ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของการผลิตลำไยนอกฤดู

พิมพ์

front1-2ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของการผลิตลำไยนอกฤดู

pic-6กษตรกรที่ผลิตลำไยนอกฤดูก็ยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรที่ผลิตลำไยทั้งประเทศและหลายรายผลิตแล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของการผลิตลำไยนอกฤดู

ในปี 2550 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรนุช  เจริญกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย และคณะ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ในการศึกษาสำรวจปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของการผลิตลำไยนอกฤดู ซึ่งการผลิตลำไยนอกฤดูของทั้งสองจังหวัดมีพื้นที่รวมประมาณ 45,000 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนการผลิตเพียงประมาณ 7% ของพื้นที่ปลูกลำไยที่มีรวมกันกว่า 600,000 ไร่ (สำนักงานเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน, 2548)  การลงพื้นที่ศึกษาสำรวจครั้งนี้กำหนดลงในพื้นที่ที่มีการผลิตลำไยนอกฤดูหลักๆของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่อำเภอ สารภี พร้าว แม่วาง สันป่าตอง  หางดง ดอยเต่า ดอยหล่อ และฮอด และจังหวัดลำพูน ได้แก่อำเภอเมือง ลี้ แม่ทา ป่าซาง และบ้านโฮ่ง (ภาพที่ 1) ซึ่งมีจำนวนเกษตรกรตัวอย่างที่ศึกษาวิจัยรวม 300 ราย

 

pic-5

ผลการศึกษาพบว่าการผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกรในกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มสำรวจมีสัดส่วนการผลิตลำไยนอกฤดูที่ประสบความสำเร็จตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด คือต้องผลิตติดต่อกันทุกปี เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี มีผลผลิตลำไยนอกฤดูไม่น้อยกว่า 800 กิโลกรัมต่อไร่ และมีกำไรขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 4 บาทต่อกิโลกรัม  ค่อนข้างต่ำ โดยพบว่าทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เกษตรกรที่ผลิตลำไยนอกฤดูมีสัดส่วนที่ประสบความสำเร็จประมาณ 30% เท่านั้น

เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการผลิตลำไยนอกฤดู มักจะเป็นเกษตรกรที่ปลูกลำไยเป็นอาชีพหลัก และเคยมีประสบการณ์ในการผลิตลำไยนอกฤดูมาแล้ว นอกจากนี้ยังเคยได้เข้ารับการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูหรือศึกษาดูงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ครั้ง และนำผลการศึกษาดูงานมาปรับปฏิบัติจริงในแปลงด้วย ดังนั้นประสบการณ์การผลิตลำไยของเกษตรกร จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการผลิตลำไยนอกฤดู

สิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งที่แสดงถึงประสบการณ์ของเกษตรกรผู้ผลิตลำไยที่ประสบความสำเร็จคือ การวางแผนการผลิตลำไยนอกฤดู โดยจะกำหนดวันราดสารเพื่อชักนำให้ออกดอกตามความต้องการของตลาด ซึ่งแยกเป็นระยะการผลิตปลีกย่อยอีก 5 ระยะ (ตารางที่ 1) อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากระยะการผลิตดังกล่าว การผลิตลำไยนอกฤดูก็สามารถทำได้ตลอดทั้งปี แต่อาจจะพบเห็นได้น้อยกว่า

ช่วงเวลาที่ตลาดต้องการ

เดือนที่ราดสารเพื่อชักนำให้ออกดอก

เดือนที่เก็บเกี่ยวผลผลิต

1.               วันชาติจีน

2.               คริสมาส/ปีใหม่

3.               ตรุษจีน

4.               เชงเม้ง

5.               ก่อนฤดู

ปลายกุมภาพันธ์ – มีนาคม

พฤษภาคม – มิถุนายน

10-30 มิถุนายน

ปลายกรกฎาคม – สิงหาคม

พฤศจิกายน

กันยายน

ธันวาคม

ปลายมกราคม - ต้นกุมภาพันธ์

มีนาคม

มิถุนายน

pic-7นอกจากประสบการณ์ในการผลิตลำไยแล้ว เทคนิคและวิธีการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อชักนำให้ลำไยออกดอก จะเป็นกุญแจสำคัญที่สุด สำหรับการผลิตลำไยนอกฤดู เพราะหากไม่สามารถชักนำให้ลำไยออกดอกได้ถึง 70-80% ของทรงพุ่มแล้วมักจะประสบกับการติดผลน้อยส่งผลให้ขาดทุนในที่สุด  เทคนิคและวิธีการชักนำให้ลำไยออกดอกโดยใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต เริ่มต้นจะอยู่ที่ต้นลำไยจะต้องมีความพร้อมสมบูรณ์และระยะใบต้องเหมาะสมสำหรับการราดสารเพื่อชักนำให้ออกดอก โดยใบลำไยควรมีอายุประมาณ 25 วัน (ใบเพสลาด) ที่สำคัญต้องไม่ใช่ระยะใบอ่อน  เกษตรกรต้องมีการเตรียมต้นที่เหมาะสม เช่นหากทรงพุ่มทึบควรตัดแต่งเบาเพื่อให้โปร่งและแสงส่องผ่านสะดวก หรือทำความสะอาดโคนต้นก่อนราดสาร เป็นต้น และใช้สารในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับทรงพุ่ม ซึ่งเทคนิคและวิธีการชักนำให้ลำไยออกดอกโดยใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต ดังกล่าว จะอยู่ในหลักสูตรฝึกอบรมเรื่องการผลิตลำไยนอกฤดูของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่เผยแพร่กันโดยทั่วไปแล้ว  นอกจากนี้ยังพบว่าอายุต้นลำไยที่จะผลิตนอกฤดูได้ดีมักจะอยู่ในช่วงอายุ 6-15 ปี และควรมีการบำรุงรักษาและพักต้นหลังการเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือนจึงจะสามารถชักนำให้ออกดอกใหม่ได้

ปัจจัยสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของการผลิตลำไยนอกฤดู คือปัจจัยที่เกี่ยวกับสภาพพื้นที่ได้แก่ดินที่เหมาะสมและปริมาณน้ำที่จะใช้ในการผลิตลำไย  จากผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นเกษตรกรที่ปลูกลำไยในที่ดอน ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย เกษตรกรที่ปลูกในที่ลุ่มมักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วม ทำให้ยากต่อการจัดการและมักไม่ประสบความสำเร็จ  สำหรับการพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในการผลิตลำไยนอกฤดู สิ่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญคือการมีแหล่งน้ำหรือปริมาณน้ำที่เพียงพอสำหรับการผลิตลำไย ดังนั้นสวนลำไยที่ผลิตโดยอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถดำเนินการผลิตลำไยนอกฤดูให้ประสบความสำเร็จได้

pic-8จากการศึกษาสรุปได้ว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตลำไยนอกฤดูเพื่อให้ประสบความสำเร็จมี 3 ปัจจัยหลักได้แก่ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร คือประสบการณ์ในการผลิตลำไยของเกษตรกรเอง ในการที่จะวางแผนการผลิต การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่ได้เรียนรู้จากการเข้ารับการฝึกอบรมหรือโดยโดยวิธีการอื่นๆ แล้วนำมาประยุตก์ใช้ในแปลงตัวเองได้ เป็นต้น ปัจจัยที่สองคือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับต้นลำไยโดยตรง ได้แก่ อายุต้นที่เหมาะสม การพักต้นหลังเก็บเกี่ยว ความสมบูรณ์ของต้นในช่วงที่จะชักนำให้ออกดอก และสุดท้ายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อม ได้แก่ สภาพดินและแหล่งน้ำ หรือปริมาณน้ำที่จะต้องใช้ในแปลงผลิต

นอกจากนี้จากผลการศึกษาพบว่า ความสัมพันธ์ของสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ปริมาณฝน อุณหภูมิและความชื้นในอากาศในระหว่างการชักนำให้ออกดอก จะมีผลต่อการออกดอกติดผลของลำไยด้วย เช่น หากมีฝนตกมาก ปริมาณการใช้สารจะเพิ่มขึ้น หรือหากชักนำให้ออกดอกในช่วงอุณหภูมิต่ำ มักจะมีการติดผลน้อย เป็นต้น ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ยังไม่สามารถสรุปเป็นตัวเลขศึกษายืนยันได้  ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรนุช  เจริญกิจ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก ศูนย์อิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ให้ศึกษาวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ของสภาพภูมิอากาศต่อการออกดอกติดผลของลำไยนอกฤดูในประเทศไทย ซึ่งหากการวิจัยเสร็จสมบูรณ์ จะได้นำเสนอต่อไป

เกษตรกรหรือท่านผู้อ่านท่านใดสนในสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรนุช  เจริญกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้   เบอร์โทรศัพท์  0-5349-9218 หรือ053-873387 ต่อ 19  ในวันและเวลาราชการ

รายงานโดย
อาจารย์ พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ 8 งานถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้  โทร. 053-873938-9