[notice class="notice"]การปลูกพริกไทยในภาชนะ[/notice]
โดยอาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์
นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่
พริกไทยจัดได้ว่ามีความสำคัญทางเศรษฐกิจและ จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของคนไทยมาช้านาน ในการประกอบอาหารและใช้เป็นเครื่องเทศ ปรุงรสชาติอาหารช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ส่วนประกอบของเครื่องแกงต่าง ๆ การถนอมอาหาร และใช้ประโยชน์ในด้านเภสัชกรรมยาสมุนไพร ทุกส่วนของพริกไทยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบเช่น เมล็ดพริกไทยอ่อน เมล็ดพริกไทยดำ เมล็ดพริกไทยขาว พริกไทยป่น พริกไทยแช่แข็ง น้ำมันหอมระเหยพริกไทยและพริกไทยดองเป็นต้น ประโยชน์ของพริกไทย เกี่ยวข้องกับอาหาร ใช้ปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติอาหาร เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้ม โจ๊ก ต้มจืด แกงเลียง และใช้ในการถนอมอาหาร ทำให้อาหารที่มีพริกไทยปรุงรสเก็บไว้ได้นานกว่าปรกติ เช่น เนื้อบด หมูบด ตับบด หมูยอ แฮม ไส้กรอก เพราะพริกไทยมีน้ำมันหอมระเหย (Volatile oil) นอกจากนั้นพริกไทยยังใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพร ช่วยย่อยอาหาร เช่น ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลดไขมันในส้นเลือด ปัจจุบันนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ในรูปอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ พริกไทยเป็นพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ เจริญเติบโตได้ดีในประเทศเขตร้อน เช่น ประเทศบราซิล หมู่เกาะอินเดียตะวันตก ประเทศไต้หวัน มาเลเซีย และปลูกมากในจังหวัดจันทบุรีของประเทศไทย เป็นพืชตระกูลเดียวกับ ดีปลี ชะพลู และพลู ชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิระหว่าง 15-35 องศาเซลเซียส ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบที่ลุ่มน้ำขัง ลำต้น มีลักษณะเป็นเถาเลื้อยยืนต้น ต้องอาศัยค้างในการพยุงและยึดเกาะลำต้น โดยใช้รากขนาดเล็กที่เกิดตามข้อปล้อง เรียกว่า มือตุ๊กแก ลำต้นสามารถเจริญเติบโตเป็นกิ่งข้าง หรือกิ่งกระโดง โดยกิ่งกระโดงจะมีความสมบรูณ์และขนาดใหญ่ ตั้งดิ่งจากผิวดิน ส่วนกิ่งข้างหรือกิ่งแขนงจะขนานแตกออกเป็นทรงพุ่ม ใบ พริกไทยเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ เป็นประเภทใบเดี่ยวเกิดสลับตามขอของลำต้น มีลักษณะเป็นรูปไข่โคนใบใหญ่ ฐานใบกลม กว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร ยาว 7-14 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ลักษณะคล้ายใบพลูพื้นผิวใบเรียบ ผิวใบด้านบนเป็นมันสีเขียวเข้มถึงเขียวอ่อนไล่กันไปจากใบอ่อนถึงใบแก่ ด้านล่างใบสีจะจางกว่าด้านบน ขนาดใบและเส้นใบจะแตกต่างกันระหว่างสันของเส้นใบจะนูน ดอก ดอกจะเกิดตรงข้ามกับใบในส่วนของกิ่งแขนง ออกดอกเป็นช่อความยาวประมาณ 7-14 เซนติเมตร ไม่มีก้านช่อ ดอกตัวผู้แยกกับดอกตัวเมียแต่อยู่ในช่อเดียวกัน ผลเล็กมีสีเขียวเข้มและจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแดงเมื่อแก่จัด ระยะเวลาตั้งแต่ออกดอกจนเก็บเป็นพริกไทยเมล็ด 6-7 เดือน ผล ค่อนข้างกลม เรียงตัวกันหนาแน่นบริเวณแกนกลางของช่อผล ผลอ่อนจะมีสีเขียวเข้มและจะค่อยๆเปลี่ยนไปตามอายุผล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 มิลลิเมตร มีกลิ่นฉุน รสชาติเผ็ด เกิดจากสารแอลคาลอยด์ของไพเพอรีน
พันธุ์พริกไทยที่ปลูกในประเทศ
ส่วนมากเรียกตามลักษณะส่วนประกอบของต้นพริกไทย หรือเรียกตามถิ่นที่อยู่ พันธุ์มาจากหลายสายพันธุ์และมาจากการกลายพันธุ์ เช่น พันธุ์ใบหนา พันธุ์บ้านแก้ว พันธุ์โบราณ พันธุ์ควายขวิด พันธุ์ปรางดีใบหยิก พันธุ์ปรางดีธรรมดา พันธุ์บราซิล พันธุ์มาเลเซีย พันธุ์จันทบุรี ในที่นี้ขอแนะนำพันธุ์จันทบุรี เพราะเป็นพริกไทยเมล็ดขาว ผลกลม ออกดอกง่าย เหมาะสำหรับปลูกในภาชนะ
คุณค่าทางอาหารของพริกไทย
คุณค่าทางโภชนาและอาหารในส่วนที่รับประทานได้ 100 กรัม จะมีส่วนประกอบของแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ ดังนี้
พลังงาน 94 กิโลแคลอรี่
คาร์โบไฮเดรต 13.2 กรัม
โปรตีน 4.4 กรัม
ไขมัน 2.6 กรัม
แคลเซียม 15.43 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 23 มิลลิกรัม
เบต้า-แคโรทีน 28 ไมโครกรัม
การขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำ
เทคนิคและวิธีปักชำ จะใช้วัสดุอุปกรณ์ ดังนี้
1. ภาชนะเพาะชำ ใช้ขวดน้ำอัดลมพลาสติกที่ใช้แล้วขนาดลิตร 1.25 ขึ้นไป ตัดขวดน้ำอัดลมพลาสติก ยาวประมาณ 6 นิ้ว โดยใช้ มีดคัตเตอร์ นำด้านล่างขวดที่ได้ ไปทำการเจาะรูโดยใช้ตะปูขนาด 3 นิ้ว เผาไฟแล้วทำการเจาะรู
2. วัสดุเพาะชำ ใช้ขี้เถ้าแกลบ (แกลบดำ) 1 ส่วน ดินชั้นบน (ดินดำ) 1 ส่วน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ตักดินที่ผสมแล้วใส่ในขวดน้ำอัดลมให้เต็ม แล้วเคาะดินให้แน่นใช้บัวรดน้ำให้ดินชุ่ม
3. นำกิ่งพันธุ์พริกไทย โดยใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่ง ตัดเฉียงกึ่งกลางข้อปล่อง ให้มีข้อปล่องตั้งแต่ 4 ปล้องขึ้นไปเหลือใบยอดไว้ประมาณ 1-3 ใบ ปักลงในดินที่เตรียมไว้ในขวดพลาสติกน้ำอัดลม โดยให้ข้อปล่องข้อที่ 2 จมลงในดิน แล้วใช้นิ้วกดรอบ ๆ กิ่งชำให้แน่น
4. นำถุงพลาสติกใสขนาด 6x11 นิ้ว ครอบกิ่งชำลงไป ถึงกึ่งกลางขวดน้ำอัดลมพลาสติก เสร็จแล้วเอาหนังยางรัดให้แน่น เพื่อป้องกันการคายน้ำของต้นพริกไทย นำไปวางเรียงไว้ในที่ร่ม ประมาณวัน 30 วันจะเห็นรากพริกไทยงอกและยอดพริกไทยเริ่มเจริญเติบโต ก็เอาหนังยางออกแต่ยังไม่ต้องนำถุงพลาสติกออกปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน ค่อยดึงถุงพลาสติกออก ก็จะได้ต้นพริกไทยต้นใหม่แล้ว
5. นำต้นพริกไทยที่ได้ ไปปลูกในภาชนะที่เหมาะสม ไว้เป็นไม้ประดับภายในบ้าน ใช้เป็นสุวีเนีย มอบให้ญาติสนิทมิตรสหายในวันที่สำคัญก็ได้ หรือจะนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมก็จะเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว แต่ถ้าจะให้ได้ราคาแพงต้องรอจนกว่าพริกไทยจะออกดอกและติดผล
6. สำหรับการปลูกพริกไทยในภาชนะ ก็จะใช้ดินชั้นบน (ดินดำ) 1 ส่วน ปุ๋ยคอก (มูลวัว) 1 ส่วน และเปลือกข้าว (แกลบดิบ) 2 ส่วน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำไปปลูกพริกไทยต่อไป
การปลูกพริกไทยในกระถาง มีข้อดีคือ
1. ใช้พื้นที่น้อย มีพื้นที่จำกัดหรือไม่มีพื้นที่ดินเลยก็ปลูกได้
2. เจริญเติบโตและให้ผลผลิตเร็ว
3. ยกหรือเคลื่อนย้ายไปวางไว้มุมไหนของบริเวณบ้านก็ได้
4. ใช้เป็นไม้ประดับได้
5. มีพริกไทยไว้บริโภคตลอดปี
6. ให้เป็นของกำนัลและของฝากได้
7. สร้างรายได้ โดยยกขายต้นพริกไทยทั้งกระถาง พร้อมออกดอกติดผลกระถางละ 500 บาท
วัสดุอุปกรณ์
1. กระถาง ที่ใช้ปลูกพริกไทยควรเป็นกระถางที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 12 นิ้วขึ้นไป ผลผลิตของพริกไทยจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดกระถาง กระถางย่อมให้ผลผลิตมากกว่า ถ้าหากเป็นกระถางเคลือบมีลายสวยงามก็ สามารถเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นได้ ถ้าหากเป็นภาชนะที่ใช้แล้วควรจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 12 นิ้วขึ้นไป เช่น ถังบรรจุสีขนาด 20 ลิตร ก็เพียงพอสำหรับปลูกพริกไทยไว้บริโภคตลอดทั้งปีได้ ( แต่ต้องเจาะรูก้นถังเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้วจำนวน 3 รู )
2. วัสดุปลูก พริกไทยชอบดินที่ร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุมาก โดยใช้
• ดินดำหรือหน้าดิน 1 ส่วน
• ปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายแล้วหรือปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน
• แกลบดิบ (เปลือกข้าว) เก่าที่สีเริ่มเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีเทา 2 ส่วน
ผสมคลุกเคล้าให้เขากัน นำไปปลูกพริกไทยในกระถาง
3. พันธุ์พริกไทย สามารถปลูกพริกไทยได้ทุกสายพันธุ์ในกระถาง แต่พันธุ์ที่แนะนำคือพันธุ์จันทบุรีให้ผลผลิตเร็ว ออกดอกติดผลตลอดปีเมล็ดโตและเป็นพริกไทยขาว เหมาะสำหรับปลูกในภาชนะ
4. ใช้เศษกระถางที่แตกรองก้นกระถางหรือภาชนะที่ใช้ปลูก เพื่อให้การระบายน้ำดี ตักดินปลูก ใส่ลงไปในกระถางหรือภาชนะ ประมาณ 1 ใน 3 ส่วน นำต้นพริกไทยที่เตรียมไว้ลงปลูก โดยเอาถุงพลาสติกออกก่อนอย่าให้ดินแตก หรือใช้มีดคัตเตอร์กรีดก้นถุงก่อน แล้วนำลงวางจากนั้นจึงกรีดถุงตามความยาว และค่อย ๆ ดึงถุงออก จากนั้นตักดินปลูกลงกลบ ให้เหลือขอบกระถางประมาณ 3 นิ้ว ใช้ใบไม้แห้งกลบทับอีกชั้นหนึ่ง ใบจามจุรีหรือใบก้ามปูดีที่สุด ปักไม้ผูกเชือกกันลมโยก แล้วจึงรดน้ำตาม นำไปวางไว้บนซีเมนต์บล็อก หรือฟุตบาทซีเมนต์ แสงแดดร่มรำไร
สรรพคุณทางยา (จากหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย) ผลผลิตและเมล็ดแห้งประมาณ 0.6-1.5 กรัม นำไปต้มน้ำกิน หรือทำเป็นยาเม็ด หรือยาผงกิน และใช้สำหรับภายนอก โดยการบดเป็นผง ใช้ผสมหรือทำเป็นครีมทาหรือพอก ผลและเมล็ดนั้นจะมีรสร้อน และฉุน ใช้เป็นยารักษาอาการปวดกระเพาะอาหาร โดยใช้ลูกพุทราจีนเอาเมล็ดออก แล้วใส่พริกไทยล่อน นำไปนึ่งด้วยไอน้ำประมาณ 7 ครั้ง แล้วบดให้เป็นผง ปั้นให้เป็นเม็ดเท่าเม็ดถั่วเขียว ใช้กินกับน้ำอุ่น ครั้งละ 7 เม็ดกับน้ำอุ่น หลังจากที่กินยานี้แล้ว อาการปวดจะลดลงแต่กระเพาะอาหารจะร้อนและรู้สึกหิว รักษาโดยการกินข้าว หรือข้าวต้ม หลังจากที่กินยานี้ รักษาอาการปวดตามบริเวณหัวใจ ปวดท้อง และอาเจียนเป็นน้ำ ให้ใช้พริกใช้พริกไทยดำ ดองกับเหล้า หรือจะต้มเป็นน้ำแกงกิน มีลมในกระเพาะอาหาร มีอาการอาเจียนและเรอ อาจเป็นติดต่อกันหลายวัน ให้ใช้ผงพริกไทยล่อนประมาณ 1 กรัม ขิงสดประมาณ 30 กรัม นำไฟปิ้งไฟอ่อนๆ พอหอม นำไปต้มเอากากออก แล้วอุ่นกินวันละ 3 เวลามีอาการปวด จุกใต้หน้าอก ให้ใช้พริกไทยดำ ยูเฮียงที่แห้งผสมกัน แล้วบดเป็นผง ให้ใช้ขิงสด หรือ โกฏเชียง แล้วต้ม เอาน้ำผสมเหล้า และผงยาที่บดไว้ใช้กิน เป็นแผลเนื่องจากถูกความเย็นจัด ใช้พริกไทย แช่ในเหล้าขาว นานประมาณ 7 วัน แล้วนำกากมาถูทาที่แผล ท้องเสีย และอหิวาตกโรคในฤดูร้อน ใช้พริกไทยบดให้เป็นผง แล้วปั้นเป็นเม็ด เท่าเม็ดถั่วเขียว กินครั้งละ 40 เม็ด หลังอาหาร ตะขาบกัด โดยใช้พริกไทยบด ให้เป็นผงทา ถุงอัณฑะอักเสบ เป็นผื่นคัน มีน้ำเหลือง ให้ใช้พริกไทยบดเป็นผง ผสมน้ำ 2 ลิตร แล้วต้มให้เดือด ใช้ชะล้างบริเวณแผล วันละประมาณ 2 ครั้ง กระเพาะอาหารผิดปกติ มี อาการคลื่นไส้เบื่ออาหาร ให้ใช้พริกไทย และปั้วแห่ แล้วล้างให้สะอาด ใช้อย่างละเท่า ๆ กัน บดเป็นผงผสมน้ำขิง ปั้นให้เป็นเม็ดใช้กินกับน้ำขิง ชัก เนื่องจากร่างกายขาดแคลเซียม ให้ใช้พริกไทยล่อนและเปลือกไข่ไก่ นำไปผิงไฟให้เหลือง แล้วบดเป็นผง ผสมน้ำสุกกิน ปวดฟัน ให้ใช้พริกไทย พริกหาง บดเป็นผง แล้วผสมเป็นยาขี้ผึ้ง ปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วใช้อุดรูฟันที่ปวดอาการปวดจะลดลง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ใช้พริกไทย ใช้น้ำส้มสายชูให้ดูดซับน้ำส้มให้มากที่สุด ตากให้แห้ง แล้วบดเป็นผง ผสมกับน้ำส้มสายชูที่แช่นั้น ปั้นเป็นเม็ด ใช้กินกับน้ำส้มสายชูที่เจือจาง รักษาอาการเมื่อยขบ เป็นเหน็บชาง่ายในฤดูหนาวหรือฤดูฝน โดยใช้ไข่ไก่กะเทาะด้านหนึ่งเทเนื้อในออก แล้วใช้เปลือกไข่ตวงพริกไทย ให้เต็ม ผสมกับกะทิ เนื้อในไข่พริกไทย รวมกันบดให้ละเอียด อุ่นพอไข่สุกแล้วกินให้หมด ขับลมและรักษาหวัด โดยใช้พริกไทยดำ หรือพริกไทยล่อนใส่ต้มจืดกินกันตอนร้อน ๆ
เอกสารอ้างอิง
วัฒนา สวรรยาธิปัติ. (2531). การปลูกพริกไทย. ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ. วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ .
วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมสมุนไพรไทย. เชียงใหม่ ราชวงศ์ .
ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทรบุรี. (2542) . พริกไทย. เอกสารวิชาการ. กรมวิชาการเกษตร.
สมชาย สุคนธสิงห์. (2531). การปลูกพริกไทย. คู่มือส่งเสริมการเกษตรที่ 53. กรมส่งเสริมการเกษตร.
เสริมศักดิ์ รักธรรม และกนกวรรณ คณาภูเศรษฐ์. การปลูกพริกไทย. เอกสารประกอบการฝึกอบรม.
ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์
นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
สำนักวิจัยและส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้. โทร.0-5387-3938-9 และ 089-6311432ในวันและเวลาราชการ