนแพ้มากผิวหนังเกิดการอักเสบพุพองอย่างรุนแรง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของด้วงก้นกระดกกลับเป็นแมลงตัวห้ำทำลายแมลงที่อาศัยอยู่ในดิน เวลากลางคืนในช่วงที่มีฝนใหม่ๆ ของปี พวกเราจะพบแมลงปากเจาะดูดประเภทเพลี้ยจักจั่นมีสีเขียวบินมาเล่นไฟเป็นเรือนแสนเรือนล้านสร้างความรำคาญให้กับผู้คน แมลงอีกชนิดหนึ่งที่เราจะพบในบ้านเรือนตามห้องต่าง ๆ โดยเฉพาะในห้องนอนโดยเราจะพบปลอกขนาดเล็ก ๆ สีน้ำตาลเป็นรูปกระสวยติดอยู่ตามผนังเพดาน แมลงชนิดนี้มีชื่อว่า wall bagworm หรือหนอนปลอกผนัง หนอนตัวนี้จะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การกินอาหาร การขับถ่าย การการลอกคราบ และการเข้าดักแด้เกิดขึ้นภายในปลอกที่หุ้มลำตัวนี้ อาหารของมันคือเส้นผมของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงที่ร่วงหล่นตามพื้นจัดว่าเป็นแมลงที่สร้างความรำคาญให้ผู้คนอยู่ไม่น้อย

1-ant   2-been

มดแดง : มดตัวห้ำ (predatory ants)
ความรู้เก่าแก่ที่สุดตัวหนึ่งในการดำเนินงานทางการควบคุมโดยชีววิธี

 

แมลงเบียน  :  หนอนแมลงศัตรูพืชถูกแมลงเบียนดูดกินอาหาร
 ในลำตัวอยู่ในสภาพอ่อนแอ และตายในที่สุดเมื่อตัวเบียนออกมาเข้าดักแด้ภายนอก

แมลงวันบ้านเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง มีชุกชุมมากในบ้านเราด้วยมีปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ที่
เหมาะสมจึงทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับ ทางเดินอาหาร ท้องร่วง อหิวาตกโรค โปลิโอ ไทยฟอยด์ และโรคอื่น ๆ อีกมาก โดยมีแมลงชนิดนี้เป็นพาหะนำโรค ยุงก็ใช่ย่อย แค่บินอยู่ข้างหูก็ทำให้เรานอนไม่หลับหงุดหงิดน่ารำคาญมีผลทำให้อ่อนเพลียสุขภาพเสื่อมโทรมซ้ำร้ายเป็นพาหะนำโรคร้ายสู่มนุษย์เช่น มาลาเลีย โรคเท้าช้าง ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบเป็นต้น ว่ากันว่าเฉพาะยุงก้นปล่องเพียงชนิดเดียว ก็ทำให้มนุษย์ล้มป่วยด้วยโรคมาลาเรียราว 120 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้เสียชีวิตราว 1-2 ล้านคน แมลงสาบก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของแมลงที่อยู่ในภาพลบของมนุษย์ แมลงหลายชนิดนอกจากน่ารำคาญแล้วยังกัดต่อยมนุษย์ ทำให้เจ็บปวดจนถึงต้องอำลาจากโลกนี้ไป เช่นต่อหัวเสือ ความจริงจะว่าไปแล้วต่อตัวนี้มันก็ยังไปจับกินแมลงศัตรูพืชเหมือนกัน แมลงบางชนิดอาจไม่ได้กัดต่อยแต่มีสารพิษถ้ากินเข้าไปถึงตาย คือเจ้าด้วงน้ำมัน (Mylabris phalerata) เป็นแมลงศัตรูทำลายพวกพืชตระกูลถั่ว อย่างไรเสียตัวอ่อนของแมลงชนิดนี้ก็ยังเป็นประโยชน์ในฐานะที่เป็นตัวห้ำแมลงบางชนิดยังเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในต่างประเทศ เช่น แทนซาเซีย แมลงวันเซทซี่ (Tsetse Flies) เป็นตัวนำโรคเหงาหลับ (Sleeping Sickness) ในสัตว์และปศุสัตว์ จนต้องใช้วิธีการกำจัดโดยเทคนิคการทำหมัน (SIT) จะว่าไปแล้วในกรณีของแมลงที่นำโรคร้ายต่างๆ มาสู่มนุษย์หรือเข้าทำลายโดยตรงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้มนุษย์เราก็สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่น การทำมุ้งลวด การรักษาความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัย หรือการไม่สัมผัสกับผู้ป่วย หรืออาจโดยการฉีดวัคซีน (บางโรค) อย่างสุดท้ายที่สุดก็คือ กำจัดโดยวิธีใดก็ตามแต่ ถ้าจะถามว่าเจ้าแมลงทั้งหลายทีเป็นศัตรูนั้นมีความสำคัญในด้านสุขภาพมนุษย์ กับทำลายพืชปลูก อันไหนมากกว่ากัน? ในฐานะที่ผู้เขียนศึกษา ทำงานทางด้านแมลงที่เกี่ยวกับการเป็นศัตรูพืช ก็คิดว่าการทำลายพืชน่าจะหนักหนาสาหัสกว่ากระมัง หากแต่วิเคราะห์กันให้ดีแล้วเราจะพบว่าแมลงที่ให้โทษดังกล่าวมานั้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวของแมลงทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้ ซึ่งจัดว่าเป็นสัตว์ที่มีจำนวน ชนิด และปริมาณที่มากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นเพียง ร้อยละ 0.1 เท่านั้นเอง ดังนั้นอีก ร้อยละ 99.9 จึงเป็นแมลงที่มีประโยชน์ และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นแมลงที่ไม่ให้คุณไม่ให้โทษแต่อย่างใด ซึ่งโดยปกติแล้วประเทศไทยเราจะมีความหลากหลายของแมลงที่มีประโยชน์เหล่านี้อยู่มากทีเดียว เนื่องจากเป็นประเทศเขตร้อนชื้น

3-mai   4-ins

ไหม: แมลงสารพัดประโยชน์

 

แมลงผสมเกสร : เพื่อนที่แสนดีของเกษตรกร

แมลงที่เป็นศัตรูธรรมชาติ หรือที่เราคุ้นหูว่าแมลงตัวห้ำ และแมลงตัวเบียนในธรรมชาติจะมีแมลงเหล่านี้ทำหน้าที่คอยควบคุมแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในระดับสมดุลย์ แมลงที่กินแมลงด้วยกันเอง 

จัดว่ามีบทบาทในเรื่องนี้เป็นอย่างมากซึ่งนอกจากมันจะดำเนินการของมันเองในธรรมชาติอยู่แล้วก็ตาม ปัจจุบันมนุษย์ก็ได้ให้ความสำคัญโดยได้มีการนำแมลงเหล่านี้มาเพาะเลี้ยงขยาย เพิ่มปริมาณแล้วจึงนำไปปล่อยในธรรมชาติ ที่เราเรียกกันติดปากว่า การควบคุมแมลงโดยชีววิธี นั่นเอง ตัวอย่างแมลงตัวห้ำ (predatory) เช่นตั๊กแตนตำข้าว แมลงปอ แมลงช้าง ด้วงเต่า มวนเพชฌฆาต มวนพิฆาต แมลงวันดอกไม้ แมลงหางหนีบ เพลี้ยไฟตัวห้ำ ต่อหลายชนิด เป็นต้น แมลงตัวห้ำส่วนใหญ่กินเหยื่อหลายชนิดมีความเฉพาะเจาะจงน้อย และจะมีประสิทธิภาพต่ำเมื่อมีเหยื่อน้อย สำหรับแมลงตัวเบียน (parasitoids) จะเข้าทำลายทำให้แมลงที่เป็นแมลงอาศัย (host) (แมลงศัตรูพืช) ตายในที่สุดซึ่งค่อนข้างจะมีความเฉพาะเจาะจงกับเหยื่อ ซึ่งจัดว่าเป็นข้อดี ส่วนมากแมลงตัวเบียนจะเป็นแมลงที่อยู่ในกลุ่มของพวก ต่อ แตน และแมลงวันบางชนิด ซึ่งมีมากกว่า 3 แสนชนิด มีตัวอย่างมากมายของแมลงตัวเบียน เช่น แตนเบียนไข่ทริโดแกรมม่า (Trichogramma spp) ใช้ควบคุมไข่หนอนกออ้อย แตนเบียนโคทีเซีย (Cotesia flavipes) ควบคุมหนอน กออ้อย แตนเบียน Maeromalon orientae ควบคุมหนอนไยผัก และแตนเบียน Aphidius spp ควบคุมเพลี้ยอ่อนโดยแมลงตัวเบียนส่วนมากจะวางไข่ภายในตัวแมลงอาศัย (host) ตัวเต็มวัยส่วนใหญ่หากินอิสระเสาะแสวงหาศัตรูพืชโดยใช้สารเคมีจากตัวแมลงศัตรูพืชหรือจากสารเคมีที่พืชสร้างขึ้นมาเมื่อถูกแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายในการนำทาง บางชนิดมีการปล่อยสารพิษทำให้แมลงศัตรูพืชเป็นอัมพาต โดยทั่วไประยะตัวอ่อนจะค่อย ๆ ดูดกินอาหารจากลำตัวแมลงศัตรูพืชทำให้ยังมีชีวิตอยู่และอยู่ในสภาพอ่อนแอ และตายในที่สุดอาจจะเข้าดักแด้ภายในตัวอาศัยหรือออกมาข้างนอก

ประโยชน์ของแมลงที่เรา ๆ พอจะทราบกันดีก็คือแมลงที่ช่วยผสมเกสรคนส่วนมากก็จะคิดถึง “ผึ้ง” หากแต่ความจริงแล้วยังมีแมลงอีกเป็นจำนวนมากที่มีบทบาทในด้านนี้กล่าวกันว่ามีแมลงต่าง ๆ ในโลกที่ช่วยผสมเกสรดอกไม้ประมาณถึง 30,000 ชนิด อาทิเช่น ต่อ แตนมด แมลงวันต่าง ๆ เช่น แมลงวันผึ้ง แมลงวันหัวเขียว แมลงวันบ้าน เป็นต้น แมลงพวกด้วงปีกแข็ง เช่น ด้วงงวง แมลงนูน ด้วงถั่ว เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้แก่แมลงพวกที่อยู่ในอันดับเฮมินเทร่า คือพวกมวนและเพลี้ยต่าง ๆ ตลอดจนแมลงพวกผีเสื้อ ทั้งผีเสื้อกลางวัน และผีเสื้อกลางคืน ชนิดต่าง ๆ อย่าลืมว่ามากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของต้นไม้ทั้งหมดต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตอื่นในการผสมเกสร โดยเฉพาะแมลงนั้นนับว่ามีบทบาทมากที่สุดเพราะแมลงเหล่านี้จะอาศัยโปรตีนและน้ำหวานจากเกสรดอกไม้เป็นอาหารที่ให้พลังงาน “ผึ้ง” จัดเป็นแมลงผสมเกสรที่มีบทบาทสำคัญมาก นอกจากผึ้งชนิดต่างๆ ที่ให้น้ำหวาน ที่เรารู้จักกันดีแล้วยังมีชนิดอื่น ๆ เช่น ผึ้งชันโรง ผึ้งกัดใบ ผึ้งบอมบัส ผึ้งป่า และแมลงภู่เป็นต้น


54618แมลงที่ให้ประโยชน์ประเภทแมลงที่ให้ผลผลิต ได้แก่พวกผึ้งที่ให้ผลผลิตนอกจากน้ำผึ้งจากผึ้งงาน ยังให้ผลผลิตที่เป็นไขผึ้ง หรือขี้ผึ้ง จากผึ้งงาน นับว่าเป็นผลพลอยได้จากการเลี้ยงผึ้ง โรยัลแยลลี่ หรืออาหารตัวอ่อนก็เป็นผลผลิตที่ได้จากผึ้งงานอีกเช่นกัน ซึ่งอาหารดังกล่าวอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ ต่าง ๆ มากมาย นอกจากผึ้งแมลงมหัศจรรย์นี้แล้วยังมีแมลงอีกชนิดหนึ่งที่บรรพบุรุษของเรารู้จักกันดีได้แก่ “ครั่ง” ปัจจุบันใช้เป็นส่วนประกอบของกาว หมึกพิมพ์ น้ำมันชักเงา น้ำยาทาเล็บ ยาย้อมผม และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมาย “ชันครั่ง” (resin) เป็นผลผลิตที่ครั่งตัวเมียผลิตขึ้นมาหุ้มตัวมันเองบนกิ่งไม้ อย่างไรก็ตามครั่งก็ยังเป็นแมลงที่เป็นศัตรูของพืชที่มันอาศัยอยู่โดยที่ตัวอ่อนของมันจะยึดอยู่ตามกิ่งอ่อน และดูดน้ำเลี้ยงจนทำให้ต้นพืชทรุดโทรม
ไหม (silkworm) เป็นแมลงที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ผลผลิตคือ เส้นไหม ที่นำมาทอเป็นผืนผ้าโดยเฉพาะไหมไทยที่ลือลั่นกระฉ่อนโลก ผ้าไหมไทยมีคุณลักษณะพิเศษโดยเฉพาะความละเอียด แวววาว เลื่อมมัน ที่เป็นเอกลักษณ์ของไหมไทย นอกจากเส้นไหมล้ำค่าแล้วเรายังได้ผลผลิตจากไหมอีกหลายอย่างโดยเฉพาะดักแด้ไหมที่เป็นอาหารยอดฮิต ไหมยังเป็นแมลงชนิดแรก ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันนีได้นำมาศึกษาสารดึงดูดทางเพศ (sex pheromone) ชื่อ bombykol ที่ต่อมานำไปใช้ศึกษาbee1แมลงชนิดอื่น ๆ และเป็นประโยชน์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช ประโยชน์อื่น ๆ ได้แก่การนำมาเป็นเครื่องสำอาง silk fibroin เป็นโปรตีนจากเส้นไหม ให้ความชุ่มชื้นป้องกันรังสี UV ป้องกันเส้นผมเสีย แชมพู สบู่ผสมน้ำผึ้ง ทำให้ผมสวยเนียนลดจุดด่างดำ ทางการแพทย์ เส้นด้ายในการเย็บแผลผ่าตัด ผิวหนังเทียม เส้นเลือดเทียม คอนแท็กเลนซ์ พัฒนา เป็น biosensors เพื่อตรวจจับ anibodies ซึ่งใช้ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งและโรคเอดส์ได้ ด้านสารป้องกันกำจัดแมลงมีการสกัด Bacillus thuringiensis ที่แยกได้จากหนอนไหม และเชื้อรา (filamentous fungi) กำจัดแมลงพวกหนอนเจาะลำต้น ใช้หนอนไหมเป็นอาหารของไส้เดือนฝอยที่ใช้กำจัดศัตรูพืช ผงไหม ใช้ในอุตสาหกรรมและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใยไหมใช้ทดแทนนุ่น เปลือกรังไหม และเส้นไยไหม ใช้ทำดอกไม้ประดิษฐ์ที่ให้ความพลิ้วงามใกล้เคียงธรรมชาติ
ยังมีเส้นไหมและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไหมป่า (Eri Silkworm) เช่น ไหมป่าอีรี และไหมป่า ทาร์ซาร์ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมเพื่อนำเส้นไยมาทำผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ประโยชน์ของแมลงอีกอย่างหนึ่งคือ นำมาใช้เป็นอาหารมนุษย์และสัตว์ ตั๊กแตนปาทังก้า ที่เมื่อหลายปีก่อนระบาดลงทำลายข้าวโพด มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งชาญฉลาดไม่ต้องทำอะไรหากแต่คอยดักจับตั๊กแตนปาทังก้ามาจับทอดขายร่ำรวยเป็นเศรษฐีย่อย ๆ ไปเลย แต่มาถึงวันนี้ตั๊กแตนปาทังก้าเป็นแมลงหายากไปเสียแล้ว ด้วงกุดจี่ ตั๊กแตนอีกหลายชนิด แมลงดานา จิ้งหรีด จิ้งโกร่ง แมลงเม่า ต่อ แตน แมลงเหนี่ยง ตัวอ่อนแมลงปอ ยังมีแมลงแปลก ๆ อีกมากมายที่เราไม่ค่อยจะคุ้นหูซักเท่าไหร่ หรือคุ้นหูแต่ไม่นึกว่าจะนำมาเป็นอาหารได้ แต่มนุษย์นำมาเป็นอาหารแตกต่างกันไปตามสถานที่ต่าง ๆ อาทิ แมลงหัวควาย หรือมวนวน แมลงข้าวสาร แมลงตับเต่า หรือด้วงดิ่ง แมงสีเสียด หรือแมลงป่องน้ำ ด้วงขี้ควาย แมลงกุดจี่ แมลงกินูน ด้วงกว่าง จักจั่น แมลงทับ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างอาหารชั้นดี และเป็นที่นิยมของมนุษย์ นอกจากจะเป็นอาหารอันโอชะของมนุษย์แล้วแมลงเหล่าหนี้ยังเป็นอาหารของสัตว์ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ดักแด้ไหมเมื่อนำไปเป็นอาหารของปลาสวยงามแล้วจะทำให้ปลาสวยงามเหล่านั้นมีสีสรรสดสวยและมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์

5-doug   6-doung2

ด้วงน้ำมัน: กินแล้วตาย อย่าคิดว่าเป็นด้วงหนวดยาว

 

ด้วงหนวดยาว : กินได้

มีแมลงอีกหลายชนิดช่วยเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรเป็นอย่างมาก โดยแมลงเหล่านี้จะกินซากพืช ซากสัตว์เป็นอาหาร และช่วยย่อยสลายซากพืชซากสัตว์เหล่านั้นและปลดปล่อยแร่ธาตุอาหารออกมาอยู่ในสภาพที่ พืชที่เกษตรกรปลูกนำมาใช้เป็นประโยชน์เพื่อการเจริญเติบโตให้ผลผลิตที่ดี หรืออาจจะเปิดโอกาสให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไปย่อยสลายต้นไม้ที่ผุพังได้เร็วขึ้นกลายเป็นธาตุอาหารเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่เพาะปลูกแมลงบางชนิดช่วยกำจัดวัชพืช


แมลงหลายชนิดมีประโยชน์สำหรับใช้ในการศึกษา นักศึกษาที่เรียนวิชากีฏวิทยาต้องผ่าแมลงเพื่อศึกษาระบบอวัยวะภายในต่างๆ ของแมลงรวมตลอดถึงอวัยวะภายนอกต่าง ๆ ด้วย ได้แก่ แมลงสาบ ตั๊กแตน หนอนไหม เป็นต้น ในการศึกษาทางด้านพันธุ์กรรมแมลงหวี่เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะแมลงชนิดนี้มีขนาดของไมโครโมโซมของต่อมน้ำลายที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และยังสามารถเลี้ยงเพาะขยายได้เป็นจำนวนมากและใช้เวลาสั้น


7-patangนอกจากนั้นยังสามารถใช้แมลงในการศึกษาถึงพฤติกรรมและการอยู่รวมกันในสังคมในแมลงที่อยู่กันเป็นสังคมเช่นพวก มด ผึ้ง และปลวก การใช้แมลงในการศึกษา การตอบสนองของแมลงต่อสภาพแวดล้อมทั้งสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิตต่าง ๆ ซากฟอสซิลของแมลงที่นักวิทยาศาสตร์ ได้ค้นพบภายหลังยังประโยชน์อย่างมหาศาล ในการศึกษาถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้สาเหตุที่เรานำแมลงมาเพื่อใช้ในการศึกษา ก็เป็นเนื่องจากพื้นฐานความรู้ทางชีววิทยา และกระบวนการทางสรีระวิทยาในสิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั้นมักจะคล้ายคลึงกัน อีกทั้งแมลงเป็นสัตว์ที่มีอายุสั้นเพาะเลี้ยงได้ในปริมาณมากในห้องปฏิบัติการ แมลงหลายชนิดในปัจจุบันยังสามารถเพาะเลี้ยงขยายได้โดย ใช้อาหารเทียม ความรู้หรือวิทยาการหลาย ๆ อย่างได้มาจากการศึกษาจากแมลงเป็นพื้นฐาน

ในทางการแพทย์ แมลงก็มีบทบาท ตัวอย่างการใช้สาร cantharidin จากด้วงน้ำมันเป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ สารพิษจากผึ้งรักษาโรคไขข้ออักเสบ หรือการใช้สาร allantion จากตัวหนอนช่วยสมานแผล เป็นต้น ในทางการสืบสวนคดีฆาตกรรมที่มีการใช้แมลงบนซากศพ มาใช้เป็นประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนเช่นกันการใช้แมลงเป็นยารักษาโรค สำหรับพื้นฐานของชาวบ้านตามชนบทนั้น นับว่ามีบทบาทมาช้านานซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบำบัดอาการของโรคในระยะเบื้องต้น ใช้บรรเทาพิษ หรืออาจใช้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน อาทิเช่น การใช้มดแดงรักษาแผลที่ถูกงูพิษกัด หรือของมีคมบาด แมลงสาบรักษาโรคตับ แมลงกุดจี่ รักษาโรค ตั๊กแตนช่วยขับปลิงออกจากร่างกาย แตนรักษาku2อาการถูกต่อย เป็นต้น
ประโยชน์ปลีกย่อยอื่นๆ อาทิ การใช้แมลงเป็นเครื่องประดับ โดยเฉพาะกับแมลงที่มีรูปร่างลักษณะทางภายภาพที่สวยงาม มีสีสันแวววาว เช่นปีกของแมลงทับ ซึ่งสามารถนำมาเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ ได้มากมาย แมลงบางชนิดมีการทำเสียงที่ไพเราะทำให้คลายเครียดได้ดี ในบางท้องถิ่นตั้งแต่โบราณกาลสืบเนื่องกันมา ยังนำเอาแมลงมาเป็นเรื่องของความมีโชคลาภเช่น ผึ้งที่มาทำรังในบ้านถือว่าจะมีโชค เป็นต้น

kuทางด้านนันทนาการ เช่น เอาด้วงกว่างตัวผู้ มาชนกัน ด้วงกว่างเพศผู้บางตัวถ้ามีฝีมือ มีราคาค่างวดเป็นหมื่นเป็นแสน การนำเอาจิ้งหรีดมากัดกันสร้างความสนุกสนานไม่น้อย การนำเอากุดจี่ มาปล้ำผลักและดันกันในรางดินที่ขุดเป็นร่อง เป็นต้น


ในด้านระบบนิเวศวิทยายังพบว่ามีแมลงบางชนิดที่มีประโยชน์แฝงอยู่ที่เราไม่ทราบ หรือไม่ได้สังเกต เช่น ในกรณีของด้วงเจาะเมล็ดมะค่าโมง แมลงดังกล่าวจะทำลายเฉพาะส่วนขั้วเท่านั้นไม่ทำลายเข้าไปยังส่วนของเมล็ด จึงนับเป็นผลดีต่อการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้มะค่าโมงเป็นอย่างมาก โดยเมื่อเมล็ดที่ถูกแมลงดังดังกล่าวทำลายร่วงสู่พื้นดินจะทำให้เมล็ดงอกเป็นต้นใหม่ได้อย่างง่ายดาย เพราะปกติเมล็ดของพืชชนิดนี้ต้องมีการปฏิบัติต่อเมล็ดเพื่อเร่งการงอกเสียก่อน

แมลงบางชนิดถึงแม้จะมีโทษแต่ก็แฝงไปด้วยประโยชน์หลายอย่าง แมลงบางชนิดมีประโยชน์กว่าให้โทษ บางชนิดอาจพอ ๆ กันแต่ส่วนมากแล้วผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่าแม้กระทั่งแมลงศัตรูที่ทำลายพืชบางชนิดโดยเฉพาะแมลงที่กัดกินใบพืชไม่ได้ทำลายผลผลิตโดยตรง บางครั้งก็ยังทำให้พืชมีผลผลิตที่ดีขึ้นด้วยซ้ำไป หรือบางครั้งก็เป็นการชดเชยผลผลิต
การนำเอาเรื่องราวของแมลงที่มีประโยชน์มากล่าวก็เพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว ดังนั้นในการกำจัดแมลงแต่ละชนิดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระทำด้วยความรอบคอบละเอียด มีการศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดีเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในเรื่องการใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช การที่มนุษย์เราตามใจตัวเองในการบริโภค โดยเลือกซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่สวยงามไม่มีรอยตำหนิจากการทำลายของแมลง หรือแม้แต่สีผิวที่สวยงามก็เป็นการบังคับให้เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดแมลงมากขึ้นโดยลำดับ  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กำลังชูนโยบายเกษตรอินทรีย์ ดังนั้นขอให้พวกเราได้ตระหนักถึงความสำคัญของแมลงที่มีประโยชน์เหล่านี้ให้จงมาก

ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ขยัน สุวรรณ  รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยฯ ฝ่ายบริหาร 
สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 0 5387 5124
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. ในวันและเวลาราชการ