พิมพ์

การปลูกและการจัดการ

พื้นที่ปลูก ควรเป็นที่ราบ น้ำไม่ท่วมขัง หรืออยู่ในเส้นทางไหลบ่าของน้ำเวลาฝนตก ไม่ควรอยู่ใกล้ร่มเงาไม้ใหญ่ หรือสิ่งก่อสร้างที่มีเงาทอดผ่าน พื้นที่ควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก แต่ไม่มีลมแรงพัดผ่านประจำ มี
แหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี สะอาด และเพียงพอ


อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิกลางวันควรอยู่ระหว่าง 20 – 30 ๐ซ ส่วนอุณหภูมิกลางคืนควรอยู่ระหว่าง 21 – 24 ๐ซ ส่วนความชื้นสัมพัทธ์ ควรสูงร้อยละ 70 – 80

แสง หน้าวัวเจริญเติบโตได้ดีที่ระดับความเข้มแสง 16,000 – 27,000 ลักซ์ โดยทั่วไปการปลูกหน้าวัวจะพรางแสงร้อยละ 70 – 80 

โรงเรือน ควรสูง 3 – 5 เมตร หลังคาคลุมด้วยตาข่ายพรางแสงสีดำ (Saran) ร้อยละ 70 – 80 รอบโรงเรือนปิดด้วยตาข่ายพรางแสง โดยเว้นด้านบนไว้เพื่อระบายอากาศ หรืออาจขึงแนวเฉียง 45 องศา รูปแบบหลังคาโรงเรือนอาจเป็นแบบหลังคาเรียบในแนวระดับ หลังคาหน้าจั่ว หลังคาโค้ง หรือเพิงหมาแหงน

รูปแบบหลังคาโรงเรือนกึ่งโค้ง รูปแบบหลังคาโรงเรือนโค้ง 2 ชั้น

ลักษณะโครงสร้างของโรงเรือนที่มีความแข็งแรง

วัสดุปลูก ควรมีลักษณะโปร่ง ระบายน้ำได้ดี ไม่ขังแฉะ แต่เก็บความชื้นได้ดี สามารถยึดรากและลำต้นไม่ให้ล้มได้ ไม่มีสารที่เป็นพิษ ไม่เน่ายุบหรือย่อยสลายง่าย ปราศจากเชื้อโรค หาง่ายและราคาถูก ค่า pH 5.5 – 6.5 วัสดุที่เป็นสารอินทรีย์ เช่น เปลือกไม้ กากชานอ้อย ถ่านซังข้าวโพด กากกาแฟ ถ่านกะลามะพร้าว กาบมะพร้าวสับ ถ่านกะลาปาล์มน้ำมัน ส่วนวัสดุเทียม เช่น กรวดภูเขาไฟ ใยหิน โอเอซิสหัก อิฐทุบ เป็นต้น
การปลูกในกระถาง ต้นพันธุ์ที่มีขนาด 20 – 25 ซม. ใช้กระถาง 8 นิ้ว ส่วนต้นขนาด 30 – 40 ซม. ใช้กระถาง 12 นิ้ว ถ้าต้นเล็กกว่านี้ให้ใช้กระถางที่เล็กลง ปลูกโดยใส่วัสดุปลูก 1/5 – 1/3 ของความสูงกระถาง วางต้นให้อยู่ตรงกลางกระถาง และรากกระจายโดยรอบ แล้วใส่วัสดุปลูกให้เสมอกับจุดเจริญ
การปลูกในแปลง แปลงปลูกควรกว้าง 1.20 ม. ยกขอบสูง 30 ซม. เว้นทางเดิน 80 ซม. แปลงควรทำเป็นสันนูนคล้ายหลังเต่า เพื่อระบายน้ำ หรือทำเป็นรูปตัววี แปลงต้องลาดเอียง ซึ่งไม่เกินร้อยละ 7 ปรับผิวแปลงด้วยทราย แล้วปูด้วยพลาสติกกันไส้เดือนฝอยและเชื้อโรคในดิน จากนั้นใส่เครื่องปลูกสูง 20 ซม. ปลูก 4 แถวสลับฟันปลา โดยใช้ระยะปลูก 30 x 30 ซม. ซึ่งปลูกได้ 10,000 – 11,000 ต้น/ไร่ แต่บางพันธุ์อาจปลูกชิดกว่านี้ หลังปลูกใส่สารเคมีป้องกันรากเน่าจากเชื้อ Pythium spp. และ Phytophthora sp. เช่น เมตาแลกซิล เมื่อวัสดุปลูกยุบตัวควรเติมใหม่ ระวังไม่ให้กลบยอด ควรขึงลวด 2 ข้างแปลง ป้องกันต้นล้ม

สภาพต้นหน้าวัวในแปลงปลูกที่มีความสมบูรณ์ และกำลังให้ผลผลิต

การให้น้ำ ควรเป็นน้ำที่สะอาด เพราะหน้าวัวไม่ทนต่อความเค็ม ค่า EC ไม่เกิน 1.0 ปริมาณน้ำที่ให้ขึ้นกับชนิดของวัสดุปลูก ฤดูกาล และอายุต้น การให้น้ำอาจใช้วิธีอาศัยน้ำฝน หรือให้น้ำแบบสปริงเกอร์เหนือต้น แบบสปริงเกอร์ระดับแปลง แบบหยดโดยใช้สาย 4 เส้น และให้น้ำในกระถางโดยใช้สายน้ำหยด
การให้ปุ๋ย ควรให้ปุ๋ยทางรากผ่านระบบน้ำมากกว่าการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ดังนั้นระบบการให้ปุ๋ยที่ดีที่สุด คือ การให้ปุ๋ยร่วมกับระบบน้ำ (Fertigation) โดยใช้เครื่องจ่ายปุ๋ย
การตัดแต่งหน่อ หน่อเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นที่โคนต้นหากมีมากเกินไปจะทำให้ต้นและดอกไม่สมบูรณ์ เนื่องจากการแย่งอาหาร จึงควรให้มียอดเหลือประมาณ 15 ยอด/ตร.ม. การเด็ดหน่อออกควรเด็ดตั้งแต่ยังอ่อนเพื่อให้กระทบกระเทือนต้นน้อยที่สุด
การตัดแต่งใบ เมื่อต้นหน้าวัวเจริญจนใบชนกันแล้ว ควรตัดใบให้ต้นเหลือใบแก่ 2 – 3 ใบ และใบอ่อน 1 ใบ เพื่อให้การถ่ายเทอากาศดี ป้องกันการระบาดของโรค และช่วยไม่ให้ต้นล้มหรืองอ การตัดใบควรเหลือโคนก้านใบติดกับต้นยาว 4 – 5 ซม. เพื่อให้รอยแผลห่างจากต้น ป้องกันเชื้อโรคเข้าทำลาย และไม่ควรตัดใบครั้งละมาก ๆ ในต้นเดียวกัน เนื่องจากต้นจะชะงักการเจริญและระบบรากเสียหาย

ต้นหน้าวัวที่ได้รับการตัดแต่งใบเพื่อให้แปลงโปร่ง

การรื้อแปลง ขึ้นกับขนาดต้น และการระบาดของโรคแมลง พันธุ์หน้าวัวที่ไม่สูงมากและไม่เป็นโรค อาจรื้อแปลงทุก 5 – 6 ปี ส่วนพันธุ์ที่ต้นสูงล้มไปมา และไม่ทนโรคใบไหม้ อาจรื้อแปลงทุก 4 ปี หรือเร็วกว่า ปัจจุบันได้มีการล้มต้นอายุ 6 ปี ที่สูงเก้งก้าง ให้เอนในแนวราบแล้วคลุมลำต้นด้วยวัสดุปลูกเพื่อล่อให้เกิดรากและลำต้นมากขึ้น ซึ่งต้นส่วนยอดจะตั้งขึ้นและเติบโตต่อเนื่อง