ปีนี้เป็นปีทองของเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ผลิตลำไยทั้งนอกฤดูและในฤดู เกษตรกรคนไหนดูแลเอาใจใส่สวนดีอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีการให้ปุ๋ย ตัดแต่งช่อผลกรณีผลต่อช่อดก มีน้ำให้ ผลไม่แตกเสียหาย ผลโตมากกว่าผลเล็กถือว่าได้เงินเป็นกอบเป็นกำ...
เพราะราคาลำไยปีที่ผ่านมานี้ถือได้ว่าแพงใช้ได้เลยทีเดียว แต่เกษตรกรคนไหนที่ไม่ค่อยดูแลเอาใจใส่ ขาดการลงทุน ก็จะได้น้อยหน่อย อย่างไรก็ตามการที่จะประสบผลสำเร็จในการผลิตลำไยให้ได้ปริมาณและคุณภาพดี จำเป็นต้องปฏิบัติ ดูแล เอาใจใส่ทุกกระบวนการ ตั้งแต่หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตจนถึงรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิต ฉบับที่ 14553 ประจำ วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม 2553 ได้คุยกันถึงเรื่อง การตัดแต่งกิ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว และฉบับนี้จะเกี่ยวข้องกับการให้ปุ๋ย โรคและแมลงที่มีความสำคัญของลำไย
การให้ปุ๋ยลำไยช่วงแตกใบอ่อน
หลังจากเกษตรกรชาวสวนลำไยได้ตัดแต่งกิ่งไปแลัว ไม่ว่าจะรูปทรงเปิดกลางทรงพุ่ม ทรงสี่เหลี่ยม หรือทรงฝาชีหงาย เดือนนี้เดือนกันยายนลำไยของท่านก็คงจะเริ่มแตกใบชุดที่ 2 กันแล้ว การแตกใบอ่อนของลำไยแต่ละครั้งเหมือนกับคนเริ่มทำงานหนัก ต้องการอาหารและน้ำมาก ลำไยก็เช่นเดียวกัน ขบวนการหรือกิจกรรมแต่ละครั้งไม่ว่าจะแตกใบอ่อน แทงช่อดอก หรือติดผล ก็ย่อมต้องการอาหารและน้ำมากกว่าปรกติ จากการวิจัยของ ผศ. ยุทธนา เขาสุเมารุ และคณะ พบว่าธาตุอาหารที่ลำไยต้องการมากในช่วงนี้คือ ธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียม ดังนั้น สูตรปุ๋ยที่จะต้องให้ทั้งสองธาตุดังกล่าว เพื่อให้ง่ายต่อการประมาณและง่ายต่อการปฏิบัติ จึงได้กำหนดสูตรปุ๋ยที่เกษตรกรชาวสวนลำไยใช้กันโดยทั่วไปคือสูตร 46-0-0 , 15-15-15 และ 0-0-60 ผสมกันและต้องใช้ให้หมด ในการให้ปุ๋ยแต่ละครั้ง ผสมแล้วเก็บไว้ไม่ได้ ปุ๋ยจะละลาย และเพื่อลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ยสูตรสำเร็จ ส่วนอัตราการให้นั้นขึ้นอยู่กับขนาดของทรงพุ่ม ดังแสดงให้ในตาราง โดยให้ทุกครั้งที่มีการแตกใบอ่อน ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ควรใส่ในช่วงหลังจากเก็บผลผลิต โดยใส่ก่อนหน้านี้แล้ว อัตราประมาณ 10-30 กิโลกรัมต่อต้น
ตารางแสดงปริมาณปุ๋ยที่ควรให้ลำไยในแต่ละครั้งหลังการแตกใบอ่อน (กรัมต่อต้น)
เส้นผ่าศูนย์กลาง ทรงพุ่ม (เมตร) |
สูตรปุ๋ย |
||
46 – 0 – 0 |
15 – 15 – 15 |
0 – 0 - 60 |
|
1 |
16 |
12 |
9 |
2 |
32 |
23 |
15 |
3 |
75 |
53 |
40 |
4 |
150 |
100 |
80 |
5 |
260 |
180 |
140 |
6 |
430 |
290 |
230 |
7 |
650 |
450 |
370 |
หมายเหตุ เกษตรกรจะต้องไปหาซื้อปุ๋ยสูตร 15-15-15 (สูตรเสมอ) ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 และปุ๋ยโพแทสเซียมซัลเฟต 0-0-60 โดยนำมาผสมให้ลำไยแต่ละครั้งหลังการแตกใบอ่อน หรือจะแบ่งใส่ หลาย ๆ ครั้งก็ยิ่งดี คือ ใส่ในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง อย่าลืมใส่ปุ๋ยแล้วให้น้ำตามทันที น้ำจะช่วยให้ปุ๋ยละลาย พืชจึงนำไปใช้ประโยชน์ได้ หลังจากให้ปุ๋ยลำไยแล้ว ต้องหมั่นตรวจ หรือสำรวจโรคและแมลงด้วย
โรคและแมลงช่วงลำไยแตกใบอ่อน
จากการวิจัยของ รศ.ดรจริยา วิสิทธ์พานิช และคณะ พบว่าแมลงศัตรูลำไยระยะใบอ่อนที่ระบาดเป็นประจำในช่วงที่ลำไยแตกใบอ่อนคือ หนอนคืบลำไย หนองคืบเขียวกินใบ แมลงค่อมทอง แมลงนูน และอาการโรคพุ่มไม้กวาด
1. กลุ่มหนอนกัดกินใบ เช่น หนอนคืบ หนอนมังกร ทำลายโดยกัดกินใบอ่อนหมดทั้งต้นได้ภายใน 2-3 วัน
หนอนมังกร | หนอนคืบ |
การป้องกันกำจัดหนอนกัดกินใบอ่อน
1. ในระยะที่ลำไยแตกใบอ่อน และมีการระบาดของหนอนให้ฉีดพ่นด้วย แลมป์ดาไซฮาโลทริน (คาราเต้ 2.5% EC) อัตรา 12 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฟนวารีเลต (ซูมิไซดิน 20% EC) อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส (ลอร์สแบน 40% EC) อัตรา 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือบาซิลัส ทูริงเยนซิส (แบคโทสปีน เอฟซี) 120 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร เลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ควรใช้สารเคมีฆ่าแมลงสลับกลุ่มกันไป
2. กำจัดวัชพืชไม่ให้เป็นที่หลบอาศัยของผีเสื้อ
2. กลุ่มด้วงปีกแข็ง เช่น แมลงค่อมทอง ด้วงกุหลาบ และแมลงนูน ทำลายโดยกัดกินใบลำไย ความเสียหายรุนแรงในต้นที่ปลุกใหม่ทำให้ลำไยชะงักการเจริญเติบโตได้
แมงค่อมทอง |
การป้องกันกำจัด
บริเวณที่พบแมลงค่อมทองและด้วงกินใบระบาดเป็นประจำควรฉีดพ่นด้วยอะซีเฟต 75%SP (ออร์ธีน 75 เอสพี) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพ่นด้วย คาร์บาริล (เซฟวิน 85%WP) อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ20 ลิตร อย่างใดอย่างหนึ่ง
3. อาการหงิกเป็นพุ่มไม้กวาด
ไรลำไย เป็นตัวการทำให้ช่อใบที่แตกออกใหม่ เกิดอาการม้วนหงิกเป็นพุ่มไม้กวาด จะพบระบาดมากในลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว และจะพบได้โดยทั่วไปทุกพื้นที่ และทุกพันธุ์ โดยเฉพาะลำไยที่ขาดการตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มให้โปร่ง แสงแดดส่องได้ทั่วถึง ไรลำไยมีขนาดเล็กมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
อาการม้วนหงิกบนช่อดอก |
อาการม้วนหงิกบนช่อดอก
การป้องกันกำจัด
1. คัดกิ่งพันธุ์โดยใช้กิ่งตอนจากต้นที่ไม่มีอาการหงิกเป็นพุ่มไม้กวาดมาปลูก
2. ต้นที่เริ่มเป็นหรือมีอาการพุ่มไม้กวาดไม่มากนัก ตัดช่อที่แสดงอาการหงิกไปฝัง หรือเผาไฟ เพื่อกำจัดไรที่อาศัยอยู่ในช่อ การตัดช่อหงิกทำได้สะดวกขณะที่ต้นลำไยยังอายุไม่มากนัก (ไม่เกิน 5 ปี) การตัดช่อทิ้งเพียงอย่างเดียวลดอาการม้วนหงิกได้ 70 %
3. ต้นที่มีอายุมากกว่า 10 ปี ขึ้นไปการตัดช่อทิ้งปฏิบัติได้ยาก การใช้สารกำจัดไร เช่นผงกำมะถัน (ไมโครไทออล สเปเซียล) 80% WP อัตรา 200 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร อามีทราซ หรือโบรโมโพรไพเรต สามารถกำจัดไรได้ดี อย่างไรก็ตามยังพบอาการม้วนหงิกประมาณ 30-70 เปอร์เซ็นต์
ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.พาวิน มะโนชัย ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้-สกว. ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้ นายพิชัย สมบูรณ์วงศ์ และ นางจิรนันท์ เสนานาญ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ. เชียงใหม่ 50290 โทร. 053-873939 ในวันและเวลาราชการ