ปัญหาการขยายพันธุ์

    หน้าวัวเป็นไม้ดอกเมืองร้อน แต่การพัฒนาพันธุ์ทำในประเทศเมืองหนาว ดังนั้น จึงไม่ใช่ทุกพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย (ใบเฟิร์น, 2543) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์พืชสวนกระบี่จึงได้ทำการทดสอบ ศึกษาและปรับปรุงพันธุ์หน้าวัว โดยการนำพันธุ์ต่างประเทศมาพัฒนาพันธุ์ให้เพิ่มมากขึ้นในปี 2536 เป็นต้นมา

        การขยายพันธุ์โดยวิธีปกติของหน้าวัว สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ 1) การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ใช้สำหรับปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ ซึ่งโอกาสที่หน้าวัวจะติดเมล็ดเองมีน้อยเนื่องจากเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียบานไม่พร้อมกัน ต้องมีการช่วยผสมพันธุ์ให้ จึงจะทำให้เกิดผลขึ้นได้ โดยแต่ละผลจะมีเมล็ด 1-3 เมล็ด ใช้เวลา 6 เดือน ตั้งแต่ผสมพันธุ์จนถึงเมล็ดแก่ และต้องใช้เวลานานถึง 2-3 ปี ต้นจึงจะให้ผลผลิต (เกษตรศาสตร์, 2540)  2) การตัดยอด (shoot cutting) เป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมขยายพันธุ์กันมาก ทำโดยตัดยอดให้มีใบติดมาด้วย 3-4 ใบ และมีราก 2-3 ราก เพื่อให้ยอดที่นำไปปลูกตั้งตัวได้เร็ว การตัดควรเหลือใบไว้ที่ต้นเดิม 1-2 ใบ เพื่อให้เกิดหน่อใหม่ได้เร็วและสมบูรณ์ การขยายพันธุ์นี้มีข้อเสีย คือ ได้จำนวนต้นที่น้อยและเสี่ยงต่อการเข้าทำลายของเชื้อจากบาดแผลที่ทำการตัด (อดุลย์, 2535)  3) การแยกหน่อ สามารถทำได้เพียงในบางพันธุ์ที่มีหน่อมากเท่านั้น เช่น พันธุ์ดาราทอง และจากหน่อที่เกิดจากตาที่ทำการตัดยอดออกไป ซึ่งต้องรอให้เกิดรากใหม่ 1-3 รากก่อนจึงจะแยกไปปลูกใหม่ได้  4) การชำต้น การขยายพันธุ์โดยวิธีนี้ทำได้โดยตัดลำต้นที่ยาวออกเป็นท่อนๆ แต่ละท่อนมีข้อประมาณ 2-3 ข้อ นำไปชำในทรายหรืออิฐทุบก้อนเล็กๆ ที่ชื้นอยู่เสมอ โดยตาจะแตกและเกิดเป็นต้นใหม่ตามข้อหรือปล้องนั้น ซึ่งไม่ใช่ทุกพันธุ์ที่มีลำต้นยาวเสมอไป นอกจากนี้ยังได้ต้นในปริมาณไม่มากพออีกด้วย (อดุลย์, 2535) จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงทำให้การขยายพันธุ์หน้าวัวด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดที่สามารถผลิตหน้าวัวเป็นจำนวนมาก รวมทั้งควบคุมคุณภาพได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ในปัจจุบันการผลิตกล้าหน้าวัวในระดับอุตสาหกรรมจะใช้วิธีการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทั้งสิ้น

    การขยายพันธุ์หน้าวัวโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

        1.การกระตุ้นการเกิดต้น


        การเตรียมชิ้นส่วนตั้งต้น

            การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน้าวัว สามารถนำส่วนต่างๆ ของต้นที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อนมาเป็นชิ้นส่วนตั้งต้นได้หลายส่วน คือ ส่วนยอด หน่ออ่อน และใบอ่อน ซึ่งการจะนำชิ้นส่วนใดมาเป็นชิ้นส่วนตั้งต้นนั้นต้องมีการพิจารณา เช่น การใช้ยอดหรือหน่ออ่อน จะมีจำนวนชิ้นส่วนตั้งต้นน้อยเมื่อเทียบกับการใช้ใบอ่อนมาเพาะเลี้ยงจะได้จำนวนต้นที่มากกว่า และการเพาะเลี้ยงหน่ออ่อนมีข้อเสีย คือ จะเกิดการปนเปื้อนมากกว่าการใช้ชิ้นส่วนอื่นๆ เนื่องจากชิ้นส่วนอยู่ติดกับวัสดุปลูก ในขณะที่ใบอ่อนจะใช้เวลาในการกระตุ้นให้เกิดต้นนานกว่า และมีเปอร์เซ็นต์การเกิดการกลายพันธุ์สูง แต่การใช้ส่วนยอดหรือหน่ออ่อนก็มีวิธีการแก้ไขเพื่อให้เกิดต้นจำนวนมาก และลดการผันแปรในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ (Hamidah et al., 1994) โดยการชักนำให้ชิ้นส่วนเพาะเลี้ยงเกิดต้นที่มีลักษณะพิเศษออกไปจากต้นปกติ คือ ชักนำให้เกิดเป็น retarded shoot ซึ่งต้นที่ได้โดยวิธีการนี้จะมีขนาดเล็กมาก ขนาดของใบลดลงจนแทบมองไม่เห็นเป็นใบ และลำต้นมีขนาดเล็กลง แต่ยังสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อีกทั้งยังมีจำนวนของต้นมากบนชิ้นส่วนที่ทำการกระตุ้น และสามารถทำเป็นต้นที่สมบูรณ์ได้เมื่อย้ายไปเลี้ยงบนอาหารที่เหมาะสม
            การฟอกฆ่าเชื้อในส่วนของยอด และหน่ออ่อน เมื่อตัดแยกชิ้นส่วนจากลำต้นมา ให้ตัดและเลาะกาบใบออกให้หมด แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดที่ไหลผ่านตลอดเวลา จากนั้นใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% เช็ดชิ้นส่วนให้ทั่วโดยเฉพาะบริเวณซอกใบ และหากหน่ออ่อนมีความยาวมาก ให้ตัดออกเป็นส่วนๆ ที่มีขนาดพอเหมาะ นำชิ้นส่วนไปฟอกฆ่าเชื้อด้วยสารละลายคลอร็อกซ์ความเข้มข้น 10% ที่มีส่วนผสมของ tween 20 ความเข้มข้น 0.01% นาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 3 ครั้ง ทำการตัดแต่งชิ้นส่วนที่ได้รับความเสียหายจากการฟอกฆ่าเชื้อทิ้ง นำชิ้นส่วนยอดเลี้ยงบนอาหาร ส่วนหน่ออ่อนให้ตัดแยกยอดและข้อออกจากกัน แล้วเลี้ยงบนอาหารเช่นเดียวกับชิ้นส่วนยอด เป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ ก็จะเกิดต้น retarded shoot (ภาพที่ 3)

    Anthurium3 
     ภาพที่ 3  ลักษณะการเกิดต้น retarded shoot จากการเพาะเลี้ยงยอดและหน่ออ่อนของหน้าวัว
     ที่มา:  ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

     

    ส่วนการใช้ใบอ่อนเป็นชิ้นส่วนตั้งต้น ให้นำใบอ่อนที่ยังไม่คลี่หรือในระยะที่ใบอ่อนยังม้วนอยู่ มาล้าง  ทำความสะอาดด้วยน้ำ เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70% และหากใบอ่อนมีความยาวมากให้ตัดออกเป็นส่วนๆ ที่มีขนาดพอเหมาะ นำชิ้นส่วนไปฟอกฆ่าเชื้อด้วยสารละลายเมอคิวริกคลอไรด์ (HgCl2) ความเข้มข้น 0.1% ที่มีส่วนผสมของ tween 20 ความเข้มข้น 0.01% นาน 5 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 3 ครั้ง  ทำการตัดแต่งเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหายจากการฟอกฆ่าเชื้อทิ้ง จากนั้นตัดชิ้นส่วนใบออกเป็นส่วนๆ ขนาด 0.5x0.5 เซนติเมตร และให้มีส่วนของเส้นใบติดมาด้วย วางเลี้ยงบนอาหารตามแนวราบ เป็นเวลา 4-8 สัปดาห์ จะเกิดแคลลัส จากนั้นย้ายแคลลัสเลี้ยงในอาหารเพิ่มปริมาณต้นจะชักนำการเกิดต้น (ภาพที่ 4)

     Anthurium4
     ภาพที่ 4  ลักษณะการเกิดแคลลัสและต้นจากการเพาะเลี้ยงใบอ่อนของหน้าวัว
     ที่มา:  ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
    © 2017 Your Company. All Rights Reserved. Designed By agethemes.com.com
    Free Joomla! templates by AgeThemes