[notice class="notice"]การขยายพันธุ์หน้าวัวโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ[/notice]

    โดย รังสิมา  อัมพวัน
    ทิพย์สุดา  ปุกมณี  พินธรา  สำราญสกุล  เดือนสว่าง  ดวงบาล
    สายบัว  เต๊จ๋ะ  และกิติศักดิ์  วงค์ชัย

    ฝ่ายปรับปรุงและพัฒนาพันธุกรรมพืชและสัตว์
    สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่

    ความสำคัญ

    Anthurium9หน้าวัวจัดเป็นไม้ตัดดอกเศรษฐกิจที่มีความสำคัญชนิดหนึ่ง เนื่องจากลักษณะของดอกที่มีสีสันงดงาม  สะดุดตา ก้านดอกยาวแข็งแรง  (ภาพ 1a) และมีอายุการใช้งานนานกว่า 10 วัน (ใบเฟิร์น, 2543) จึงนิยมนำมาปักแจกัน และประดับในงานพิธีต่างๆ อีกทั้งหน้าวัวยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยในต่างประเทศมีการผลิตในระดับอุตสาหกรรม (ภาพ 2a และ b) และมีการซื้อขายดอกหน้าวัวผ่านตลาดประมูลในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2544 มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 59 ล้านดอก คิดเป็นมูลค่า 1,400 ล้านบาท (นเรศ, ม.ป.ป.) ต่อมาปี พ.ศ. 2552 ได้รับความนิยมในรูปของไม้ดอกกระถาง (pot plant) (ภาพ 1b) เป็นอันดับ 2 ใน 10 อันดับที่จำหน่ายได้สูงสุด โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 8% รองจากฟาแลนอพซิส (49%) (The Swedish Chambers of Commerce, 2011) ส่วนในประเทศไทย การผลิตหน้าวัวภายในประเทศยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดได้ นอกจากนี้ยังพบว่าดอกหน้าวัวสามารถทำรายได้ต่อหน่วยพื้นที่สูงที่สุดคือ 140,000 บาทต่อไร่ต่อปี ปัจจุบันคาดว่าในประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 60-70 ไร่ หรือประมาณ 6-7 แสนต้น ซึ่งปลูกในอัตรา 8,000-10,000 ต้นต่อไร่ (เกษตรศาสตร์, 2540) และด้วยราคาต่อดอกที่ค่อนข้างสูงโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 20-30 บาท ต่อดอก จึงทำให้ธุรกิจการผลิตหน้าวัวมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

       Anthurium1      
    ภาพที่ 1  ลักษณะดอกของหน้าวัวที่ผลิตเป็น  (a)  ไม้ตัดดอก และ  (b)  ไม้ดอกกระถาง
    ที่มา:    (a)  ดอกหน้าวัว (2556)   (b)  Tropical Plant (2013)

     

     Anthurium2
    ภาพที่ 2  การผลิตหน้าวัวตัดดอกระดับอุตสาหกรรมในต่างประเทศ  (a)  และ  (b)
    ที่มา: โรงเรือนปลูกหน้าวัวเพื่อการค้า ประเทศเนเธอร์แลนด์

     

    ลักษณะการเจริญเติบโตทั่วไป

    หน้าวัว (Anthurium andraeanum) เป็นไม้ดอกไม้ประดับในวงศ์ Araceae สกุล Anthurium ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ หน้าวัวจัดเป็นไม้ตัดดอกประเภทเนื้ออ่อน ลำต้นมีข้อสั้นๆ การเจริญเติบโตค่อนไปทางไม้เลื้อย อาจเป็นต้นเดี่ยวๆ หรือเป็นกอก็ได้ ต้นหนึ่งจะมีใบ 4-8 ใบ ใบหน้าวัวมีลักษณะรูปร่างต่างๆ กัน ส่วนมากจะมีลักษณะค่อนข้างยาวรีคล้ายรูปหัวใจ ปลายแหลมยาว เส้นกลางใบและเส้นขอบใบเห็นได้ชัด ใบอ่อนในระยะแรกจะม้วนกลมเหมือนใบบอนมีสีน้ำตาลอ่อน และเจริญเป็นใบแก่สมบูรณ์ใช้ระยะเวลา 15-20 วัน ดอกหน้าวัวเกิดจากตาเหนือก้านใบซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับใบอ่อน แต่ตาดอกจะมีการพัฒนาขึ้นหลังจากที่ใบอ่อนเจริญไปเป็นใบแก่ที่สมบูรณ์แล้ว (อดุลย์, 2535) ดอกหน้าวัวประกอบด้วย จานรองดอก และปลีหรือช่อดอก จานรองดอก (spathe) คือ ใบประดับที่มีสีสันสวยงาม มีรูปร่างคล้ายใบติดอยู่ที่โคนปลี มีสีสันแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพันธุ์ ขนาดของจานรองดอกจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับขนาดของต้น ชนิดพันธุ์ และการเลี้ยงดู จานรองดอกที่สวยงามนอกจากสีสันที่สวยสะดุดตาแล้วยังขึ้นอยู่กับความย่นหรือร่องของจานรองดอกซึ่งเรียกว่า ร่องน้ำตา ปลีหรือช่อดอก (spadix) คือ ส่วนที่แท้จริงของดอก ประกอบด้วยก้านช่อซึ่งมีดอกย่อยเล็กเรียงอัดแน่นอยู่บนปลี ดอกย่อยเหล่านี้เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เมื่อจานรองดอกเริ่มคลี่ออกจะเห็นช่อดอกมีสีเหลืองอ่อนหรือสีปนแดงแล้วแต่ชนิดของพันธุ์ เมื่อจานรองดอกบานเต็มที่ ดอกที่อยู่โคนปลีจะเริ่มบานก่อนและไล่ไปจนสุดปลี เกสรตัวผู้มักจะบานหลังเกสรตัวเมีย ดังนั้นหน้าวัวส่วนใหญ่ในสภาพธรรมชาติมักไม่ค่อยมีโอกาสผสมตัวเอง ยกเว้นบางพันธุ์เท่านั้น หน้าวัวมีระบบรากพิเศษ ซึ่งจะแตกตามบริเวณข้อลำต้น รากงอกใหม่จะมีสีแดงเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร อุ้มน้ำได้มาก ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนและสีน้ำตาลเมื่อรากแก่ขึ้น ซึ่งรากมักเจริญเรื่อยๆ และแตกแขนงเป็นจำนวนมาก โดยการเจริญของรากและปริมาณของรากขึ้นอยู่กับคุณลักษณะประจำพันธุ์ของหน้าวัวแต่ละพันธุ์ด้วย (อดุลย์, 2535 และ สุรวิช, 2537)

    หน้าวัวที่ปลูกโดยทั่วไปมักจะเกิดจากพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์พื้นเมืองด้วยกัน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ซึ่งแต่ละชนิดก็มีหลายสายพันธุ์ (เกษตรศาสตร์, 2540) ชนิดแรก คือ Anthurium andraeanum มีจานรองดอกขนาดใหญ่มีสีแตกต่างกันไป ปลีวัดจากโคนยาวประมาณ 3-4 นิ้ว มีสีเหลือง เมื่อเกสรตัวเมียเริ่มบานจะเปลี่ยนเป็นสีขาว สามารถแบ่งพันธุ์ได้ตามสีของจานรองดอก คือ  พันธุ์ที่มีจานรองดอกสีแดง ในเมืองไทย ได้แก่ พันธุ์ดวงสมร จักรพรรดิ กรุงธน กษัตริย์ศึก ฯลฯ พันธุ์ที่มีจานรองดอกสีส้ม ได้แก่ พันธุ์ผกาวลี ดาราทอง โพธิ์ทอง สุหรานากง ฯลฯ พันธุ์ที่มีจานรองดอกสีชมพู ได้แก่ พันธุ์ศรียาตรา ศรีสง่า จักรเพชร ฯลฯ และพันธุ์ที่มีจานรองดอกสีขาว ได้แก่ พันธุ์ขาวนายหวาน ขาวคุณหนู ขาวเศวต ฯลฯ (วัชรา, 2542) ชนิดที่สอง คือ Anthurium scherzerianum เป็นหน้าวัวที่นิยมปลูกเป็นไม้กระถาง มีจานรองดอกสีแตกต่างกัน ลำต้นสูงประมาณ 1-2 ฟุต ขนาดใบกว้าง 1 ฟุต ปลีมีลักษณะบิดงอหรือเป็นเกลียว แต่ไม่นิยมปลูกในเมืองไทยเพราะต้องการความเย็นและความชื้นสูง  ในสหรัฐอเมริกานิยมใช้หน้าวัวพันธุ์สีแดงและสีแดงอ่อนมาก คือ ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นสีชมพูและสีขาว ในประเทศฝรั่งเศสและสวิสเซอร์แลนด์นิยมสีแดงและสีส้ม (วัชรา, 2542) ส่วนหน้าวัวที่ปลูกเป็นการค้าที่สำคัญของไทย คือ พันธุ์ดวงสมร ที่มีจานรองดอกสีแดงเข้มรูปหัวใจ ร่องน้ำตาย่นและลึก หูดอกชิดเท่ากันทั้งสองด้าน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและขายได้ราคาดี (สุรวิช, 2537)

    © 2017 Your Company. All Rights Reserved. Designed By agethemes.com.com
    Free Joomla! templates by AgeThemes